เน้นหุ้นเชิงรับและโตได้ดี รับมือดอกเบี้ยขึ้นสั้นแต่เศรษฐกิจลงยาว

InnovestX มองว่า แม้ตลาดกำลังจะปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ โดยเริ่มเชื่อว่าการปรับขึ้นของดอกเบี้ยแบบรุนแรงจะสิ้นสุดลงแล้ว


InnovestX มีมุมมองต่อทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ 3 ประเด็น คือ 1) การขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณเช่นนี้ เป็นการขึ้นแบบ Front load กล่าวคือ เร่งขึ้นรุนแรงที่ 75 bps และ 50 bps ในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายของปี และทรงตัวหรือปรับขึ้นอีก 25 bps ในการประชุมต้นปีหน้า และลดดอกเบี้ยในปี 2567

(2) การปรับประมาณการเศรษฐกิจลงรุนแรง บ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่จะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยในปีนี้-ปีหน้า (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 0.2% ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังต้องหดตัว 2.8% จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 3.2%)

3) ผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปี ที่ขึ้นมาแรงที่ 4.1% ขณะที่ 10 ปี ยังอยู่ที่ 3.5% บ่งขี้ว่าตลาดเชื่อว่าการส่งสัญญาณการขึ้นครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณแบบรุนแรงครั้งสุดท้าย (Peak of Hawkishness) รวมถึงเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวมากขึ้นพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจ ขณะที่ประเด็นที่รัสเซียยกระดับความรุนแรงของสงครามขึ้นมองว่า เป็นการส่งสัญญาณรุกหนักมากขึ้นของทางรัสเซีย เพื่อต้องการปิดเกมสงครามครั้งนี้ โดยให้ทางยูเครนยอมยกรัฐทางตะวันออกให้แลกกับการยุติสงคราม ดังนั้นในระยะต่อไป ต้องติดตามสัญญาณจากชาติตะวันตกว่าจะยอมเจรจากับทางรัสเซียหรือไม่ ซึ่งหากชาติตะวันตกไม่ยอม อาจเห็นการรุกหนักขึ้นของทางรัสเซียในระยะต่อไป ซึ่งอาจกระทบราคาพลังงานและเงินเฟ้อ รวมถึงเศรษฐกิจโลกได้

ขณะที่ InnovestX มองว่า แม้ตลาดกำลังจะปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ โดยเริ่มเชื่อว่าการปรับขึ้นของดอกเบี้ยแบบรุนแรงจะสิ้นสุดลงแล้ว  รวมถึงเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวมากขึ้น (ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว) แต่ช่วงสั้นคาดบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะยังถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกทั้งความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังธนาคารกลางหลายประเทศดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวหรือปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ การปรับตัวลงของราคาน้ำมัน และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ อีกทั้งยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยกระดับขึ้น จึงทำให้การลงทุนยังต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น

โดยมุ่งเน้นในสินทรัพย์/ตลาดที่ยังมีความแข็งแกร่งและต้านทานการขึ้นดอกเบี้ย และการชะลอลงของเศรษฐกิจได้ ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนช่วงสั้นจึงยังคงแนะนำ Selective Buy ในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้

1.หุ้น defensive ที่อิงกำลังซื้อและเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก เลือก ADVANC, BDMS, BLA, HMPRO

2.หุ้น domestic growth ในไตรมาส 4/65 ซึ่งกำไรมีโมเมนตัมเติบโตได้ดีสามารถต้านทานความเสี่ยงภายนอกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ เลือก AMATA, AP, CRC, KTB

ขณะที่ช่วงสั้นแนะนำให้ เพิ่มความระมัดระวัง หรือ หลีกเลี่ยงการลงทุนออกไปก่อน สำหรับหุ้นที่มีปัจจัยเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้

1.หุ้นเดินเรือซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามาและอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

2.หุ้นที่มีฐานลูกค้า/ตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งคาดว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มยาง

3.หุ้นเนื้อสัตว์ อาทิ CPF, GFPT ซึ่งอาจถูกกดดันจากความกังวลต้นทุนอาหารสัตว์จะทรงตัวสูงจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยกระดับขึ้น และการเข้าสู่เทศกาลกินเจ (จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีพบว่าช่วง 1 เดือนหลังเข้าสู่วันแรกของเทศกาลกินเจ ราคาหุ้นกลุ่มเนื้อสัตว์มักจะอยู่ในทิศทางขาลงและปรับตัวลงเฉลี่ยราว 5.5%)

Back to top button