พาราสาวะถี

ความพ่ายแพ้ของขบวนการสืบทอดอำนาจอย่างหมดรูป จากเดิมที่สปอตไลท์สาดส่องจับทุกความเคลื่อนไหวไปที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อสอพลอ


ความพ่ายแพ้ของขบวนการสืบทอดอำนาจอย่างหมดรูป จากเดิมที่สปอตไลท์สาดส่องจับทุกความเคลื่อนไหวไปที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อสอพลอ นาทีนี้เปลี่ยนไปจับจ้องเครือข่ายที่ได้รับอานิสงส์จากอำนาจเผด็จการ คสช.ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง หรือแม้กระทั่ง กกต.ที่อ้างตัวว่าไม่ได้มาจากปลายกระบอกปืน การรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. และปมการยุบพรรคจะเป็นบทพิสูจน์ คำพูดที่หลุดมาจากปากนั้นจริงหรือเท็จ

ไม่ได้เหนือความคาดหมายอยู่แล้วกับความยากในการที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เห็นกันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งไม่ถึงสัปดาห์ มีการโหมโรงและดาหน้าไปยื่นร้องให้ตรวจสอบหัวหน้าพรรคก้าวไกลว่าด้วยการถือหุ้นสื่อ ที่น่าหัวร่อคือเป็นหุ้นของไอทีวี ที่ถ้าใช้ความรู้สึกของคนทั่วไป ก็รับรู้ได้อยู่แล้วว่ายังมีฐานะความเป็นสื่อหลงเหลืออยู่หรือไม่ หลังจากที่ถูกเล่นงานไปด้วยอำนาจของเผด็จการ คมช.ที่ยึดอำนาจตั้งแต่ปี 2549

กรณีนี้ก็จะเป็นตัวชี้วัดการตีความหมายของผู้มีอำนาจชี้ขาดว่าจะยึดโยงเอาอะไรมาเป็นหลัก เพราะทางบริษัทก็ชี้แจงแล้วว่าเหตุผลที่ไม่ได้จดทะเบียนยกเลิกกิจการเพราะต้องใช้ต่อสู้คดีตามกระบวนการ ซึ่งหากจะชี้ว่าเป็นสื่อที่มีส่วนได้เสียต่อทางการเมืองหรือส่งผลต่อการเลือกตั้งยิ่งไปกันใหญ่ แต่ตรงนี้ก็อย่างที่ย้ำมาโดยตลอด ขบวนการสืบทอดอำนาจและเครือข่ายสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกอยากอยู่ยาว

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นความคึกคักแบบผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามจุดพลุว่าด้วยการช่วงชิงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยอาศัยเสียง ส.ว.ลากตั้งมาหนุนเลือกคนที่ตัวเองอยากให้เป็น แต่จุดนี้ก็ต้องย้อนถามกลับไปว่านอกเหนือจากพรรคของสองพี่น้องแก๊ง 3 ป.แล้ว พรรคการเมืองขั้วเดิมที่เหลือยังจะกล้าตระบัดสัตย์ ดูแคลนฉันทามติของประชาชนอีกอย่างนั้นหรือ หลังจากที่เคยหนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมาแล้ว และได้รับบทเรียนสั่งสอนจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม หากขบวนการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา นั่นก็หมายความว่า จะมีการใช้เล่ห์เหลี่ยมในการประชุมเพื่อที่จะทำให้เสียงยกมือหนุนพิธาเป็นนายกฯ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดคือ 376 เสียงขึ้นไป กรณีนี้อยู่ที่ท่าทีของพวกลากตั้งทั้งหมด ซึ่งหากเป็นการเลือกตั้งครั้งที่แล้วยังพอเข้าใจได้ที่จะโหวตเป็นเอกภาพ เพราะพรรคที่หนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสามารถรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 ที่นั่ง

แต่หนนี้ไม่ใช่ เพราะแพ้ตั้งแต่ในมุ้ง การที่มี ส.ว.บางคนประกาศจะงดออกเสียงตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยข้ออ้าง วางตัวเป็นกลางทางการเมือง ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้สังเวชใจไม่ได้ หนที่แล้วทำไมไม่ใช้สิทธินี้ ทำไมจึงก้มหน้าก้มตายกมือหนุนผู้ที่ได้ชื่อว่ามีบุญคุณกันหน้าสลอน ท่วงทำนองของ ส.ว.เวลานี้ต้องชื่นชม “ครูหยุย” วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ที่ย้ำจุดยืนของตัวเองว่า สนับสนุนฝ่ายที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 250 เสียงอยู่แล้ว ไม่ต้องมากดดันกัน

ไม่ใช่เรื่องแปลกกับท่าทีเช่นนี้ เพราะครูหยุยถือเป็น 1 ใน 23 ส.ว.ที่ลงมติให้ปิดสวิตช์ ส.ว. อันหมายถึงไม่ต้องการที่จะใช้สิทธิในการร่วมโหวตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เมื่อพิจารณาถึงที่มาและเจ้าตัวก็ยอมรับเองว่าเป็น ส.ว.สายตรงของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. หากเป็นเช่นนั้นก็อาจคาดเดาได้ว่า ส.ว.สายนี้ก็น่าจะมีท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน น้อมรับฉันทามติของประชาชนด้วยการโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ ส่วนพวกที่ออกมาเย้ว ๆ ในทางตรงข้ามก็ต้องแสดงบทบาทในฐานะเครือข่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งให้สุดลิ่มทิ่มประตู

ล่าสุด สัญญาณบวกจาก ส.ว.ก็เริ่มมีต่อเนื่อง เมื่อ วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ส.ว.ลำดับที่ 174 ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้มีจดหมายเปิดผนึกกรณีท่าทีต่อผลการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป 2566 มีประโยคที่ต้องช่วยกันขีดเส้นใต้และควรสะท้อนให้ ส.ว.ผู้ภักดีทั้งหลายได้สำเหนียก สิ่งที่ ส.ว.รายนี้ชี้ให้เห็นคือ ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการบ่งชี้ว่า พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมมากที่สุด และมีผู้สมัครได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับ 1

ตามครรลองแห่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดย่อมได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรค หรือผู้มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมมีความเหมาะสมที่สุดที่จะได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ปฏิบัติงานสำคัญ รับใช้ชาติบ้านเมืองมาตลอดช่วงชีวิตของการรับราชการ เคยต้องขมขื่นกับความแตกแยกขัดแย้งในบ้านเมือง

ขอถือโอกาสนี้แสดงเจตนารมณ์ภายใต้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมือง ที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความสมานฉันท์ในบ้านเมือง และธำรงไว้ซึ่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนสอดคล้องกับฉันทามติของมหาชนที่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ประชาชนควรช่วยกันปรบมือดัง ๆ ให้กับ ส.ว.รายนี้ที่ได้ยึดหลักการอันถูกต้อง ส่วนพวกที่อ้างว่าจะแสดงความเป็นกลางด้วยการงดออกเสียงนั้น อยากให้ฟังที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร สะกิดเตือนหนที่แล้วพากันโหวตเลือกประยุทธ์แบบพร้อมเพรียงถึง 249 คน งดออกเสียงเพียงประธานวุฒิสภา มาวันนี้ดันบอกต้องการเป็นกลางทางการเมือง ทั้งที่คนรู้กันทั้งโลกคนฝ่ายที่ตั้งตัวเองมาเป็น ส.ว.แพ้การเลือกตั้ง จึงทำให้มืดบอดทางสติปัญญากันทันควัน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงต้องบอกว่า เป็นอะไรที่ดูแย่มาก ๆ  ไม่ใช่ความสง่างามใด ๆ แม้แต่น้อย

X
Back to top button