พาราสาวะถี

เห็นอาการอารมณ์ดีของผู้นำเผด็จการที่ตอบคำถามของนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับความขัดแย้งของสองพรรคร่วมรัฐบาลประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย


เห็นอาการอารมณ์ดีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ตอบคำถามของนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลเพียงสั้น ๆ เกี่ยวกับความขัดแย้งของสองพรรคร่วมรัฐบาลประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย ปมร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง โดยบอกว่า “เป็นเรื่องของสภานะจ๊ะ” ไม่ต้องเดาก็บอกได้ว่าเป็นความแจ่มใสจากเรื่องที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลได้สำเร็จ จากแผนอันแยบยลด้วยการผ่านร่างแก้ไขกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา ปาดหน้าหนึ่งวันก่อนที่สภาฯ จะถกในเรื่องนี้

ถือเป็นชัยชนะบนความสะใจของคนที่ถืออำนาจ ความจริงอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่ว่าสามารถหักหน้าหรือล้มร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลได้สำเร็จ หากแต่เป็นความสำเร็จที่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของบรรดาเจ้าสัว นายทุนผู้ให้การสนับสนุนหลักนับตั้งแต่การยึดอำนาจมากว่า 8 ปีได้มากกว่า แน่นอนว่า เรื่องนี้ยังไม่จบ การได้ตั้งต้นของพรรคก้าวไกลโดยมีเสียงสนับสนุนที่มากพอพ่ายแพ้ชนิดหายใจรดต้นคอ รอจังหวะการเมืองเปลี่ยนขั้วเมื่อไหร่ เรื่องนี้ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การเมืองเบื้องหน้าเวลานี้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกำลังใจจดจ่ออยู่กับการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคที่จะเกิดขึ้นกลางเดือนนี้ ด้วยความหวังว่าจะเป็นเวทีที่ช่วยพลิกฟื้นความเชื่อมั่น เรียกคะแนนนิยมของตัวเองให้กลับคืนมา แต่น่าจะยากเพราะทางการเมืองประชาชนได้ตัดสินใจกันไว้ล่วงหน้าแล้ว เพียงแต่ว่าหลังจากที่ผ่านพ้นการประชุมใหญ่ครั้งนี้ไปแล้ว จะเป็นจังหวะที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะต้องตัดสินใจทางการเมืองในหลายเรื่องสำคัญ

เรื่องแรกการปรับคณะรัฐมนตรีจะต้องเกิดขึ้น หากไม่อยากสร้างแรงกระเพื่อมใด ๆ ก็ปรับแค่เก้าอี้ของรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยจากประชาธิปัตย์ อาจแถมพกด้วยเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการของภูมิใจไทย ถ้าจะมากไปกว่านั้นก็เป็นส่วนของพรรคสืบทอดอำนาจและส่วนที่จะเกี่ยวพันกับตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเอง ย้ำกันมาโดยตลอดถ้าไม่เดินร่วมทางกับพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. สองเก้าอี้รัฐมนตรีที่ริบไปก่อนหน้าจะต้องตกเป็นโควตาของท่านผู้นำโดยแต่งตั้งคนใกล้ชิดมารับตำแหน่ง

หากแต่งตั้งคนในพรรคแกนนำรัฐบาล ก็เท่ากับว่ายังจะเดินบนถนนสายการเมืองเส้นทางเดียวกันต่อไป แต่คงจะเต็มไปด้วยเงื่อนไขสารพัด โดยเฉพาะกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องการเป็นตัวเลือกเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น แม้จะติดขัดข้อจำกัดว่าหลังเลือกตั้งแล้วเป็นนายกฯ ได้อีกเพียงไม่เกิน 2 ปี แต่ก็ขอให้ชูตัวเองเป็นดาวเด่นไปก่อน อีกนัย คือ ต้องการวัดกระแสว่าคนที่ชื่นชอบตัวเองยังหลงเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด

เมื่อพ้นจากระยะเวลา 2 ปีไปแล้วค่อยมาว่ากันอีกที โดยทีมกุนซือของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจโดยเฉพาะเนติบริกรศรีธนญชัยและนักกฎหมายขายตัวทั้งหลาย ต่างมองเห็นช่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อถึงเวลาครบกำหนด 8 ปีในปี 2568 แล้ว ก็จะมีความเคลื่อนไหวยื่นให้ตีความกันอีกกระทอก ด้วยเหตุผลคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ที่ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ต้องมาจากการโหวตของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ช่วงที่มี ส.ว.ลากตั้งร่วมโหวตไม่นับ

แต่ว่าเงื่อนไขแบบนี้ ทีมที่ปรึกษาของพี่ใหญ่มองเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบกันเกินไป ประกอบกับคะแนนนิยมของตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่เห็นกันชัดเจนสาละวันเตี้ยลง ดังนั้น จึงต้องมีแคนดิเดตคนคู่ นายกฯ คนละครึ่ง สิ่งสำคัญคือมันจะล้อไปกับนโยบายที่จะได้นำเสนอต่อประชาชนด้วย ทั้งนี้ ประเด็นการจะไปต่อกับพี่ใหญ่หรือไม่ มันก็จะสอดรับกับข้อเรียกร้องของผู้อาวุโสในพรรคสืบทอดอำนาจที่ต้องการให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคด้วย

ประเด็นนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะต้องตัดสินใจหลังประชุมเอเปค คือ ถ้าไม่ไปต่อทางการเมืองทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าเลือกที่จะอยู่ยาว ก็ต้องประกาศให้ชัดว่าจะไปต่อกับพรรคสืบทอดอำนาจหรือพรรคการเมืองที่ไปตั้งรอไว้แล้ว และเมื่อเลือกจะไปสังกัดพรรคไหนแล้ว ก็ต้องชัดเจนตามมาอีกว่า ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นด้วย ถือเป็นเดิมพันทางการเมืองเพื่อซื้อใจคนจะเลือกว่าไม่ได้หวังจะกุมอำนาจจากกลไกที่วางแผนกันไว้หมด โดยที่ตัวเองไม่ยอมเป็นนักการเมืองเต็มตัวเหมือนที่ผ่านมา

หากทั้งสองสามประเด็นมีความชัดเจนแล้ว ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ว่าจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่หรืออยู่กันไปจนครบวาระ แนวโน้มที่นักเลือกตั้งมองกันก็คือยังไงต้องยุบสภา เพื่อให้นักการเมืองที่อยากจะย้ายคอกมีเวลาในการสังกัดพรรคการเมืองได้ตามที่กฎหมายกำหนด เพราะการยุบสภาเรื่องเงื่อนเวลาในการสังกัดพรรคการเมืองก็จะเหลือเพียงแค่ 30 วัน โดยหลังจากมีการยุบสภาแล้วจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในเวลาไม่น้อยกว่า 45 แต่ไม่เกิน 60 วัน อันเป็นเวลาที่จะสามารถย้ายพรรคกันได้ทันแน่นอน

ส่วนการอยู่ครบวาระจะต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน ประเด็นนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ชี้ว่า บรรดา ส.ส.ที่สังกัดพรรคหนึ่งแต่ใจอยู่อีกพรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นประเภทงูเห่าหรือประเภทฝากเลี้ยง ก่อนสิ้นเดือนมกราคม 2566 คงต้องตัดใจลาออกจากการเป็น ส.ส.ทั้งที่ยังอาจดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีกอย่างน้อย 2 เดือน หากใจเย็นแล้วล้ำเวลาเข้าไปในเขต 90 วัน อาจกลายเป็นสิ่งแช่แข็งทางการเมือง เพราะหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่ส่งลงเลือกตั้งต้องร้องเพลงรอการเลือกตั้งรอบต่อไปทันที

เงื่อนปมการอยู่ครบวาระของ ส.ส.จึงมีมากมายและเป็นข้อจำกัดต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหาสำหรับนักการเมือง และพรรคการเมืองที่ใช้พลังดูดเป็นหลัก โดยเฉพาะกับพวกตกปลาในบ่อเพื่อน การยุบสภาจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดเพื่อหลบหลีกประเด็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แม้ตอนนี้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะอยู่ในภาวะนิ่ง ไม่ตอบประเด็นใด ๆ ทางการเมือง แต่ความเคลื่อนไหวของพวกร่วมรัฐบาลมันเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่เด่นชัดถึงภาวะทางการเมือง ที่เชื่อได้เลยว่าหลังประชุมเอเปค จากที่เก็บอาการมาโดยตลอดจะเป็นเวลาที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ปล่อยของเสียที

Back to top button