กองทุนเก็บบลูชิพลูบคมตลาดทุน

คือ...ผมอยากทราบว่า ดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้จะปิดตลาดติดลบหรือไม่


ธนะชัย ณ นคร

 

คือ…ผมอยากทราบว่า ดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้จะปิดตลาดติดลบหรือไม่

วานนี้ผมก็เลยคุยกับนักวิเคราะห์หลายคน รวมถึงอ่านบทวิเคราะห์ของหลายโบรกฯประกอบกับนั่งอ่านข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เข้ามาประกอบ

ผลที่ออกมาคือ “ติดลบแน่นอน”

ปี 2558 นี้ ดัชนีหุ้นไทยวิ่งขึ้นไปอย่างมากไม่เกิน 1,480 จุด (ยกเว้น บล.กสิกรไทย ให้ถึง 1,500-1,550 จุด)

อยู่ประมาณแค่นี้แหละ

แต่ค่าเฉลี่ยที่ออกมาส่วนใหญ่จะมองไว้ 1,450 จุด ตัวเลขกลมๆ บวก-ลบ นิดหน่อย

สิ้นปี 2557 ดัชนีหุ้นไทยปิด 1,497 จุด และพอเปิดตลาดมาวันแรกของปี 2558 เปิดตลาด 1,500 จุดพอดี

วานนี้ดัชนีวนเวียนแอยู่แถวๆ 1,400 จุด

ดัชนีหายไปกว่า 100 จุด หรือ ลบ 6-7%

นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่าดัชนีมันจะลงไปมากกว่าปัจจุบันมากนัก

และในทางกลับกัน ก็มั่นใจว่า ดัชนีจะวิ่งขึ้นไปได้ จากแรงซื้อของกองทุนที่เข้าไปเก็บหุ้นขนาดใหญ่หลายๆ ตัว ที่ราคาปรับลงมาต่ำกว่าพื้นฐานค่อนข้างมาก

เช่น ในกลุ่มธนาคารทั้ง KBANK BBL และ SCB

ส่วนกรุงไทย หรือ KTB เป็นหุ้นที่นักวิเคราะห์หลายคนมองด้านบวกพอสมควร

ปัจจัยก็คือ ปัญหาของ SSI TH และ SSI UK ได้ตั้งสำรองไปหมดแล้ว และปี 2559 คาดว่าโครงการขนาดใหญ่จะเดินหน้าได้เต็มที่ และ KTB จะได้รับประโยชน์มากสุด

ส่วนแบงก์ขนาดใหญ่ที่เหลือก็ได้รับผลบวกเช่นกัน

กลุ่มพลังงาน ตั้งเป้งๆ นำโดย PTT ก็อยู่ในเป้าหมายของกองทุน LTF และ RMF

รวมถึงบรรดาลูกของ PTT ทั้ง PTTGC-IRPC รวมถึง TOP เพราะมองว่าปัจจัยเรื่องสต๊อกน้ำมันที่เข้ามากดดันได้จบลงไปแล้ว หรือหากยังมีปัญหาอยู่ ก็จะไม่รุนแรงเท่าไหร่

มีการประเมินเม็ดเงิน LTF และ RMF ในช่วงที่เหลือไปจนถึงสิ้นปี 2558 ครับ

คาดว่าจะมีเงินเข้ามากว่า 3-4 หมื่นล้านบาท

นอกจากหุ้นใน 2 กลุ่มขนาดใหญ่ทั้งแบงก์พาณิชย์ และพลังงาน

หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวหลายๆ ตัวก็อยู่ในเป้าหมายของกองทุนเช่นกัน เช่น CENTEL และ MINT โดยหุ้นทั้ง 2 ตัวนี้ ยังอยู่ในช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวด้วย

วัสดุก่อสร้าง กลุ่มที่เกี่ยวกับ 4G ทั้งหุ้นที่เข้าร่วมประมูล 4G ที่หุ้นที่จะต้องเข้าไปวางระบบ 4G เช่น PT CSS SMART และ SAMTEL

และหุ้นที่อิงกับนโยบายภาครัฐ

หุ้นเหล่านี้ก็อยู่ในเป้าหมายของนักลงทุนทั้งกองทุน และนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ ที่จะเข้ามาทยอยเก็บด้วยเช่นกัน

มีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม

หุ้นบลูชิพ หรือหุ้นขนาดใหญ่เหล่านี้ หลายๆ ตัวหากเทียบกับราคาเมื่อต้นปี หลายตัวยังติดลบ ทั้งที่ราคาพื้นฐาน เมื่อมาเทียบกับราคาปัจจุบัน มีอัพไซด์อยู่ค่อนข้างมาก

ส่วนใครที่กังวลเรื่องฟันด์โฟลว์จะไหลออก

ก็ไม่ต้องไม่หวั่นอะไรมาก

ก่อนหน้านี้ ผมเคยบอกไว้แล้วว่า ในช่วงที่ทางการสหรัฐงัดมาตรการคิวอีขึ้นมา มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยประมาณ 350,000 ล้านบาท

แต่ในปี 2556 เงินต่างชาติที่ไหลมาจากมาตรการคิวอีนั้น ได้ไหลออกไปแล้ว 1.94 แสนล้านบาท

ปี 2557 ออกไปอีก 3.52 หมื่นล้านบาท

และปี 2558 มาจนถึงวานนี้ (11 พ.ย.) ไหลอีกไปแล้ว 1 แสนล้านบาท

เบ็ดเสร็จแล้วออกไปประมาณ 3.30 แสนล้านบาท

สรุปแล้ว หากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ขึ้นดอกเบี้ย ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะแทบจะไม่มีเงินเหลือให้ไหลออกไปอีก

ในมุมมองกลับกัน นักวิเคราะห์บางคนมองเป็นปัจจัยบวกด้วยซ้ำ

นั่นคือ ตลาดหุ้นจะได้ไม่ต้องกังวลกับเฟดอีก

และน่าจะช่วยสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนให้เข้าลงทุนได้มากขึ้นในช่วงปลายปีนี้

แต่หากเฟดยึกยัก นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บอกว่า ฉันยังไม่ปรับขึ้นหรอกนะ ด้วยเหตุผลโน่น นี่ นั่น ฯลฯ มันก็จะกลายเป็นปัจจัยกดดันหุ้นไทย ตลาดหุ้นเกิดใหม่  และตลาดหุ้นอื่นต่อไปอีก

ส่วนปัจจัยลบเรื่องซูเปอร์บอร์ด ที่จะมีการโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจหลายตัวเข้าไปอยู่ในนั้น

ปัญหาความล่าช้าของเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถูกมองว่า นักลงทุนรับรู้ หรือทำใจไปแล้ว

หรือหากเร็วขึ้นจริงก็ถือโบนัสไป

 

 

Back to top button