มหากาพย์ควบ ‘TRUE-DTAC’ ส่อจบ Q1/66

งานนี้ก็ต้องวัดใจกสทช. และรอดูกันไปว่ามหากาพย์ควบ TRUE-DTAC จะจบแบบไหน จะ “จบแบบเจ็บ” หรือไม่ แต่เสียงส่วนใหญ่เชื่อว่าจะ “จบแบบมีเงื่อนไข” มากกว่า


เส้นทางนักลงทุน

ถือเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์ สำหรับการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งลากมายาวนานยังหาข้อสรุปไม่ได้

ดีลนี้มีอุปสรรคตั้งแต่เริ่มต้น เพราะทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกันต่างไม่เห็นด้วย มองว่าจะเป็นการกินรวบตลาดมือถือเมืองไทย ทำให้ผู้เล่นในตลาดเหลือแค่ 2 ราย ราคาจะแพงขึ้น การแข่งขันลดลง

TRUE และ DTAC ได้ยื่นรายงานการรวมธุรกิจต่อเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 โดยหวังว่าจะได้รับมติให้รวมธุรกิจดังกล่าวภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ยื่นรายงานดังกล่าว แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้คำตอบ

กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา TRUE-DTAC ได้ขอขยายเวลาการจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วมครั้งที่ 1 วันที่ 3 ตุลาคม 2565 เพื่อพิจารณาการควบรวมบริษัทออกไป เพราะอาจไม่สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วมเพื่อพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทได้ภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัทมีมติอนุมัติ พร้อมเน้นย้ำว่า การควบบริษัทระหว่าง TRUE และ DTAC ยังคงดําเนินการอย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้

เคสนี้น่าจะเป็นเคส “หนักใจ” ของกสทช. เพราะนอกจากจะเป็นกรรมการชุดใหม่แล้ว ยังไม่มั่นใจอีกด้วยว่าหน่วยงานของตนมีอำนาจในการตัดสินใจหรือไม่ ถึงขนาดต้องทำหนังสือด่วนที่สุดเพื่อขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช.และสำนักงาน กสทช.ต่อการรวมบริษัทครั้งนี้

“ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” รักษาการเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้เกิดความรอบคอบและถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเป็นกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และหากปรากฏว่าการรวมธุรกิจจะทำให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมแล้ว กสทช.จะมีอำนาจในการนำประกาศกสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม มาใช้เพื่อประกอบการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกรณีนี้ได้เพียงใด

นอกจากนั้น ขณะนี้มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลเป็นคดีปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ระหว่าง นายณภัทร วินิจฉัยกุล ผู้ฟ้องคดี กับ กสทช. ผู้ถูกฟ้องคดี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องสอดที่ 1 และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องสอดที่ 6 โดยผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เพิกถอนประกาศกสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และขอให้ทุเลาการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ปัจจุบันศาลปกครองมีคำสั่งไม่ทุเลาการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ ดังนั้นกสทช.จึงมีหน้าที่และอำนาจต้องดำเนินการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ต่อไป

ขณะที่ กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสารได้ยื่นหนังสือต่อประธานบอร์ดกสทช. ระบุว่า กสทช.ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง รวมทั้งยื่นหนังสือต่อสำนักงานการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. พิจารณาว่าการรวมกันระหว่าง TRUE และ DTAC จะทำให้เกิดการผูกขาดตลาด ลดทางเลือกประชาชน

หากย้อนกลับไปในอดีต กระแสข่าวลือการควบ TRUE-DTAC เกิดขึ้นมาหลายปี แต่เริ่มหนาหูในปี 2563 จนกระทั่งวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 จึงได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย TRUE และกลุ่มเทเลนอร์ โดย DTAC จะพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี เลือกใช้วิธีอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio)

สำหรับการเปลี่ยนหุ้นเดิมเป็นหุ้นในบริษัทใหม่ “บริษัท ซิทริน เวนเจอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด” คือ 1 หุ้นเดิม TRUE ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน DTAC ต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ ภายใต้สมมติฐานว่า บริษัทใหม่จะมีหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดจำนวน 138,208,403,204 หุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

ณ ขณะนั้น ราคาหุ้น TRUE มีการไต่ระดับจาก 3 บาท ในช่วงปี 2564 ทะลุไปสูงสุด 5.70 บาท ในช่วงต้นปี 2565 ส่วน DTAC จากราว ๆ 30 บาท ไป 51 บาท ในช่วงเวลาเดียวกัน ถึงวันนี้ราคาหุ้น TRUE ตกลงมายืนอยู่ 4 บาทกลาง ๆ ส่วน DTAC อยู่ที่ 40 บาทต้น ๆ

นักวิเคราะห์ค่ายต่าง ๆ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาปรับคาดการณ์ระบุว่า ด้วยท่าทีระมัดระวังของกสทช. ทำให้มีการเปลี่ยนมุมมองจาก 90% การรวมกิจการจะเสร็จภายในไตรมาส 4 ปีนี้ เป็น 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า เร็วที่สุดคือภายในไตรมาส 1 เนื่องจากประเมินว่าการอนุมัติให้ควบรวมจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม จากนั้นทั้ง TRUE-DTAC-กสทช. จะมีการเจรจาเกี่ยวกับมาตรการที่เหมาะสมสำหรับบริษัทใหม่ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 และขั้นตอนสุดท้ายของการควบรวมจะเกิดขึ้นต้นปีหน้า

พร้อมทั้งมองว่า 5 ข้อเท็จจิงของกสทช.และ 6 ประเด็นคำถามที่ยื่นต่อกฤษฎีกา เป็นความพยายามของกสทช.ในการลดความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องจากทั้งสองบริษัทและฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม ตลอดจนนักวิชาการและผู้บริโภค การพิจารณาจึงจะล่าช้าออกไปจากกำหนดไว้วันที่ 10 กันยายน 2565

ดังนั้น เมื่อการควบรวมต้องเลื่อนออกไป และความสำเร็จของดีลนี้ลดลงเหลือ 80% จึงลดราคาเป้าหมาย DTAC เหลือ 48.60 บาท ณ สิ้นปี 2566 จาก 51.10 บาท แต่หากกสทช.ไม่อนุมัติการควบรวม ประเมินมูลค่ายุติธรรมจะอยู่ที่ 34.10 บาท

ส่วน บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า ดีลนี้จะเกิดขึ้นแบบมีเงื่อนไข ดังนั้นสำหรับ TRUE แม้ผลการดำเนินงานปกติได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แนวโน้มรายได้บริการจะกลับมาเติบโต แต่ในเชิงกลยุทธ์แนะนำเพียง “ถือ” หรือเปลี่ยนตัวเล่นไป DTAC ที่จะได้รับผลบวกจากการควบรวมเหมือนกัน

งานนี้ก็ต้องวัดใจกสทช. และรอดูกันไปว่ามหากาพย์ควบ TRUE-DTAC จะจบแบบไหน จะ “จบแบบเจ็บ” หรือไม่ แต่เสียงส่วนใหญ่เชื่อว่าจะ “จบแบบมีเงื่อนไข” มากกว่า

Back to top button