ไฟไหม้ ‘หุ้นไฟแนนซ์’.!

หากเดินตามแนวทางสคบ.ผลกระทบที่เกิดขึ้น นั่นคือการปล่อยกู้จะเข้มขึ้น รวมถึงการเพิ่มเงินดาวน์ ทำให้กู้ยากขึ้น


ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดแรงเทขาย “หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์” ออกมาอย่างหนัก เมื่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีข้อสรุปว่าด้วยเรื่องร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่มีสาระสำคัญหลัก คือ การ “กำหนดเพดานดอกเบี้ยธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักยานยนต์” โดยจะส่งเรื่องเสนอต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลใน 90 วัน นับจากประกาศฯ ดังกล่าว

นั่นจึงเป็นเหตุให้ความกังวลและแรงกดดันต่อหุ้นบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD, บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC และบริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ในฐานะไฟแนนซ์ที่มีพอร์ตสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์อยู่ในสัดส่วนมากอย่างมีนัยสำคัญ

โดยสาระสำคัญจากข้อสรุปของสคบ. แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก เริ่มจาก “คืนรถจบหนี้”…ถูกยกออกไปก่อน

ตามด้วยการปิดบัญชี แบ่งเป็น 3 กรณี กรณีชำระค่างวดมาแล้ว 1 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อได้รับส่วนลดอัตรา 70% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ, กรณีชำระค่างวดไม่เกิน 2 ใน 3 ให้ส่วนลดไม่น้อยกว่า 60% และกรณีชำระค่างวดเกิน 2 ใน 3 ขึ้นไปไม่คิดอัตราดอกเบี้ย

ที่เป็นไฮไลท์นั่นก็คือ เพดานดอกเบี้ย แบ่งเป็น 3 กรณีคือ รถยนต์ใหม่ เพดานไม่เกิน 10% ต่อปี, รถใช้แล้วมือสอง เพดานไม่เกิน 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ เพดานไม่เกิน 23% ต่อปี

แต่เท่านั้นยังไม่พอ..มีความไม่ชัดเจนเรื่องดังกล่าว เนื่องจากธปท.กำลังยกร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์ หลังผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว เตรียมดำเนินการตามขั้นตอนการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และธปท.จะได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างประกาศธปท. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

อย่างไรก็ดีหากเดินตามแนวทางสคบ.ผลกระทบที่เกิดขึ้น นั่นคือการปล่อยกู้จะเข้มขึ้น รวมถึงการเพิ่มเงินดาวน์ ทำให้กู้ยากขึ้น (Rejection Rate สูงขึ้น) และหากผู้กู้จำเป็นต้องใช้รถจริง ๆ อาจหันไปกู้เงินจากแหล่งเงินที่สูงขึ้น เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อมาเป็นเงินดาวน์

จากปัจจุบันสัดส่วนซื้อรถประมาณ 80% จะเป็นการผ่อนชำระและอีก 20% จะซื้อเงินสด ทำให้สัดส่วนคนซื้อเงินผ่อนจะน้อยลง

แต่นักวิเคราะห์บางกลุ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อเกณฑ์ของธปท.เพราะเชื่อว่าน่าจะพอ “เข้าอกเข้าใจ” การดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินเป็นอย่างดี น่าจะทำให้เพดานดอกเบี้ยสินเชื่อน่าจะผ่อนคลายกว่าเพดานดอกเบี้ยของสคบ. ที่จะให้น้ำหนักไปทางกลุ่มผู้ใช้บริการหรือ “ผู้กู้” มากกว่าผู้ให้บริการหรือ “ผู้ปล่อยกู้” นั่นเอง

ทว่าเมื่อความชัดเจนยังไม่บังเกิด..แรงกดดัน “หุ้นไฟแนนซ์” ยังต้องบังเกิดต่อไป

ในมุมนักลงทุนแล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นเบื้องต้น นั่นคือตรวจสอบโครงสร้างธุรกิจและประเภทสินเชื่อหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ เพื่อแยกแยะว่าผู้ประกอบการไฟแนนซ์รายใดที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบหรือรายใดไม่เข้าข่ายที่จะได้รับผลกระทบบ้าง เพื่อลดทอนความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสการลงทุนช่วงที่ผันผวนได้

นั่นหมายถึง..ปรากฏการณ์ “ไฟไหม้หุ้นไฟแนนซ์” ที่กำลังเกิดขึ้น อาจเป็น “โอกาส” เลือกหุ้นลงทุนได้เช่นกัน..!!

Back to top button