สมช. ‘อัศวินขี่ม้าขาว’ สร้างความมั่นคงอาหาร-พลังงาน

กระแสการกักตุนอาหารมีแนวโน้มว่าจะยังคงยาวต่อเนื่องไปตลอดปี 2565 ไปจนถึงปีหน้า และขณะนี้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น


เส้นทางนักลงทุน

นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้มีการออกมาตรการกักตุนห้ามส่งออกอาหารขยายวงไปมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ถือเป็นปรากฏการณ์กักตุนสินค้าเกษตรที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตราคาอาหารเมื่อปี 2550-2551

กระแสการกักตุนอาหารมีแนวโน้มว่าจะยังคงยาวต่อเนื่องไปตลอดปี 2565 ไปจนถึงปีหน้า และขณะนี้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศที่เปราะบาง

วิกฤตอาหารโลก หรือ Global Food Crisis กำลังเป็นที่ถกเถียงในหลายประเทศหลังจากเผชิญกับยุคข้าวยากหมากแพง ราคาอาหารเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์จนธนาคารโลกต้องออกมาเตือนว่า ทุกประเทศต้องเร่งหาทางรับมือกับวิกฤตเหล่านี้ได้แล้ว

ศรีลังกาเป็นประเทศที่ได้ขอความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านอาหารจากสหประชาชาติ (UN) หลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหาร, เชื้อเพลิง, ยารักษาโรค และสินค้าจำเป็นอื่น ๆ อย่างสาหัสต่อเนื่อง ประชาชนในประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะอดอยาก ผนวกกับภาวะเงินเฟ้อสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ได้สร้างความเดือดร้อนไปทั่วศรีลังกา และไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็ว ๆ นี้

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ซ้ำเติมจากราคาน้ำมันและปุ๋ยที่ขาดแคลน ทำให้ภาคการเกษตรไม่สามารถพยุงความอยู่รอดในประเทศไว้ได้ อีกทั้งมีหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาลที่รอซ้ำเติม

รายงานจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประจำเดือนมีนาคม 2565 ประเมินว่า 44 ประเทศกำลังต้องการความช่วยเหลือด่วนในเรื่องของการเผชิญหน้ากับวิกฤตอาหาร อาทิ ราคาอาหารที่สูงขึ้นและการขาดแคลนวัตถุดิบ

ก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังวุ่นวายหนัก หลังมีมากกว่า 30 ชาติจำกัดการส่งออกอาหารแล้วจากการระบาดของโควิด ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตลาดการเงินที่เปราะบางอย่างยิ่ง รวมไปถึงปัญหาจากระบบห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน ซึ่งถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก นอกจากนี้ครัวเรือนทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับราคาอาหาร และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้สร้างความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะที่ยุ่งเหยิงอย่างที่สุด

มากกว่า 30 ประเทศที่เริ่มจำกัดการส่งออกอาหาร ได้สั่งระงับการส่งออกน้ำมันถั่วเหลือง, อาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เช่น แอลจีเรีย ระงับการส่งออกพาสต้า, ข้าวสาลี, น้ำมันพืช, น้ำตาล จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565, อียิปต์ ระงับการส่งออกน้ำมันพืช, ข้าวโพด ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2565

อินเดีย ระงับการส่งออกข้าวสาลี ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 นอกจากนี้อินเดียยังซ้ำเติมวิกฤตอาหารโลกด้วยการเตรียมจำกัดการส่งออกน้ำตาลไว้ที่ระดับ 10 ล้านตัน ในฤดูกาลนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี เพื่อสกัดกั้นการพุ่งขึ้นของราคาภายในประเทศ

มีตัวเลขคาดการณ์ว่า หลังจากที่จำกัดการส่งออกน้ำตาลที่ระดับ 10 ล้านตัน ในฤดูกาลนี้แล้ว จะทำให้อินเดียมีสต๊อกน้ำตาลราว 6 ล้านตัน ณ วันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาล 2565/2566 โดยจะเพียงพอสำหรับความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลในไตรมาส 4 ปี 2565 ทั้งนี้อินเดียเป็นประเทศที่ผลิตน้ำตาลมากที่สุดในโลก และส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล

มาเลเซีย ประกาศระงับการส่งออกไก่เดือนละ 3.6 ล้านตัว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ

อิหร่าน ระงับการส่งออกมันฝรั่ง, มะเขือม่วง, มะเขือเทศ, หัวหอม ถึง 31 ธันวาคม 2565, คาซักสถาน ระงับการส่งออกข้าวสาลี, แป้งสาลี ถึง 15 มิถุนายน 2565, โคโซโว ระงับการส่งออกข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้ง, น้ำมันพืช, เกลือ, น้ำตาล ถึง 31 ธันวาคม 2565

ด้านตุรกี ระงับการส่งออกเนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนย, น้ำมันปรุงอาหาร ถึง 31 ธันวาคม 2565 เช่นเดียวกับยูเครน ระงับการส่งออกข้าวสาลี, ข้าวโอ๊ต, ข้าวฟ่าง, น้ำตาล

รัสเซีย ระงับการส่งออกน้ำตาล, เมล็ดทานตะวัน ถึง 31 สิงหาคม 2565 และข้าวสาลี, แป้งสาลี, ข้าวไรย์ (ข้าวไรย์ พืชชนิดหนึ่งในตระกูลข้าวสาลี ลักษณะคล้ายคลึงกันกับข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์), ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโพด ถึง 30 มิถุนายน 2565

เซอร์เบีย ระงับการส่งออกข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้ง, น้ำมัน และ ตูนิเซีย ระงับการส่งออกผลไม้, ผัก ถึง 31 ธันวาคม 2565, คูเวต ระงับการส่งออกผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่, ธัญพืช, น้ำมันพืช

อินโดนีเซีย ระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม, น้ำมันเมล็ดปาล์ม ถึง 31 ธันวาคม 2565 แต่ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามนี้หลังจากประชาชนรวมตัวประท้วง และสถานการณ์น้ำมันปาล์มในประเทศดีขึ้น

การทยอยประกาศจำกัดหรือระงับการส่งออกสินค้าด้านอาหาร ส่งผลให้วิกฤตอาหารโลกที่บอบช้ำจากพิษของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้งสองประเทศต่างได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของยุโรป ยิ่งแย่ลงไปอีก และสร้างผลกระทบสืบเนื่องไปยังทั่วทั้งโลกหนักยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทยแม้ปัจจุบันยังไม่ได้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและพลังงาน แต่ต้องยอมรับว่าไทยเผชิญปัญหา “ข้าวยาก หมากแพง” ราคา “น้ำมัน” เกือบจะ 2 ลิตร 100 บาทแล้ว ส่วนราคาอาหารในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ภาพรวมปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 6.18% แต่เมื่อแยกเป็นรายประเภทซึ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน พบว่าปรับเพิ่มขึ้นมาก เช่น ราคาเนื้อหมูปรับขึ้น 12%, ไข่ไก่ 18%

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” หรือ สมช. รับผิดชอบโดย “พลเอกสุพจน์ มาลานิยม”​ เลขาธิการสมช. เข้ามาดูแลในเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องผ่าน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เพื่อเป็นการเตรียมแผนเผชิญเหตุ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญของไทย หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดได้คลี่คลายลง และสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตอาหารและพลังงานไปได้

ในการนี้จึงอาจเรียกได้ว่า “สมช.” ก็คือ “อัศวินขี่ม้าขาว” ที่จะช่วยประคับประคองไม่ให้ไทยต้องเผชิญวิกฤตอาหารและพลังงาน ไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำมันเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “ศรีลังกา” จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับประเทศไทย

Back to top button