พาราสาวะถีอรชุน

แม้จะเป็นรัฐบาลที่ถืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมายาวนาน แต่น่ายินดีที่อย่างน้อยก็ได้เห็นท่าทีอันเคารพต่อคะแนนเสียงของคนส่วนใหญ่ เมื่อประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ตอบรับคำเชิญของออง ซาน ซูจี ในการเข้าร่วมหารือเพื่อสร้างความปรองดองในชาติ พร้อมๆ กับคำกล่าวที่ว่า เพื่อให้เป็นเกียรติตามความประสงค์ของพลเมือง รัฐบาลจะทำให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจลุล่วงด้วยดีตามที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาเอาไว้


แม้จะเป็นรัฐบาลที่ถืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมายาวนาน แต่น่ายินดีที่อย่างน้อยก็ได้เห็นท่าทีอันเคารพต่อคะแนนเสียงของคนส่วนใหญ่ เมื่อประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ตอบรับคำเชิญของออง ซาน ซูจี ในการเข้าร่วมหารือเพื่อสร้างความปรองดองในชาติ พร้อมๆ กับคำกล่าวที่ว่า เพื่อให้เป็นเกียรติตามความประสงค์ของพลเมือง รัฐบาลจะทำให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจลุล่วงด้วยดีตามที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาเอาไว้

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังไม่มั่นใจว่าชัยชนะที่ถล่มทลายของพรรคเอ็นแอลดี จะทำให้สามารถเข้าไปเป็นแกนนำในการบริหารประเทศได้โดยราบรื่นหรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญของพม่านั้นกำหนดให้มี 2 สภาคือสภาสูงหรือสภาชาติพันธุ์ และสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร โดยทั้งสองสภาจะมีผู้แทนรวมกัน 664 ที่นั่ง แยกเป็นสภาสูง 224 ที่นั่งและสภาล่าง 440 ที่นั่ง

โดยที่ทั้งสองสภานั้น มีการกันที่นั่งสำหรับผู้แทนจากกองทัพโดยตำแหน่งถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันกองทัพยังคงสามารถคุมกระทรวงด้านความมั่นคงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลาโหม มหาดไทยและกระทรวงความมั่นคงชายแดน ที่หวั่นเกรงกันมากที่สุดก็คือ ไม่รู้ว่าวันไหนกองทัพพม่าจะลุกขึ้นมายึดอำนาจอีก

สรุปแล้วก็คือ หลังการเลือกตั้งของพม่าแม้จะมีเสียงชื่นชมยินดีจากนานาประเทศ ไม่เว้นไทยที่ยังถูกปกครองด้วยอำนาจพิเศษจากการรัฐประหาร ความเชื่อมั่นที่ว่าพม่าจะก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบเต็มที่และก้าวไปข้างหน้านั้น ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม แต่อย่างน้อยก็ทำให้ได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ หลังจากที่ต้องปิดประเทศและตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการยาวนาน

มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่า ดูจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแล้ว ทำให้ย้อนกลับมาดูถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในบ้านเรา มีหลายๆ อย่างที่คล้ายกันโดยบังเอิญหรือเจตนาไม่ทราบ เช่น พม่าห้ามคนที่มีคู่สมรสหรือบุตรเป็นคนต่างชาติดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ของไทยก็กำลังจะห้ามคนบางกลุ่มบางพวกลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.พร้อมข้อเสนอตัดสิทธิตลอดชีวิต

ทีเด็ดกว่าใครเพื่อนคือข้อเสนอของ วันชัย สอนศิริ ที่เสนอให้ตัดสิทธิทั้งครอบครัวไม่รู้ว่าไปล้อกับรัฐธรรมนูญพม่ากรณีคนที่จะมาเป็นประธานาธิบดีหรือเปล่า แต่เอาเข้าจริงหากกรธ.บ้าจี้ทำตามข้อเสนอเช่นนี้ ก็จะเกิดมุมย้อนแย้งที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ และพรรคพวกกำลังจะพยายามแก้ไขนั่นก็คือ การตัดสิทธิผู้บริหารพรรคการเมือง

เนื่องจากมีข้อเสนอว่าจะให้เอาผิดเฉพาะบุคคล ส่วนกรรมการบริหารพรรคต้องพิจารณาเป็นรายตัวว่าใครเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันความเห็นของมีชัยก็แย้งในตัวเอง เพราะขณะที่กำลังจะพยายามปลดล็อกปัญหาจากการยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค แต่เจ้าตัวก็ยังพูดถึงคนที่อยู่ต่างประเทศบริหารพรรคจะต้องถูกยุบไปด้วย

เป็นตรรกะที่คนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักกฎหมายชั้นครูไม่ควรจะพูด หากไม่ใช้อคติส่วนตัวล้วนๆ เนื่องจากความเป็นจริงหากยึดตามข้อบังคับและตัวบทกฎหมายทุกพรรคมีกรรมการบริหารตามระเบียบข้อบังคับ แล้วจะพิสูจน์ทราบอย่างไรว่าคนที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้บริหารพรรค หรือว่าจะใช้บรรทัดฐานที่เลื่อนลอยเหมือนการตีความขององค์กรอิสระบางแห่งที่ได้ทำให้หลักการนิติรัฐ นิติธรรมบิดเบี้ยวมาแล้ว

ถ้าเช่นนั้น คงต้องเสนอต่อไปว่า พรรคการเมืองบางพรรคที่ไปอิงแอบกับอำมาตย์หรือมีอีแอบคอยสนับสนุนก็ควรที่จะถูกยุบไปด้วย สรุปแล้วกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของมีชัยและคณะ ไม่แตกต่างจากการร่างของชุดที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เพียงแต่พยายามหมกเม็ดหรือใช้เทคนิคทางกฎหมายมาบิดเบือนเจตนาที่แท้จริงเท่านั้น

แต่ก็พอจะเข้าใจว่านี่คืองานถนัดของบรรดาเหล่าเนติบริกร อย่างที่ วิษณุ เครืองาม ที่เจียดเวลาออกมาช่วยอุ้มมีชัยและกรธ.เป็นระยะๆ ล่าสุดก็ยืนยันเรื่องความจำเป็นในการใช้คำสั่งทางปกครองเพื่อเล่นงาน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีจำนำข้าว โดยทางอดีตนายกฯหญิงและทีมกฎหมายของพรรคนายใหญ่ต้องออกมาท้วงติงกันเป็นชุด

จุดใหญ่ใจความคือ กระบวนการตรวจสอบความเสียหายยังไม่ชัดเจนและมีข้อโต้แย้งมาก การถือเอาการขาดทุนว่าเป็นความเสียหายทั้งที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นการช่วยเหลือชาวนา การระบุจำนวนค่าเสียหายที่ไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนั้นควรให้ทั้งสองฝ่ายไปพิสูจน์กันที่ศาล การใช้คำสั่งทางปกครองสรุปความเสียหายและเรียกให้ชำระเองจึงเป็นเหมือนมัดมือชกอีกฝ่าย อันถือได้ว่าเป็นผลร้ายกับผู้ถูกกล่าวหามากกว่า ไม่ใช่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเหมือนที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

หากจะใช้บรรทัดฐานเช่นนี้ สิ่งที่คนอยากเห็นและน่าจะเป็นการพิสูจน์ความตั้งใจจริงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะเข้ามากวาดล้างเรื่องการทุจริตนั่นก็คือ การเอาผิดกับผู้ที่ปล่อยให้กระบวนการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่มีความล่าช้า จนบริษัทผู้รับเหมาต้องยื่นร้องขอความเป็นธรรม เพราะตามสัญญางานจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้แล้ว

แต่จนถึงวันนี้งานมีความคืบหน้าแค่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผลสอบข้อเท็จจริงซึ่งมีเลขาธิการวุฒิสภาเป็นประธานกรรมการกลับยังไม่แล้วเสร็จ จนมีรายงานข่าวว่า เป็นเพราะความล่าช้าของคณะกรรมการตรวจสอบเองที่ ไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงให้รอบคอบและทุกด้าน และถูกตั้งข้อสังเกตว่ากรณีที่เกิดขึ้นเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างชัดเจน โดยความร่วมมือของผู้มีอำนาจในฝ่ายการเมืองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เรื่องนี้หากผลสอบออกมาโดยกล่าวโทษสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อาจเป็นมูลเหตุที่ทำให้เอกชนนำไปเป็นประเด็นฟ้องร้องค่าเสียหายต่อส่วนราชการได้ในอนาคต แต่สิ่งสำคัญที่ยังไม่มีคำชี้แจงจากผู้มีอำนาจก็คือบุคคลอักษรย่อ “ช.” กับ “พ.” ที่ไปเกี่ยวข้องกับการขายดินผิดวัตถุประสงค์ในสัญญานั้นมีอยู่จริงหรือไม่ เห็นหลายๆ เรื่องที่ปูดมาเวลานี้ต้องยอมรับว่ารัฐบาลคนโคตรดีจะปล่อยนิ่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นคงไม่ได้แล้ว สุดท้ายจะตายน้ำตื้นพังเพราะพวกเดียวกันที่สวาปามกันมูมมามนี่แหละ

Back to top button