พาราสาวะถี

การเผชิญหน้ากับ “นิติสงคราม” ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะสกัดให้หลุดวงโคจรจากการถูกเสนอชื่อ


การเผชิญหน้ากับ “นิติสงคราม” ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะสกัดให้หลุดวงโคจรจากการถูกเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไปแล้วด้วยมติของที่ประชุมชี้ว่าห้ามเสนอชื่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลรอบสอง เพราะขัดกับข้อบังคับที่ 41 ญัตติที่ถูกตีตกไปแล้วห้ามนำเสนอใหม่ในสมัยประชุมนี้ หนทางที่จะสู้คือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือจะชงชื่อพิธาแล้วให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยโดยยกเหตุสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

กรณีนี้มีหลายรายเสนอว่า แทนที่จะเป็น 8 พรรคเสนอชื่อก็อาจจะไปหาพรรคมาเพิ่มเพื่อให้เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงต่อญัตติถือเป็นญัตติใหม่ เมื่อใช้ศรีธนญชัยทางด้านกฎหมายก็ต้องใช้วิธีเดียวกันดำเนินการต่อ แต่ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่ากล้าที่จะทำเช่นนั้นหรือไม่ เพราะการใช้อำนาจของประธานรัฐสภาต้องเป็นไปตามข้อบังคับ หากมีใครไปยื่นร้องเพื่อเอาผิดกับผู้เป็นประธาน ความซวยก็จะมาเยือน ต้องไม่ลืมว่า การต่อสู้กับนิติสงครามนั้น วันนอร์และพรรคเพื่อไทยเผชิญมาทุกรูปแบบแล้ว

จะว่าเป็นความอ่อนหัดทางด้านการเมือง หรือคาดไม่ถึงของพิธาและก้าวไกลก็อาจจะเป็นได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือความเชื่อมั่นต่อผลการเลือกตั้ง และเสียงที่สนับสนุนกว่า 14 ล้านเสียงมากเกินไป จึงทำให้กล้าที่จะท้าทาย ไม่ว่าจะเรื่องของการไม่ยอมถอยแก้มาตรา 112 การเดินหน้ายื่นขอแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.ทันทีที่ผลการโหวตเลือกนายกฯ รอบแรกไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ล่าสุด ก็ยังเดินหน้าเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการปาตานี ด้วยเหตุผลว่าเพื่อถกเถียงกระบวนการสันติภาพอย่างจริงจัง

แต่ละประเด็นที่จุดขึ้นมานั้น ล้วนแต่ทำให้พิธาและก้าวไกลตกเป็นเป้า ง่ายต่อการขยายผลโจมตีหรือหาเหตุที่จะทำให้ไปไม่ถึงฝั่งฝันแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ การขยับของเครือข่ายขบวนการสืบทอดอำนาจมันฉายภาพชัดทุกกระบวนการ ตั้งแต่การร้องเรียนจนถึงการที่หัวหน้าพรรคชนะเลือกตั้งต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จน ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษาของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ยุครัฐบาลเผด็จการ คสช.ถึงกับตั้งคำถามตัวโต “เมื่อไสยศาสตร์เป็นกฎหมาย จะมีใครจะนับถือกฎหมาย”

ความจริงก็เห็นกันอยู่แล้วนับตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการมาร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 ชุด เพื่อให้ได้ดั่งใจของพวกอยากอยู่ยาว แม้กระทั่งคำถามพ่วงเพื่อให้พวกลากตั้งมีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรกหลังจากการเลือกตั้งครั้งแรก เหล่านี้คือกลไกที่วางไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจโดยไม่ได้แยแสว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร หนก่อนบัตรใบเดียวก็ใช้สารพัดวิธีเพื่อที่จะแย่งพรรคชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลให้ได้ จนเกิดปรากฏการณ์งูเห่าเต็มฟาร์ม กล้วยเต็มสวน

หนนี้ทั้งที่ฝ่าย 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลจะมีเสียงประชาชนหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกมากว่า 27 ล้านเสียง ก็ยังไม่สามารถเอาชนะความหน้าทนของขบวนการสืบทอดอำนาจได้ ความเห็นของ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ว่า “เราไม่ควรปล่อยให้การตีความกฎหมายแบบผิด ๆ ผ่านเลยไปจนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองว่า ผู้มีอำนาจจะบิดเบือนกฎหมายอย่างไรก็ได้ มันสำคัญที่จะต้องสรุปและบันทึกไว้ว่าการวินิจฉัยและการลงมติของเสียงข้างมากในการโหวตนายกฯ รอบ 2 ในรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ”

ความจริงคือ ไม่เฉพาะบรรดานักการเมืองทั้งหลายเท่านั้น ที่จะต้องช่วยกันสรุปบทเรียน หรือหาหนทางในการที่จะขจัดบรรดามรดกตกทอดของเผด็จการทั้งหลาย รวมไปถึงการใช้นิติสงครามเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง บรรดานักวิชาการ ครูบาอาจารย์ทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ทั้งหลายของประเทศนี้ ควรจะต้องสังคายนากันครั้งใหญ่ว่า ควรที่จะมีการเรียนการสอนวิชากฎหมายที่เป็นหลักการสากลกันต่อไปหรือไม่

เพราะหลักการต่าง ๆ ถูกทำลายอย่างย่อยยับด้วยกระบวนการตีความ กรณีของพิธากับการถือหุ้นไอทีวี บทสรุปจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องรอดูว่าจะจบลงแบบไหน แต่ที่สังคมจะต้องช่วยกันตรวจสอบและปล่อยผ่านไม่ได้คือมี ส.สที่ถือหุ้นไอทีวีเหมือนกันนั่นก็คือ จักรกฤษณ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 7 พรรคภูมิใจไทย ถือหุ้น 4 หมื่นหุ้นและบอกด้วยว่าเป็นของตัวเอง ไม่ได้ถือในฐานะผู้จัดการมรดกเหมือนหัวหน้าพรรคก้าวไกล

มีบรรทัดฐานไว้แล้วทั้งเรื่องมติชี้ขาด และระยะเวลาในการดำเนินการตรวจสอบ อุตส่าห์เปลี่ยนสโลแกน จาก“สุจริต เที่ยงธรรม และโปร่งใส” เป็น “สุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย” แล้วก็ต้องทำให้เป็นที่ประจักษ์ คงไม่อ้างว่ากฎหมายจะใช้กับคนที่ชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น (ฮา) การใช้ไสยศาสตร์ทางกฎหมายควบคู่กับเสียงของพวกลากตั้งในกระบวนการเลือกนายกฯ คงไม่จบที่พิธา การนัดหมายเพื่อเลือกใหม่ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ หากยังเป็น 8 พรรคเดิมแล้วเป็นแคนดิเดตของเพื่อไทยก็เชื่อว่าไม่น่าจะผ่าน

เมื่อเป้าหมายเพื่อกำจัดพิธาและก้าวไกลให้พ้นเส้นทางอำนาจฝ่ายบริหาร หมายความว่า หากพรรคอันดับสองต้องการที่จะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลต้องเปลี่ยนขั้วเพื่อให้ผ่านด่านพวกลากตั้ง ถ้าเปลี่ยนแล้วยังไม่ผ่านอีกก็หมายความว่า นี่คือหวยล็อกที่จะต้องพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.เท่านั้น ทุกอย่างจึงจะผ่านพ้นไปด้วยดี ส่วนสูตรที่ว่า 8 พรรคจะดึงพรรคอื่นมาเติมนั้นเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง เมื่อภูมิใจไทย พรรคสืบทอดอำนาจ และประชาธิปัตย์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันไม่เอาก้าวไกล

ต่อให้มีการประกาศเลิกแก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่มีการเปลี่ยนท่าทีเช่นนี้ เนื่องจากเวลานี้ทั้งพรรคอันดับ 3 และ 4 อยู่ในฐานะผู้กุมความได้เปรียบ สามารถที่จะยื่นเงื่อนไขต่อรองได้จากที่เคยถูกมองข้ามไปก่อนหน้านี้ เหตุที่มีการยืดเวลาโหวตนายกฯ รอบใหม่ไปเป็นพฤหัสบดีหน้าแทนที่จะเป็นวันพุธเพื่อให้เกิดการเจรจา แนวโน้มที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดก้าวไกลคงต้องไปจับมือกับรวมไทยสร้างชาติในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ตกผลึกจะเป็น เศรษฐา ทวีสิน หรือ พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. โอกาสที่ตาอยู่จะเบียดแทรกมานั้นยังมองไม่เห็น

Back to top button