วงจร ‘อุบาทว์’ ชาวนา

รายงานผลการศึกษาเรื่อง “10 ปีชาวนาไทย:จนเพิ่ม หนี้ท่วม” จัดทำโดยศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถือเป็นรายงานชิ้นเยี่ยม ที่กะเทาะปัญหาชาวนาไทยได้อย่างลึกซึ้ง


รายงานผลการศึกษาเรื่อง “10 ปีชาวนาไทย:จนเพิ่ม หนี้ท่วม” จัดทำโดยศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถือเป็นรายงานชิ้นเยี่ยม ที่กะเทาะปัญหาชาวนาไทยได้อย่างลึกซึ้ง และน่าเป็นห่วงในชะตากรรม “กระดูกสันหลังของชาติ” เป็นอย่างยิ่ง

“ข้าวไทยวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์คือมีต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ รายได้ต่ำ ทำให้ชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยหนี้มาจากการกู้ยืมสหกรณ์ สถาบันการเงิน ร้านขายปัจจัยการผลิต เมื่อขายผลผลิตได้แล้ว ก็เอาเงินไปใช้หนี้ แต่ไม่เพียงพอ “อาจารย์อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวและว่า

“ทางปลดหนี้ คือขายที่นาของตนเอง เอาเงินไปใช้หนี้ แล้วเช่าที่น่าของตนเองทำนาต่อ จากนั้นก็เข้าสู่วงจรอุบาทว์เหมือนเดิม ยิ่งทำนา ยิ่งหนี้เพิ่ม” พร้อมกับบทสรุปว่า ชาวนาไทยยากจนที่สุดในเอเชียและในอาเซียน เพราะมีต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูงมาก แต่ศักยภาพการผลิตต่ำที่สุด 

ผลผลิตต่อไร่ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา รายได้ก็ต่ำที่สุด และเงินเหลือในกระเป๋าติดลบ นอกจากนี้ ยังมีรายได้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ปลูกทุเรียน ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

ผลการศึกษาเปรียบเทียบในปี 2565 ทางด้านต้นทุนการผลิต/ไร่ของไทยอยู่ที่ 5,898 บาท เมียนมาอยู่ที่ 4,574 บาท เวียดนามอยู่ที่ 5,098 บาท ส่วนอินเดีย ต้นทุนอยู่ที่ 6,994 บาท

ด้านผลผลิตต่อไร่ คู่แข่งสำคัญเพิ่มผลผลิตหมด ส่วนของไทยผลผลิตลด มาอยู่ที่ 445 กก./ไร่ อินเดียเพิ่มมาเป็น 1,107 กก. เวียดนามเพิ่มเป็น 973 กก. และเมียนมาเพิ่มอยู่ที่ 664 กก.

ทางด้านรายได้พบว่า ชาวนาอินเดีย รายได้เพิ่มเป็น 11,116 บาท/ไร่ ชาวนาเวียดนามมีรายได้ 8,321 บาท/ไร่ และชาวนาเมียนมา มีรายได้ 5,953 บาท/ไร่

ส่วนชาวนาไทย รายได้ต่อไร่อยู่ที่ 3,600-4,500 บาท โหล่บ๊วยสุดกว่าชาวนาอินเดีย เวียดนาม และเมียนมาเสียอีก

ขณะที่ผู้ปลูกทุเรียน มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รายได้สูงสุดอยู่ที่ 33,531 บาท/ไร่ ตามด้วยปาล์มน้ำมัน 24,451 บาท/ไร่ และยางพารา มีรายได้ 11,367 บาท/ไร่

น่าตกใจนะครับ ชาวนาไทยที่เป็นประชากรกว่าร้อยละ 60 ของประเทศ ตกอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” ที่ต้นทุนสูง ผลผลิตต่ำ รายได้ก็ต่ำ และหนี้สินพอกพูน “ยิ่งทำนา ยิ่งมีหนี้เพิ่ม” ผมไม่ทราบว่า กรมการข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือสภาพัฒน์ฯ มีรายงานเช่นนี้อยู่หรือไม่

คงต้องหาทางแก้ไขเยียวยากระดูกสันหลังผุ ๆ อันเป็นประชากรฐานใหญ่ที่สุดของชาติโดยด่วนแล้วล่ะครับ

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้ขุด “จุดอับ” 10 ประการ เพื่อชี้ช่องการปรับปรุงแก้ไขเอาไว้ด้วย การแก้ปัญหาแหล่งน้ำ, เงินทุนสนับสนุนงานวิจัย, เลิกนโยบายแทรกแซงตลาดที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาข้าวแท้จริง และปรับปรุงคุณภาพข้าวไทยให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ ฯลฯ

ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่นำเสนอรายงานที่แหลมคมและโดนใจชิ้นนี้ ว่าแต่ว่า เมื่อไหร่จะมีรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาที่กองเต็มพรืดไปหมดสักทีล่ะ

Back to top button