พาราสาวะถี

ขยับขึ้นมาตีคู่กันทันทีกับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองเป็นโมฆะหรือไม่


ขยับขึ้นมาตีคู่กันทันทีกับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองเป็นโมฆะหรือไม่ แม้จะไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับปม 8 ปีนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ แต่จังหวะก้าวเช่นนี้ หากพิจารณาให้ดีมันจะสอดประสานกันอย่างน่าสนใจ เพราะการที่ร่างกฎหมายเลือกตั้งเข้าสู่กระบวนการ หากปลายทางร่างกฎหมายดังกล่าวถูกชี้ให้เป็นโมฆะ มันจะส่งผลต่อการเตรียมการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเกิดจากการยุบสภาหรือครบวาระโดยทันที

ไม่ใช่แค่มีผลกระทบต่อการเตรียมความพร้อมของฝ่ายจัดการเลือกตั้งอย่าง กกต. แต่จะทำให้บรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ได้มีการเปิดตัวผู้สมัคร เดินหน้าหาเสียงกันอย่างเต็มที่แล้ว ต้องกลับมาทบทวนแนวทางกันใหม่ แต่จะถึงขั้นว่าไม่สามารถจัดการเลือกตั้งเลยหรือไม่ ตรงนี้บรรดาผู้รู้ทางด้านกฎหมายมองกันว่ายังไม่น่าจะถึงทางตันขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มองเห็นว่ากลเกมของเนติบริกรศรีธนญชัยและเครือข่ายนั้นไม่ธรรมดา

ถ้ากฎหมายเลือกตั้งมีปัญหา ส่งผลต่อกระบวนการเตรียมการเลือกตั้ง มันก็จะย้อนกลับมายังผลในคดีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ หากไม่ได้ไปต่อก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าได้ไปต่อจากที่มองกันว่าไม่น่าจะอยู่ได้ยาว ก็จะหาเหตุอ้างได้ต่อไปเรื่อย ๆ ในเมื่อกฎหมายที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนมีปัญหา มันต้องใช้เวลา ดังนั้น การอยู่ต่อจึงมีความจำเป็น ซึ่งจังหวะนี้จะถือเป็นโอกาสที่มีความหวังว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ปากท้องของประชาชนน่าจะดีขึ้น

เผื่อฟลุคเคลมเป็นผลงานได้ ความเบื่อหน่ายที่มีมาก่อนหน้าอาจจะสร่างซาลงได้ ทว่านั่นถือเป็นเดิมพันใหญ่ที่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร หากได้ไปต่อ ปัญหาสำคัญที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะต้องเร่งจัดการ คือ กลไกอำนาจภายในพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะต้องเจือจานกันจับมือให้แน่น เพื่อผลของการเลือกตั้งครั้งหน้ากับโอกาสที่จะได้กลับมาร่วมงานกันเหมือนเดิม หากยังมัวแต่แย่งชิงความได้เปรียบกันแบบนี้มีแต่จะกอดคอกันตายหมู่

เป็นธรรมดาในเรื่องของการตกปลาในบ่อเพื่อน จะหมุนวนกันอยู่ใน 3 พรรค คือ พรรคสืบทอดอำนาจ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ที่ล่าสุดเป็นฟากของพรรคเก่าแก่ที่ได้ตัว “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคแกนนำรัฐบาลมาร่วมชายคา ถือเป็นความหวังของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่จะอาศัยฐานของมาดามเดียร์เพื่อฟื้นคะแนนนิยมใน กทม. ขณะเดียวกัน เจ้าตัวก็ถือเป็นคู่ปรับสำคัญกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งน่าจะเป็นการใช้คนถูกกับงาน มาถูกจังหวะในการที่จะต้องแลกหมัดกันพอดี

แต่การจะจับมือกันให้เหนียวแน่นนั้น ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ไปต่อ และไม่ถอดใจ โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับการแจกแจงกันในทางลับให้สะเด็ดน้ำว่าแนวทางที่เนติบริกรศรีธนญชัยวางไว้ให้เดินนั้น จะสามารถลุยกันไปได้ขนาดไหน เนื่องจากตัวช่วยต่าง ๆ ที่มีอยู่สามารถประคับประคองให้รอดพ้นจากกลไกตรวจสอบได้เท่านั้น แต่กระแสแรงเสียดทานจากประชาชนมันยากยิ่งที่จะจัดการ โดยเฉพาะกับกลุ่มปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนว่า พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ก็ไม่ได้ต้องการที่จะเป็นเพียงแค่นั่งร้านให้น้องเล็กเสวยสุขเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว ทั้งจากการถูกลูบคมไม่ให้เกียรติกัน รวมไปถึงกระแสความนิยมของประชาชนซึ่งเปลี่ยนไปจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อย่างสิ้นเชิง เพื่อความอยู่รอดพรรคสืบทอดอำนาจจึงไม่อาจจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เพียงแค่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเพียงคนเดียวได้อีกแล้ว นั่นมันจึงทำให้รอยปริแยกที่มีอยู่แล้วยิ่งถ่างกว้างและทำให้ห่างเหินกันมากขึ้น

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้น้องเล็กหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อ 24 สิงหาคมเป็นต้นมา ทำให้เห็นว่า ปฏิกิริยาระหว่างพี่ใหญ่กับน้องเล็กนั้นไม่ได้เป็นไปในทิศทางแนวเดียวกันเหมือนที่ผ่านมา อย่างที่บอกไว้ประสาคนที่ไม่ยอมเสียหน้า การถูกลดชั้นชั่วคราวมีเพียงหัวโขนแค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หากให้เกียรติและไม่เกิดอาการเกาเหลากับพี่ใหญ่ ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ น้องเล็กควรจะต้องเข้าประชุม ครม.ที่ทำเนียบรัฐบาลร่วมโต๊ะกับพี่ใหญ่สักหน

อย่างที่ปรากฏเป็นข่าว ทุกวันอังคารผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องทำงานภายในกระทรวงกลาโหมเท่านั้น และไม่มีการปริปากพูดจาอะไรในที่ประชุม ไม่ใช่การสงวนท่าทีหรือเพื่อมารยาท แต่ยังทำใจรับไม่ได้กับการที่เคยนั่งหัวโต๊ะชี้นิ้วสั่งการ หรือเป็นผู้นำในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ แต่ต้องกลับมาเป็นเพียงแค่ผู้ให้ความเห็น ยิ่งเกิดภาพการกินข้าวเที่ยงกับ อนุทิน ชาญวีรกูล และ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่กระทรวงกลาโหม ยิ่งเป็นการตอกย้ำแนวทางการเมืองของพี่น้องแก๊ง 3 ป.ไม่อาจร่วมเดินทางกันได้อีกแล้ว

กระนั้นก็ตาม ยังมีข่าวอีกกระแสมองในมุมที่ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ได้ไปต่อ ซึ่งมีโอกาสเพียงน้อยนิดเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงมันก็จะมีปัจจัยชี้วัดว่า ยังนั่งรักษาการนายกฯ ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ กระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายที่มีจะเป็นอย่างไร ทางตันอาจไม่มี แต่จะเป็นทางเลือกที่ประชาชนยอมรับกันได้หรือไม่นั่นก็อีกเรื่อง ถ้าเป็นไปในแนวทางนี้หมายความว่าประเทศจะต้องตั้งต้นนับหนึ่งกันใหม่ ซึ่งอยู่ที่กระบวนการว่าจะนำมาซึ่งความวุ่นวายจนกลายเป็นเหตุให้ต้องล้มกระดานกันด้วยปลายกระบอกปืน หรือหาทางออกด้วยการให้ทุกฝ่ายมาร่วมจับมือกันเดินไปข้างหน้า

แนวทางอย่างหลังนั้นต้องอาศัยขั้วความขัดแย้งต่าง ๆ ที่มีอยู่เวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง นักการเมือง รวมไปถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะต้องระดมสมอง ร่วมมือกันเพื่อช่วยให้ประเทศไม่ย้อนรอยถอยหลังกลับไปสู่วิกฤตความขัดแย้งอีก ดังนั้น แนวทางที่มีคนจุดพลุว่าด้วยการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 จึงมีโอกาสที่จะได้เห็นการขับเคลื่อนให้เป็นจริงได้ เพียงแต่ว่าเวลานี้ทุกฝ่ายต่างจับจ้องไปยังผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 กันยายนนี้ก่อนว่าจะออกมาแบบไหน

Back to top button