อุทาหรณ์แพนิก

ไม่นึกเลยว่าเหตุการณ์ “แบงก์ล้ม” ในสหรัฐอเมริกา จะสร้างความหายนะให้ตลาดหุ้นไทยมากมายเช่นนี้


ไม่นึกเลยว่าเหตุการณ์ “แบงก์ล้ม” ในสหรัฐอเมริกา จะสร้างความหายนะให้ตลาดหุ้นไทยมากมายเช่นนี้

ปรากฏการณ์ตลาดหุ้นไทย ช่วงระหว่างวันที่ 10, 13 และ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีหลักทรัพย์ฯ รวม 3 วัน ร่วงหลุดไป 89 จุด อาการหนักกว่าตลาดใดในเอเชีย

โอเคนะครับว่า พื้นฐานภาพรวมตลาดหุ้นไทย ก็ไม่สู้จะดีสักเท่าไหร่นัก ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในปีที่แล้ว ออกมาต่ำคาดน่าผิดหวัง เศรษฐกิจก็เติบโตแค่ 2.6% ไล่ไม่ทันกับหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน ออกจะเป็นตลาดที่มีหุ้นราคาแพงเว่อร์จำนวนไม่ใช่น้อยด้วยซ้ำ

แต่หุ้นก็ไม่น่าจะตกบ้าระห่ำเช่นนี้!

แบงก์ซิลิคอน แวลเลย์ที่ล้มก็เป็นแบงก์เฉพาะทาง ทำธุรกรรมกับลูกค้ากลุ่มสตาร์ต-อัพ ส่วนอีกแบงก์หนึ่งคือ ซิกเนเจอร์ แบงก์ก็ทำธุรกรรมกับกลุ่มธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี ไม่ได้ทำธุรกรรมแบบธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ผลกระทบต่อสถาบันการเงินอื่น ๆ ในสหรัฐฯ จึงมีจำกัด

นอกจากนี้ เงินฝาก SVB ที่มี 175,400 ล้านดอลลาร์ฯ และเงินฝากแบงก์ซิกเนเจอร์ที่มี 89,000 ล้านดอลลาร์ ทางเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐ ก็ประกาศเข้าอุ้มเงินฝาก 100%

ฉะนั้นสบายใจหายห่วงได้ในเรื่องจะมีประชาชนแห่ถอนเงิน และอาจจะกลายเป็น “โรคติดเชื้อ” ลุกลามไปยังแบงก์อื่น ๆ

การแก้เกมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย ค่อนข้างจะล่าช้า ไม่ทันเกมทันกาลไปสักหน่อย (อีกแล้ว) แม้มีข้อมูลดี

อันที่จริงแล้ว ข่าวสาร “แบงก์ล้ม” โดยเฉพาะธนาคาร SVB  ตลบอบอวลในวอลสตรีตมาตั้งแต่การซื้อขายในวันพฤหัสฯ (เวลาท้องถิ่น) ซึ่งตรงกับเวลาไทยช่วงกลางดึกไปถึงเช้าตรู่วันศุกร์ที่ 10 มี.ค.แล้ว

เนื่องจาก SVB ประกาศขอเพิ่มทุนฉุกเฉินมูลค่า 1.75 พันล้านเหรียญฯ เพื่อชดเชยการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และยังมีข่าวธนาคารแห่งอื่น ๆ จะล้มตามไปด้วย ดาวโจนส์วันนั้นก็ปรับตัวลงกว่า 500 จุด ตลาดหุ้นเอเชียและยุโรปต่างก็ปรับตัวลดลงตามดาวโจนส์ในทิศทางเดียวกัน

มันเป็นแพนิกตลาดทุนในระดับโลกไปแล้วล่ะ และในวันศุกร์นั้นดัชนีหลักทรัพย์ไทยก็ปรับตัวลง 14 จุด ไม่มีผู้บริหารตลาดทุนคนใดออกมาอธิบายเหตุการณ์ที่จะสั่นสะเทือนตลาดเลย คงมีแต่นักวิเคราะห์โบรกเกอร์ 2-3 รายออกมาคอมเมนต์

ตลาดหุ้นในวันถัดมาที่ 13 มี.ค.ตานี้หุ้นโดนถล่มหนักเลย ดัชนีปิดปรับตัวลงอีก 26 จุด คุณภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดฯ ออกมาให้ความเห็นในช่วงบ่ายวันนั้นว่า ทางการสหรัฐฯ เข้ามาช่วยเหลือธนาคาร 2 แห่งที่ล้มแล้ว เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยไม่มาก

พร้อมกันนั้นยังแนะนำว่า “ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาก เป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน”

ผมไม่ทราบว่าคำแนะนำต่อนักลงทุนนี้ จะมาทันเวลา และเพียงพอกับอาการแพนิกของตลาดหรือไม่ เพราะในวันรุ่งขึ้นที่ 14 มี.ค.ถัดมา นักลงทุนถล่มเทขายกันอย่างหนักทั้งนักลงทุนต่างประเทศและสถาบัน ดัชนีปิดลบไปถึง 49 จุด

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางฝุ่นหมอกควันตลบของตลาดฯ มีคำชี้แจงเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ตอบโจทย์ตรงประเด็นที่สุดในเรื่องจะเกิดผลกระทบเพียงใดต่อระบบการเงินไทยจากแบงก์ชาติโดย.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ยืนยันว่า ไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และไม่มีการถือครองทรัพย์สินดิจิทัล

ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีฐานะมั่นคงแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2565 มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ร้อยละ 19.4 สภาพคล่อง (Liquidity Coverage ratio) ร้อยละ 197.3 มีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ร้อยละ2.73 และเงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage ratio) สูงถึงร้อยละ 171.9

นอกจากนี้ ยังมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่ปัจจุบันมีเงินกองทุน 1.34 แสนล้านบาท คุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาทต่อราย ซึ่งเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศถึงร้อยละ 98

พูดง่าย ๆ ก็คือ ระบบสถาบันการเงินของไทย เสริมใยเหล็กแข็งแรงในตัวของมันเอง ไม่ใช่เรื่องจะรับโรคติดเชื้อจากอเมริกาง่าย ๆ แน่

น่าเสียดาย คำชี้แจงดี ๆ และเป็น “มวยหลัก” เช่นนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าเอาไปเผยแพร่ต่อ ก็คงจะช่วยหยุดยั้งแรงขายไร้สติ ทำแมงเม่าบาดเจ็บล้มตายไปไม่ใช่น้อย

Back to top button