Telemedicine อีกหนึ่งพลวัตการแพทย์

Telemedicine เป็นเทคโนโลยีการแพทย์ ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยในการรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับคำปรึกษาและคำวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง


ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา “เทคโนโลยีทางการแพทย์” ของไทย มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การผ่าตัดส่องกล้อง การสอดท่อผ่าตัด การรักษาด้วยรังสี การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ จนเกิดวิกฤติโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีการแพทย์มีพัฒนาการเร็วขึ้น

นั่นจึงทำให้แนวคิด Telemedicine ที่เคยใช้สื่อสารทางไกล เช่นการผ่าตัดข้ามประเทศ มีแพทย์เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาระหว่างผ่าตัดอยู่อีกประเทศหนี่ง ถูกมาใช้ในการดูแลคนไข้มากยิ่งขึ้น

สำหรับ Telemedicine (การแพทย์ทางไกล) คือ การให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยบุคลากรทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบ Video Conference เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่

จากเดิม Telemedicine เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน หลายโรงพยาบาลของไทย เริ่มนำมาปรับใช้กับการรักษา เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเรื่องของการเดินทาง ประหยัดเวลาในการรอคิว ลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องออกจากบ้านและลดจำนวนคนภายในโรงพยาบาล

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำจำกัดความคำว่า Telemedicine หมายถึงการจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมถึงการศึกษาวิจัยและเพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลของรัฐ 2 แห่ง ที่ให้การรักษาพยาบาลโดยใช้ Telemedicine คือ โรงพยาบาลอ่าวลึก จ.กระบี่ และโรงพยาบาลแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยทั้ง 2 แห่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่รับผิดชอบเป็นลูกข่าย โดยรพ.อ่าวลึก อาศัยสัญญาณโทรศัพท์และระบบอินเทอร์เน็ตของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ในการส่งข้อมูลผู้ป่วย ส่วนรพ.แม่สะเรียงใช้ระบบการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม ทั้ง 2 แห่งใช้งานผ่านระบบ Video conference เหมือนกัน

ส่วนโรงพยาบาลเอกชน มีหลายแห่งที่ได้นำ Telemedicine มาใช้ อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่นำนวัตกรรม ROBO DOCTOR (คุณหมอหุ่นยนต์) จากสหรัฐอเมริกามาเสริมศักยภาพการรักษาพยาบาล โดยเริ่มใช้กับโรงพยาบาล 4 แห่ง ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ คือ ศูนย์การแพทย์รพ.กรุงเทพ (ซอยศูนย์วิจัย), รพ.กรุงเทพพัทยา, รพ.กรุงเทพหัวหิน และรพ.กรุงเทพภูเก็ต

โดยเริ่มมีการนำร่องใช้บริการสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาทโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เนื่องจากโรคกลุ่มนี้เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากเท่าใด ยิ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลาง ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลเครือข่าย รวมถึงผู้ป่วย และญาติสามารถซักถามโต้ตอบกันแบบเห็นหน้าอย่างทันท่วงที

ต้องถือว่า Telemedicine เป็นพลวัตเทคโนโลยีการแพทย์ ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยในการรักษาพยาบาล ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับคำปรึกษาและคำวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้นและกลายเป็นเมกะเทรนด์โลกการแพทย์ไปแล้ว

Back to top button