ดับฝันแก๊งเผา ‘การบินไทย’

ได้ฟัง ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ลั่นวาจาไว้ว่า จะนำหุ้น THAI กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้ ภายในช่วงต้นปี 68


ได้ฟัง ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู “การบินไทย” ลั่นวาจาไว้ว่า จะนำหุ้น THAI กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้ ภายในช่วงต้นปี 68

นับเป็นการส่งสัญญาณบวกว่าการบินไทยวันนี้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น จากที่เคยอ่อนเปลี้ยเพลียแรงจากโรคเรื้อรังที่รุมเร้ามาตลอดหลายสิบปี ก็เริ่มมีกำลังวังชากลับคืนมาบ้างแล้ว เนื้อร้ายก็ถูกตัดทิ้งไปทีละส่วนสองส่วน

ความเคลื่อนไหวล่าสุด มีการยื่นขอแก้ไขแผนฯ ในลักษณะที่ดูแล้วน่าจะเป็นคุณกับเจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นเดิมมากขึ้น ตลอดจนผู้ถือหุ้นใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมในอนาคต ผ่านกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนด้วย

ที่มาที่ไปหลัก ๆ ของการแก้ไขแผนฯ เนื่องจากการบินไทยมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ลดลง อันเป็นผลมาจากความสามารถในการสร้างรายได้ รวมถึงการบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากขึ้น

รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากธุรกิจการบิน ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายของนโยบายเปิดบ้านเมือง ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เป็นแผนดำเนินการของเกือบทั่วโลก เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

อัตราบรรทุกผู้โดยสาร หรือ Cabin Factor ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดือน ม.ค. และ ก.พ. 65 อยู่ที่ไม่เกิน 15%

เดือน มี.ค.ขยับมายืนเหนือ 20% เล็กน้อย…เม.ย. เร่งขึ้นเป็น 45% ต่อเนื่องมา พ.ค. แตะ 55% กระทั่งล่าสุด ตัวเลขเดือน มิ.ย.พุ่งพรวดมาอยู่ที่ 80%

คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน คือกว่า 13,000 คน โดยวันพีค ๆ บางวันขยับขึ้นไปถึง 17,000 คนก็มี

ส่วนกรณีนับรวม “ไทยสไมล์” เข้าไปด้วย เฉลี่ยต่อวันจะอยู่ที่ราว 25,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 1 ใน 3 ของผู้โดยสารที่ใช้สนามบินหลักอย่างสุวรรณภูมิทั้งหมดในตอนนี้

สอดคล้องกับรายได้รวมที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด ตั้งแต่ต้นปีคือ ม.ค.และ ก.พ. จำนวน 2.4-2.5 พันล้านบาท ก็ขยับขึ้นมาอีกประมาณเดือนละพันล้านบาท จนล่าสุดงวดเดือน มิ.ย.มีรายได้อยู่ที่ 6.8 พันล้านบาท

พัฒนาการโดดเด่นอยู่ในส่วนของรายได้ตั๋วผู้โดยสาร ซึ่งนับตั้งแต่งวด เม.ย. เป็นต้นมา มีสัดส่วนสูงกว่ารายได้จากการให้บริการคาร์โก้แล้ว เช่นในงวดมิ.ย. แบ่งเป็น “ขนคน” 4.7 พันล้าน และ “ขนของ” 2.1 พันล้าน

ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เจ้าจำปียังเป็นสายการบินที่ได้รับความนิยมอยู่มาก เพราะผู้โดยสารมาใช้บริการกันอุ่นหนาฝาคั่งทันทีที่กลับมาโอเปอร์เรตมากขึ้นอีกครั้ง

นี่ขนาดยังไม่มีคนจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง มาร่วมวงด้วยนะเนี่ย! ซึ่ง 3 กลุ่มนี้ในช่วง “พรี-โควิด” คิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึงประมาณ 35% ของผู้โดยสารที่มาใช้บริการทั้งหมด

ควบคู่ไปกับการเร่งสร้างรายได้เข้าบริษัทเพิ่มเติม ปัจจุบันการบินไทยมีจำนวนพนักงานลดลงกว่า 40% จากราว 25,000 คน เหลืออยู่ที่ประมาณ 14,000 คน

ส่วนใหญ่รับข้อเสนอตามแผนปรับลดต้นทุน และสมัครใจขอลาออกจากองค์กรอันเป็นที่รักไปด้วยดี 

แต่ก็มีบางส่วนที่ทนถูกแผดเผาโดยรังสีจากกระบวนการสร้างความโปร่งใสในองค์กรไม่ได้ เหล่านั้นก็จนใจต้องลาออกหรือมีเหตุให้ต้องออกไป สุดแล้วแต่กรรมใครกรรมมัน

อีกส่วนที่ดูแล้วถือเป็นพัฒนาการสำคัญยิ่งสำหรับบริษัท แม้ว่าพนักงานอาจได้รับผลตอบแทนพิเศษลดลง นั่นคือการปรับจารีตสำหรับการจ่ายค่าล่วงเวลา

ในยุคก่อนเข้าแผนฟื้นฟูฯ ที่เคยเป็นขุมทรัพย์ของคนหลายกลุ่ม ค่าโอทีที่จ่าย ๆ กันคือ 2.5 เท่าของค่าจ้างปกติ ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุไฉนคนทีจีถึงชอบทำงานในช่วงวันหยุด

ขนาดใครใช้วันลา-วันหยุดไม่ครบ ยังสามารถแปลงเป็นเงินสดได้ ตามโปรแกรมที่เรียกว่า Vacation Compensation

แบบนี้ถ้าไม่พูดว่าการบินไทยเป็นสวรรค์ ก็ไม่รู้จะสรรหาคำอะไรมาเรียกอีกแล้ว! 

เชื่อไหมวันหยุดวันหนึ่งน่ะ บริษัทต้องจ่ายค่าจ้างพิเศษร่วม 40 ล้านบาทเลยนะ…ย้ำว่าต่อวัน!!

“สร้างรายได้เพิ่ม” และ “ลดค่าใช้จ่าย” เป็นยุทธวิธีสำคัญที่ไม่เพียงแต่ 5 อรหันต์ผู้บริหารแผนฯ ต้องยึดมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายในการฟื้นคืนชีพการบินไทย แต่พนักงานก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญมาก ๆ ด้วย

วันนี้เป็นโอกาสทองฝังเพชรของเจ้าจำปีแล้ว อีกอย่างถือโอกาสความไม่เป็นรัฐวิสาหกิจปลดเปลื้องพันธนาการให้หมดสิ้น

ฝูงเครื่องบินประเภทล้าสมัยกินน้ำมัน ยิ่งบินยิ่งขาดทุน หากเป็นสมัยก่อนใครเซ็นขายออกไปก็มีหวังติดคุกติดตะราง เหตุเพราะราคาตลาดนั้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีคงเหลือ

มาวันนี้หมดสิ้นความเป็นหน่วยงานรัฐ ใครมีความสามารถขายได้ก็ไม่ต้องกลัว ม.157 กันอีกต่อไป

แบบนี้ทีจีก็ไม่ต้องตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ให้กดดันผลประกอบการกันอีกแล้ว

เชื่อว่าจุดแข็งด้านบริการซึ่งลูกเรือทีจี มักจะยิ้มแย้ม เอาใจใส่และอ่อนหวาน ตลอดจนไทม์สล็อต และความปลอดภัย จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้กลับมารุ่งเรืองได้ไม่ยาก

ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง ก็คงเป็นการดับฝันคนบางกลุ่มที่ตั้งใจจะเผาการบินไทยให้วอดวาย และฉวยโอกาสผุดสายการบินแห่งชาติใหม่ขึ้นมาอย่างแน่นอน หลังก่อนหน้านี้เคยมีปฏิบัติการฉกงาน “กราวด์เซอร์วิส” กับ “โรงซ่อม” มาแล้ว!!

Back to top button