พาราสาวะถี

สันดานนักเลือกตั้งและผู้อยู่ในอำนาจบ้านเราที่แก้ไม่หาย คือ การใช้อำนาจในท้องถิ่นเพื่อสร้างฐานคะแนนนิยม หรือพูดง่ายๆ ใช้คนเหล่านั้นเป็นหัวคะแนน


สันดานนักเลือกตั้งและผู้อยู่ในอำนาจบ้านเราที่แก้ไม่หาย คือ การใช้กลไกอำนาจในท้องถิ่นเพื่อสร้างฐานคะแนนนิยม หรือพูดง่าย ๆ ใช้คนเหล่านั้นเป็นหัวคะแนนเพื่อหวังผลต่อการเลือกตั้งในทุกระดับ โดยเฉพาะกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใช้กันมากที่สุด จนทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็นผู้มีบารมี ใคร ๆ ก็ต้องเกรงใจก็คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แม้จะอยู่ใต้อาณัติของกระทรวงมหาดไทยก็จริง ในความเป็นจริงคนในกระทรวงแม้แต่รัฐมนตรีว่าการก็สั่งไม่ได้ มิหนำซ้ำ ยังต้องเอาอกเอาใจกันเป็นพิเศษอีกด้วย

มีความสำคัญขนาดไหน ก็ขนาดที่คนในรัฐบาลอย่าง อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังบอกว่า ไม่คิดว่ารัฐสภาจะเลือกเอาวันที่ 10 สิงหาคมซึ่งเป็นวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นวันถกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 หรือ 100 เกรงว่าสภาจะล่ม เพราะบรรดานักเลือกตั้งต้องอยู่ในพื้นที่เพื่อเอาอกเอาใจ ดูแลกำนัน ผู้ใหญ่บ้านกันทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านั้น นิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาลยังส่งเสียงเตือนมาดัง ๆ วันที่ 10 สิงหาคม ส.ส.เขตส่วนใหญ่ต้องร่วมงานวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ น่าจะไม่สามารถมาประชุมสภาได้ เช่นนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่าโอกาสที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะแท้งไม่ทันกรอบเวลาการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ที่จะครบในวันที่ 15 สิงหาคมนี้อย่างแน่นอน ถามว่าระหว่างการถกกฎหมายสำคัญของบ้านเมือง กับแค่วันเชิงสัญลักษณ์ของคนกลุ่มหนึ่ง นักเลือกตั้งผู้ทรงเกียรติควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดก่อน

นี่ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นแล้วว่า การอ้างปฏิรูปเพื่อยึดอำนาจแล้วเข้าสู่กระบวนการบริหารประเทศจนเกิดเป็นขบวนการสืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบันนั้น มุ่งหวังที่จะเข้ามาแก้ไขการเมืองชั่ว การเมืองเลวตามที่ตัวเองเคยลั่นวาจากล่าวหานักการเมืองไว้ก่อน และระหว่างยึดอำนาจเป็นไปตามนั้นจริงหรือไม่ นอกจากไม่แก้ไขแล้ว ยังแก้ตัวและทำตัวเป็นพวกเดียวกันกับนักการเมืองที่ตัวเองเคยกล่าวหาไปแบบกลมกลืนเสียฉิบ ครั้นจะโทษพรรคฝ่ายค้านที่ร่วมในการทำให้ร่างกฎหมายตกไปด้วยนั้นก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง

ถามว่าน่าเกลียดและขยะแขยงหรือไม่ บอกได้เลยว่า น่ารังเกียจกันทั้งคู่ เพราะฝ่ายค้านไม่ควรที่จะเลือกใช้วิธีการทำให้องค์ประชุมไม่ครบ สภาล่มแล้วทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายมีปัญหา เพื่อที่จะทำให้ต้องกลับไปใช้ร่างเดิมที่กำหนดสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 อันจะทำให้เป็นโอกาสที่พรรคของตัวเองเดินไปสู่เป้าประสงค์แลนด์สไลด์ได้สำเร็จ แต่ควรที่จะเข้าร่วมประชุมจนสุดกระบวนการแล้วยกมือโหวตไม่เห็นด้วยกับสูตรหาร 500

ถ้าฝ่ายกุมอำนาจไม่อยากใช้สูตรนี้จริง ก็ปล่อยให้กระบวนการพิจารณาในสภาเป็นฝ่ายลงโทษ หากเดินในช่องทางนี้ยังดูจะมีความสง่างามมากกว่า และเป็นการทำให้ประชาชนเห็นว่าใครฝ่ายไหนกันแน่ที่จงใจกลับไปกลับมา จนทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อระบบรัฐสภาและจุดยืนต่อการพิจารณากฎหมายที่สำคัญ ส่วนฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่ต้องพูดถึง จะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ไม่ได้ ปัญหาจะไม่เกิดถ้าหนักแน่นบนหลักการและแนวทางที่จะเดินกันมาตั้งแต่ต้น

เหมือนอย่างที่ นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ บอกไปเมื่อวันก่อน เรื่ององค์ประชุมไม่ครบจนทำให้เห็นว่าการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะไม่ทันกรอบเวลานั้น ไม่ต้องไปโทษฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นปกติที่การประชุมเกือบทุกครั้งไม่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุม ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาลอย่าไปโทษพรรคอื่น ปัญหาที่เกิดคือพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ยอมแสดงตน ทำให้ต้องเสียเวลารอองค์ประชุม และเสียเวลารอการลงมติ

ไม่ได้ผิดจากเคยบอกไปตั้งแต่วันที่ได้ยิน วิษณุ เครืองาม เนติบริกรศรีธนญชัยให้สัมภาษณ์ หากพิจารณากฎหมายไม่ทันกรอบเวลาถือเป็นความบกพร่องของรัฐสภา ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ถือเป็นสัญญาณอันเด่นชัดว่าฝ่ายกุมอำนาจเลือกที่จะจบปัญหานี้อย่างไร เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกประชาชนมองและประณามว่า นักเลือกตั้งและ ส.ว.ลากตั้ง ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร้ศักดิ์ศรี ไม่สมกับความเป็นผู้ทรงเกียรติ มันจึงเกิดเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้เห็นว่ามีการเตรียมแผนกันไว้อย่างดี

สิ่งที่ทำกันอยู่นั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร มองว่าเป็นการสมคบคิด ส่วนใครสุมหัวกับใคร มีการไล่ไทม์ไลน์ของข่าวสารให้ติดตามอย่างน่าสนใจ 21 ก.ค. 2565  สมศักดิ์ เทพสุทิน บอกสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ยังไปไม่ไกล กลับมาใช้หาร 100 ได้ 27 ก.ค. ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้ 2 มาตรา สภาล่ม เพราะไม่ครบองค์ประชุม 1 ส.ค. สุทิน คลังแสง แถลงผลประชุมวิป 3 ฝ่าย ไม่เลื่อนวาระร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นมาแทนร่าง พ.ร.บ.กำหนดเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม

เพราะหากไม่เสร็จในวันที่ 2-3 ส.ค. ประธานรัฐสภาได้กำหนดให้ประชุมร่วมอีกในวันที่ 9 และ 10 ส.ค. สามารถเสร็จทันแน่นอนไม่มีอะไรต้องกังวล 3 ส.ค. พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาแจ้งว่า ส.ว.ไม่สามารถประชุมร่วมกับ ส.ส.ในวันที่ 9 ส.ค.ได้ เนื่องจากมีวาระสำคัญต้องพิจารณา 4 ส.ค. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รับสภาล่มมีนัยทางการเมือง การไม่เป็นองค์ประชุมและไม่ลงมติ ถือเป็นการทำหน้าที่ที่ดี

4 ส.ค. วิษณุยืนยันรัฐบาลอยากให้ร่างกฎหมายดังว่าผ่าน แต่หากล่มรัฐสภาต้องรับผิดชอบถูกประชาชนตำหนิ แต่เรียกร้องให้รับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟคงไม่ได้ วันเดียวกัน ชวน หลีกภัย นัดวิป 3 ฝ่ายหารือกำหนดวันประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปเป็นวันที่ 10 ส.ค.เพียงวันเดียวเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กำหนดเวลาในกระบวนการยุติธรรมที่ยังค้าง 5 มาตรา และร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ยังค้าง 9 มาตรา โดยฝ่าย ส.ว.ยืนยันไม่สามารถเพิ่มวันประชุมร่วมในวันที่ 9 ส.ค.ได้

วันรุ่งขึ้น อนุชา นาคาศัย ปัดพัลวัน พรรคสืบทอดอำนาจและเพื่อไทยไม่ได้จับมือกันร่วมยื้อกฎหมายลูกให้ไม่ทัน 180 วัน อ้างไม่มีใครชี้นำได้ ขณะที่ สุทิน คลังแสง  แบไต๋หากกฎหมายลูกเสร็จไม่ทันกรอบ 180 วัน พร้อมยอมรับร่างของ ครม. เหตุไม่ร่วมประชุมไม่ใช่ขาดความรับผิดชอบ แต่เพื่อยับยั้งกฎหมาย ใครสมคบคิดใครหรือไม่ไม่รู้ แต่ที่แน่ ๆ สมชัยจะไปยื่นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนความผิดฐานจงใจฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ช่วงนี้ถือเป็นช่วงงานชุกขององค์กรอิสระจริง ๆ

Back to top button