ระหว่าง 500 ล้าน กับ 2.5 หมื่นล้าน

ล้มการเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำภาคตะวันออกระหว่างกรมธนารักษ์กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างอีกจนได้ นับเป็นการล้มครั้งที่ 2 แล้ว


ล้มการเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำภาคตะวันออกระหว่างกรมธนารักษ์กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างอีกจนได้ นับเป็นการล้มครั้งที่ 2 แล้ว ใกล้จะเป็นมหากาพย์การประมูลเข้าไปทุกที

ครั้งแรก 3 พ.ค. 65 เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการ “ถอนฟืนออกจากไฟ” เพราะเป็นช่วงก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ส่วนครั้งที่ 2 ก็ครั้งนี้ กำหนดนัดหมายกันไว้ดิบดีวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา…

ศาลปกครองกลางอีกนั่นแหละ สั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการเซ็นสัญญาไว้ก่อน ตามคำร้องของบริษัท อีสท์ วอเตอร์ เจ้าของสัมปทานเดิม ซึ่งเคยถูกยกคำร้องมาแล้วจากศาลปกครองกลางถึง 2 ครั้ง 2 ครา

ไม่เข้าใจระบบวิธีพิจารณาความของศาลปกครองเหมือนกัน ในกรณีที่ศาลสั่งยกคำร้องรวมทั้งยกคำอุทธรณ์ไปด้วยแล้ว ศาลฯ สามารถรับคำร้องกลับมาพิจารณาใหม่อีกได้หรือ?

ในประการต่อมา หากเป็นข้อยกเว้น ที่นำเอา “ข้อเท็จจริงใหม่” มายื่นคำร้องใหม่ ก็น่าพิจารณาด้วยเหมือนกันว่าเป็น “ข้อเท็จจริงใหม่” ที่น่าเชื่อถือได้ขนาดไหน

แต่เท่าที่ทราบมา ทางฝั่งผู้ร้องคืออีสท์ วอเตอร์ฯ ใช้หลักฐานใหม่มายื่น คือ สำเนาร่างสัญญาที่เตรียมลงนามกันในวันที่ 3 .. 65 ระหว่างกรมธนารักษ์กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างนั่นแหละ

อีสท์ วอเตอร์ฯ เพิ่งจะยื่นคำร้องใหม่ขอคุ้มครองฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 65 ศาลปกครองกลางใช้เวลาแค่วันเดียว คือวันที่ 2 ส.ค. ช่วงเย็น ๆ ก็มีคำสั่งคุ้มครองออกมา โดยไม่มีการไต่สวนผู้ถูกร้องทั้งสองคือบริษัท วงษ์สยามและคณะกรรมคัดเลือกเอกชนบริหารน้ำภาคตะวันออกใด ๆ ทั้งสิ้น

ตัดหน้าการเซ็นสัญญาลงนามในวันที่ 3 ส.ค. อย่างเฉียดฉิว

นอกจากนั้นก็ยังมีข้อน่าพิจารณาว่า เอกสารร่างสัญญาซึ่งเป็นของทางราชการ ทางฝั่งผู้ร้องเอาไปให้ศาลพิจารณาได้อย่างไร

จะเป็นเอกสารจริงหรือเอกสารเท็จ ก็ไม่มีใครรู้ เพราะไม่มีการไต่สวนฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการพิสูจน์ทราบใด ๆ เลย

ผมว่าเรื่องการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ที่บริษัท อีสท์ วอเตอร์ ผูกขาดสัมปทานมา 30 ปี ชักจะเป็นมหากาพย์แห่งความลึกลับซ่อนเงื่อนเข้าไปทุกที ซึ่งมีทั้งเรื่องแทรกที่ไม่ตรงไปตรงมาทั้งทางการเมืองและความชอบธรรมทางกฎหมาย

โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งรัฐ รวมทั้งผลประโยชน์ของผู้ใช้น้ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรมกันเลย

บริษัท จัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรืออีสท์ วอเตอร์ ได้รับอนุมัติจากครม.ให้จัดตั้งบริษัทโดยมีการประปาส่วนภูมิภาค หรือกปภ.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40% เข้าบริหารงานตั้งแต่ 2536 เป็นต้นมา และเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในนาม EASTW ในปี 2540

โครงสร้างผู้ถือหุ้นปัจจุบัน กปภ.ยังคงถือหุ้น 40% บ.มะนิลาวอเตอร์ ฟิลิปปินส์ ถือหุ้น 18.72% การนิคมฯ 4.57% และไทย NVDR 4.53%

ถ้าประเมินจากภาพภายนอก ก็ดูเหมือนจะเป็นบริษัทที่ดีนะครับ ผลดำเนินงานในระยะปี 2555-2562 มีกำไรระดับกว่า 1,000 ล้านบาทั้งสิ้น คงมีปี 63 ที่กำไรหย่อนลงมาที่ 776 ล้านบาท แต่ปี 64 ก็กลับมามีกำไรเป็น 1,073 ล้านบาท เงินปันผลมีทุกปีก็อยู่ในระดับ 6-7%

แต่ไส้ในก็น่ากลัวนะครับ เพราะมีหนี้สินปัจจุบันในระดับ 15,000 ล้านบาท และเบื้องหลังผลการดำเนินงานที่ดูเหมือนดีที่ผ่านมา ก็เกิดจากการกดราคาต้นทุนในระดับต่ำ โดยขูดรีดเอากับรัฐทั้งต้นทุนค่าน้ำดิบต่ำมาก ๆ ค่าตอบแทนสัมปทานรวมทั้งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ต่ำเรี่ยดินหมดเลย

ต้นทุนค่าน้ำดิบที่ EASTW จ่ายให้กรมชลประทานแค่ 10 ส.ต./คิวบิกเมตรเอง ส่วนท่อนอกสัญญาก็ดูดน้ำหลวงไปฟรี ๆ เลย แล้วเอาไปขายให้บริษัทอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเป็น 10 กว่าบาท บางรายที่ลูกค้ามั่งคั่งหน่อยเช่นไทยออยล์ก็ต้องซื้อน้ำจาก EASTW ถึงคิวบิกเมตรละ 22 บาท

ฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์ฯ จ่ายค่าสัมปทานให้กรมธนารักษ์แค่ 526 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่สัญญาที่จะลงนามกัน .วงษ์สยามฯ จะจ่ายค่าสัมปทานตลอดสัญญา 25,000 ล้านบาท

เฉพาะค่าแรกเข้าที่บ.วงษ์สยามฯ ต้องจ่ายในวันทำสัญญาก็ 580 ล้านบาท มากกว่าผลตอบแทนที่อีสท์ วอเตอร์ฯ ให้กับรัฐเพียง 526 ล้านบาทแล้ว

ยิ่งไปพิจารณาถึงค่าสัมปทานที่.วงษ์สยามฯ จะให้รัฐ 2.5 หมื่นล้านบาท มันก็ยิ่งต่างกันราว “ฟ้ากับเหว” สุดพรรณากันเชียวแหละ

ข้อสงสัยเรื่องความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ บางประเด็นก็น่าฟัง แต่ควรพิจารณาประเด็นผลตอบแทนรัฐเป็นหลักมิใช่หรือ สัปดาห์หน้ามาว่ากัน

Back to top button