พาราสาวะถี

มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหนที่สองในวันนี้ เวลาครึ่งวันแรกจะสูญเสียไปกับการอภิปรายหาข้อสรุปจากการที่ 8 พรรคร่วม


มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหนที่สองในวันนี้ เวลาครึ่งวันแรกจะสูญเสียไปกับการอภิปรายหาข้อสรุปจากการที่ 8 พรรคร่วมจะเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ที่ประชุมพิจารณาอีกคำรบ โดยบรรดาหัวหมอของพวกลากตั้งก็ตั้งป้อมมาแล้วตั้งแต่หลังการโหวตครั้งแรก จะมีการเสนอชื่อพิธาอีกไม่ได้ โดยยกเอาข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 มาอ้างว่า ญัตติที่เสนอแล้วที่ประชุมตีตกไม่สามารถนำเสนอได้อีกในสมัยประชุมนี้

กรณีดังกล่าว ที่ประชุม 8 พรรคซึ่งมีมติส่งชื่อพิธาให้โหวตอีกครั้งเห็นตรงกันว่า ความเห็นทางกฎหมายไม่น่าจะเข้าข่าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับข้อบังคับแต่อย่างใด ไม่ถือว่าเป็นญัตติในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่อาจจะมองเห็นต่างกับ ส.ว.ในเรื่องนี้ กรณีนี้ท้ายที่สุดอาจจะลงเอยด้วยการลงมติวินิจฉัยโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา นอกจากนี้ก็จะเป็นการดึงจังหวะรอกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไปในตัวด้วย

ต้องไม่ลืมว่าในวันเดียวกัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมโดยมีวาระพิจารณาว่าจะรับเรื่องที่ กกต.ร้องให้วินิจฉัยว่าพิธาขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส.หรือไม่กรณีถือหุ้นไอทีวี และมีคำร้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย หากศาลเห็นตามนั้นก็จะส่งผลให้พิธาต้องปฏิบัติตาม และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่พวกลากตั้งจะใช้เป็นข้ออ้างในเรื่องของการไม่โหวตให้พิธา ซึ่งก็น่าจะทำให้ 13 ส.ว.ที่เคยโหวตไปก่อนหน้านี้อาจต้องทบทวนท่าทีด้วย ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่เกี่ยวกับคุณสมบัตินายกฯ จึงไม่น่ามีปัญหา

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีบทสรุปที่ว่ารับเรื่องไว้แล้วสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพียงอย่างเดียว อาจจะออกมาในรูปแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้ กกต.กลับไปดำเนินการเรื่องนี้มาใหม่เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ถูกต้องตามข้อกฎหมาย คือให้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหา และเรียกผู้ถูกกล่าวหาไปชี้แจงก่อน จากนั้นให้ส่งมาใหม่ ตรงนี้ภาระและคำถามก็จะตกไปอยู่กับ กกต.ว่า ทำไมจึงรีบร้อนขนาดนั้น

อีกด้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจจะยกคำร้องไปเลยก็ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อมากว่า 10 ปีแล้ว ขณะเดียวกันก็มีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เรื่องสัดส่วนการถือหุ้นที่ไม่มีผลต่อการชี้นำหรือเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยต่อกรณี ส.ส.ซีกรัฐบาลขั้วเดิมกว่า 20 คนก่อนหน้านั้นเช่นกัน ต้องติดตามกันแบบห้ามกะพริบตาไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหน ล้วนแต่จะเกิดคำถามตามมาทั้งสิ้น

สำหรับการโหวตเลือกนายกฯ รอบสอง ประเด็นที่พวกลากตั้งจะหาเหตุนำไปสู่การหยิบยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 151 ซึ่งใช้บังคับในกรณีมีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับ มาใช้จัดการปัญหาความเห็นต่างและข้อขัดแย้ง ซึ่งกำหนดให้กรณีที่มีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับ ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะวินิจฉัย เมื่อที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติวินิจฉัยโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาแล้ว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นเด็ดขาด 

ทั้งนี้ การขอให้ที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัย กระทำโดยประธานรัฐสภาขอปรึกษา หรือสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติโดยมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่า 40 คน ทั้งหมดจึงไหลไปเข้าทางของพวกลากตั้ง ประเด็นนี้ ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นว่า หากที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติวินิจฉัยโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติแล้ว จะส่งผลให้การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ละชื่อจะกระทำได้เพียงครั้งเดียว เนื่องจากถือว่าเป็นญัตติที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติที่มีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีก 

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ว่าห้ามนำญัตติที่มีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีก ก็มีข้อยกเว้นว่า เว้นแต่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต เมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ประเด็นการเสนอตัวบุคคลไม่ได้เป็นญัตตินั้น พวกลากตั้งชุดปัจจุบันก็เคยทำมาแล้ว จากการลงมติในการพิจารณาให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามกฎหมายว่าจะให้ความเห็นชอบ รัชนันท์ ธนานันท์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ จำนวน 2 ครั้ง 

หลังจากที่การพิจารณาครั้งแรกมีมติไม่เห็นชอบ จึงได้นำเรื่องการเสนอชื่อนายรัชนันท์กลับเข้ามาพิจารณาลงมติใหม่ในที่ประชุมวุฒิสภาอีกครั้งหนึ่ง กรณีหากฝ่ายตั้งรัฐบาลนำมาเป็นข้อโต้แย้งพวกลากตั้ง น่าจะทำให้เกิดการถกเถียงและหาข้อยุติกันยืดยาวออกไปอีก เพราะตัวเองเคยทำไว้แล้วกรณีพิจารณาตัวบุคคล การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จึงน่าจะเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ โดยไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นญัตติ

วิบากกรรมของพิธาที่ต้องเผชิญกับนิติสงครามนั้นถือเป็นปัญหาจากกลไกที่วางไว้ของขบวนการสืบทอดอำนาจ นั่นมันจึงทำให้บรรดาคอการเมืองมองข้ามช็อตกันไปถึงสถานการณ์ที่ว่า สุดท้ายแล้วก้าวไกลต้องถอย อยู่ที่ว่าจะถอยโดยยังจับมือกับ 8 พรรคร่วมใช้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย แล้วปล่อยให้เพื่อไทยตัดสินใจทางการเมือง กรณีดึงพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วม ซึ่งกรณีนี้หากไม่เป็นที่พอใจ พิธาและลูกพรรคอาจต้องจำใจไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

สูตรการเมืองที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้คือ ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านกับรวมไทยสร้างชาติ กับพรรคขนาดกลางและพรรคเล็กบางส่วน โดยขั้วตั้งรัฐบาลเปลี่ยนเป็นเพื่อไทยจับมือภูมิใจไทย และพรรคสืบทอดอำนาจ เงื่อนไขอยู่ที่ว่าจะใช้แคนดิเดตนายกฯ คนไหน พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. หรือ เศรษฐา ทวีสิน จุดนี้ถือเป็นเกมวัดใจพรรคนายใหญ่ หากต้องการเป็นผู้คุมเกมทั้งหมดก็ต้องเปิดทางให้คนใช้ใจบันดาลแรงได้สมปรารถนา แต่ถ้าอยากเป็นแกนนำรัฐบาลก็ต้องยอมรับข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้จากทั้งสองพรรค นี่คือมรดกบาปของพวกอยากอยู่ยาวที่วางสนุ๊กไว้ แก้กันเหลี่ยมไหนมุมใดก็มีแต่ปัญหาที่มีโอกาสทำให้ล้มโต๊ะกันได้ทุกเมื่อ

Back to top button