พาราสาวะถี

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้วสำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง


มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้วสำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง นั่นหมายความว่า ปี่กลองทางการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งได้โหมโรงกันอย่างเป็นทางการแล้ว และจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นโอกาสของการยุบสภาที่หลุดรอดกันมาว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะถือราชาฤกษ์ 14 กุมภาพันธ์นี้คืนอำนาจให้ประชาชนก็ยังคงมีความเป็นไปได้

หากเป็นเช่นนั้นจริง ญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ หรือการซักฟอกผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและรัฐบาลที่ฝ่ายค้านยื่นไว้ และวิปได้เคาะวันประชุม 15-16 กุมภาพันธ์นี้ก็จะเป็นหมันไปโดยปริยาย ความเป็นไปได้ของการยุบสภาหนีซักฟอกไม่เป็นไปตามที่คุยโม้ไว้ก่อนหน้าว่าจะใช้เวทีนี้เพื่อชี้แจงประชาชนว่าท่านผู้นำพร้อมคณะทำอะไรไปบ้าง อาจเป็นเพราะไม่มั่นใจว่ามีข้อมูลเด็ดอะไรจากฝ่ายค้านหรือไม่ เนื่องจากเวลานี้มีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตเกิดขึ้นรายวัน

สิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างคดีตู้ห่าว ที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ไปพบผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในวันเปิดตัวเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์นั้น อาจจะพอชี้แจงได้ว่าทุกอย่างได้เข้าสู่กระบวนยุติธรรมตามขั้นตอนแล้ว แต่เรื่องอื่นที่ซุกไว้ใต้พรมไม่รู้ว่าจะถูกปูดหรือรื้อขึ้นมาเมื่อไหร่ ที่ท่านผู้นำและลิ่วล้อขบวนการสืบทอดอำนาจกลัวกันมากที่สุดคือ ข้อมูลจากภายในที่หลุดไปอยู่ในมือฝ่ายค้าน หากดิ้นไม่หลุดเรื่องที่จะลุ้นอยู่ยาวมีอันต้องจบเห่โดยทันที

เช่นเดียวกัน เห็นอาการดิ้นของคนพรรคภูมิใจไทยต่อการที่ฝ่ายค้านยื่นคำร้องถึง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้เสนอเรื่องถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยสิ้นสุดลง และให้เพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ในประเด็นที่มีการกล่าวหาว่าศักดิ์สยามมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งหรือซุกหุ้น

ทั้งที่ เมื่อมั่นใจในความบริสุทธิ์ก็ไม่ควรที่จะต้องออกอาการกันขนาดนี้ ปล่อยให้ทุกอย่างว่ากันไปตามกระบวนการ ไม่แน่ด้วยว่าหากมีการซักฟอกตามมาตรา 152 จะมีข้อมูลอีกชุดเกี่ยวกับการมีนอมินีไปตั้งบริษัทเพื่อรับงานสำคัญในกระทรวงหูกวางอีกหรือไม่ อย่างที่บอกว่า ปลายสมัยของรัฐบาลหากไม่โปร่งใสแบบล้านเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสที่ถูกลากไส้ประจานกันแบบคาดไม่ถึง การเมืองไม่ได้มีแค่นักการเมือง แต่ยังมีข้าราชการที่ถูกกดมานานต้องการจะปลดปล่อยจากการถูกพันธนาการของรัฐพันลึกเหมือนกัน

ย้อนกลับไปดูกฎหมายลูก 2 ฉบับที่มีผลบังคับใช้แล้ว มีสาระสำคัญที่น่าสนใจอะไรบ้าง สำหรับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่รับรู้กันมาโดยตลอดก็คือ ให้ กกต.ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 เขต และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน โดยให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นบัตร ส.ส.เขต และบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งรวมกันทั้งประเทศ

ส่วนกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองมีสาระสำคัญคือ แก้ไขเรื่องการทำระบบไพรมารีโหวตในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง เช่น ในจังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งสาขาพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองนั้นมีสมาชิก ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นเกิน 100 คน อาจแต่งตั้งสมาชิกให้เป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในจังหวัดนั้น อาทิ คัดเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง

ที่ทุกพรรคการเมืองจับตามองคงหนีไม่พ้นการแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตของ กกต. เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็มีการโชว์ผลงานชิ้นโบว์ดำจนถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว หนนี้ก็เช่นเดียวกันลีลาของ กกต.ที่อ้างว่าต้องรอกฎหมายลูกประกาศก่อนจึงจะแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ก็ถูกมองว่าทำไมต้องรอขนาดนั้น เมื่อรู้จำนวนประชากรที่กระทรวงมหาดไทยประกาศแล้ว ประกอบกับมีการคำนวณจำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดและประกาศไปแล้ว ก็น่าจะแบ่งเขตเบื้องต้นเพื่อรอไว้ได้

ประเด็นนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะอดีต กกต.ได้ตั้งข้อสังเกตและมองว่า “องค์กรอิสระหัวสี่เหลี่ยม” การรอให้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้และต้องใช้เวลาอีก 25 วันจึงจะแบ่งเขตสำเร็จ ทำให้ผู้สมัครระดับเขตไม่รู้พื้นที่ที่แน่ชัดของตนเองว่าจะครอบคลุมตำบลไหน อำเภอใดบ้าง ทั้งที่ความจริงหาก กกต.ไปเปิดมาตรา 27 ของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งระบุรายละเอียดของวิธีการแบ่งพื้นที่เป็นเขตเลือกตั้งเขียนว่าอย่างไร และกฎหมายใหม่ที่รอก็ไม่มีการแก้ไขในมาตรานี้

ที่อ้างว่ามาตรา 27 เกี่ยวพันกับมาตรา 26 ที่มีการแก้ไขจึงต้องรอกฎหมายใหม่ แต่ กกต.คงลืมไปว่ามีการคำนวณจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัดใหม่ ประกาศให้คนรู้กันทั่วไปแล้ว นี่ก็ถือว่าทำล่วงหน้าได้ กกต.จึงสามารถดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 27 ได้ทันที โดยไม่ต้องรอการโปรดเกล้าฯ กฎหมายฉบับใหม่ อุตส่าห์มีเพิ่มเป็น 7 คนแล้ว อ่านกฎหมายกันอย่างไร กรณีนี้คงไม่ต้องสาธยายในเมื่อก็รู้กันอยู่ว่าตั้งมาโดยใคร และมีภารกิจเพื่อใคร ส.ส.เอื้ออาทร ส.ส.ปัดเศษคือผลงานที่การันตีเป็นอย่างดี

ด้านผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกในนามพรรครวมไทยสร้างชาติที่เทศบาลเมืองชุมพรเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น มีแค่ประเด็นพรรคนี้ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจอยู่แค่ 2 ปี และชูโครงการคนละครึ่งกับบัตรคนจนเป็นจุดขาย ไม่ต้องเดาว่านโยบายแบบนี้จะซ้ำกับพรรคไหน ขณะที่พรรคสืบทอดอำนาจมีมติเสนอชื่อพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ในฐานะบุคคลที่สมาชิกพรรคเคารพสูงสุด และเป็นศูนย์รวมจิตใจมาโดยตลอด เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงชื่อเดียว เพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ และศักดิ์ศรีของพรรค เหมือนเป็นการตบหน้าน้องเล็กไปในตัว เทียบลีลาการเมืองแล้วต้องยอมรับว่าน้องเล็กยังห่างชั้นหลายขุม

Back to top button