พาราสาวะถี

เสร็จสิ้นตามพิธีกรรมไปเรียบร้อยกับการเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของพรรคก้าวไกล ตามคาด “ต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นชั้นจากเลขาธิการเป็นหัวหน้า


เสร็จสิ้นตามพิธีกรรมไปเรียบร้อยกับการเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของพรรคก้าวไกล ตามคาด “ต๋อม”ชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นชั้นจากเลขาธิการเป็นหัวหน้า ขณะที่แม่บ้านพรรคเป็นหน้าที่ของ “ปลัดติ๋ง” อภิชาติ ศิริสุนทร ขุนพลอีสานของพรรค ส่วน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นแท่นประธานที่ปรึกษาพรรค ที่ต้องติดตามคือ นี่เป็นการเลือกขัดตาทัพระหว่างที่พิธายังถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.เหมือนที่หัวหน้าพรรคคนใหม่ว่าไว้หรือเปล่า หากตัวจริงหลุดพ้นบ่วงกรรมจากคดีความแล้วยินดีที่จะคืนตำแหน่งให้

ไม่ใช่แค่เก้าอี้หัวหน้าพรรคแต่รวมถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ชัยธวัชจะต้องเข้าไปรับตำแหน่งนี้ด้วย ขณะที่พิธาก็บอกว่านี่คือหัวหน้าพรรคตัวจริงเสียงจริงที่จะนำพาก้าวไกลเดินหน้าต่อไปตามเส้นทางประชาธิปไตย และเชื่อว่าจะเป็นตัวเลือกที่ถูกใจของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะบรรดากลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามท่วงทำนอง จังหวะเคลื่อนของคณะผู้บริหารก้าวไกลชุดใหม่ แต่คงไม่แตกต่างจากเดิม

น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ งานแรกของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เป็นการตัดสินอนาคตของ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าจะยังคงให้ทำหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ต่อไปหรือไม่ หากไม่ไขก๊อก จำเป็นที่พรรคจะต้องขับให้เจ้าตัวไปอยู่พรรคการเมืองอื่น ซึ่งก็เป็นแท็คติกทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหากับดักทางกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาถ้าก้าวไกลจะขอเก็บทั้งเก้าอี้รองประธานสภาฯ และผู้นำฝ่ายค้านฯ เพราะเป็นสิทธิและช่องทางที่จะทำได้ ในฐานะพรรคที่ชนะเลือกตั้งแล้วต้องกลายไปเป็นฝ่ายค้าน

การให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติระหว่างการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาของ เศรษฐา ทวีสิน แทนที่จะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ดึงนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย หรือไม่เป็นการดูแลปากท้อง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน กลับเป็นไปจบประเด็นที่นายกฯ คนที่ 30 บอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเรื่องที่จะเชิญ ทักษิณ ชินวัตร มานั่งประธานที่ปรึกษาหลังพ้นโทษไปเสียฉิบ

วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะพวกจงเกลียดจงชังระบอบอุปโลกน์อย่างระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น สว.ขาประจำ และบรรดาแนวร่วมทั้งหลายต่างออกมาส่งเสียงค้านกันหน้าสลอน ร้อนถึงเศรษฐาต้องออกมาปฏิเสธถึงขนาดท้าให้สื่อไปถอดเทปให้สัมภาษณ์ไม่มีช่วงไหนที่พูดตามที่เป็นประเด็นพาดหัวกัน น่าคิดคือสื่อต่างชาติถามมาว่านายกฯ ของไทยจะปรึกษาทักษิณหรือเปล่า คำตอบก็คือถ้าเกิดเป็นเรื่องที่จำเป็นก็จะปรึกษา

ความจริงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร หากคนที่เป็นผู้นำประเทศปัจจุบันจะไปขอคำปรึกษาอดีตนายกฯ เพราะก่อนรับตำแหน่งเศรษฐาก็เข้าพบผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่กำลังจะกลายเป็นอดีตนายกฯ เป็นคนแรก จากนั้นจึงตามมาด้วยการไปขอคำปรึกษา อานันท์ ปันยารชุน ถึงบ้านพัก เช่นเดียวกับการเข้าพบ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ช่วงลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อธิบายกันขนาดนี้พวกที่จ้องจับผิด และกำลังคิดที่จะปลุกผีทักษิณมาหลอกหลอนต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปตามระเบียบ

ความจริงก็อ่านกันไม่ยาก หากดูถึงความเคลื่อนไหวในการพยายามที่จะโหมกระแสเรื่องการพักรักษาตัวของทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจ ไม่ใช่แค่พวกที่ไปยื่นข้อเรียกร้องตามสถานที่ต่าง ๆ หากแต่สื่อเลือกข้างที่สวมรอยว่าตัวเองเป็นสื่อกระแสก็โจมตีเรื่องนี้ ปั่นหัวได้แค่พวกกองเชียร์ไม่ลืมหูลืมตาเท่านั้น เมื่อทุกอย่างว่ากันไปตามกระบวนการ สิ่งสำคัญคือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามจะสงวนท่าทีที่จะพูดถึงกรณีนี้ ย่อมเข้าใจกันได้ว่าการดำเนินการนับตั้งแต่ทักษิณเดินทางกลับมาประเทศไทยนั้นเป็นมาเป็นไปอย่างไร

เว้นเสียแต่จะทำตัวมืดบอดทางความคิด ขณะเดียวกันกรณีนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งบททดสอบที่ต้องการจะสแกนหาพวกที่แอบอ้างในเรื่องของการปกป้อง แต่ความจริงแล้วเป็นการอาศัยสิ่งที่ไม่สมควรมาเคลื่อนไหว เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น อีกไม่นานคงได้เห็นการดำเนินคดีตามกฎหมายจากหน่วยงานด้านความมั่นคง อยู่ที่ว่าใครจะกล้าแสดงออกอย่างเปิดเผยและกล้าบ้าบิ่นเท่านั้นเอง ส่วนทักษิณและครอบครัวไม่ได้ใส่ใจกับพวกต่อต้านอีกต่อไปแล้ว

จะว่าไปการตีประเด็นเศรษฐาเตรียมตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษานั้น ก็ถือเป็นภาคต่อของการเชื่อมโยงที่มาของการได้เป็นนายกฯ ทิศทางการทำงานที่ถูกวิจารณ์มาตลอดว่าจะอยู่ภายใต้การครอบงำของอดีตนายกฯ และตระกูลชินวัตร ส่วนหนึ่งมองเช่นนั้นได้ในฐานะที่ผู้นำประเทศมาจากพรรคเพื่อไทย แต่คนที่ติดตามท่านผู้นำปัจจุบันมาต่อเนื่องก็จะเห็นจุดยืนทางการเมือง และความเป็นตัวตนของเศรษฐาได้เป็นอย่างดี อาจถ่อมตนที่ว่าเป็นมือใหม่หัดขับในรัฐบาลนี้ หากย้อนกลับไปดูการตอบการอภิปรายของฝ่ายค้านในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาแล้ว ชั้นเชิงทางการเมืองบอกเลยว่าไม่ธรรมดา

ยิ่งการได้คนระดับมันสมองอย่าง นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช มาเป็นเลขาธิการนายกฯ มี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกฯ มันคือการได้กุนซือทางการเมืองชั้นดีมาช่วยคิด วางแผน เสริมเขี้ยวเล็บทางการเมืองเป็นอย่างดี ไม่เพียงเท่านั้น แง่ของคนการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ยังเป็นมิตรกับเศรษฐาหลายรายก็ยินดีให้คำปรึกษาและชี้ช่องในทางการเมืองอยู่ไม่น้อย โจทย์สำคัญที่นายกฯ จะต้องแสดงออกถึงความจริงใจและทำให้เห็นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่โยนให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ ครม.ตั้งขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบ

กรอบเวลาที่จะดำเนินการ เมื่อคณะกรรมการที่มีภูมิธรรมเป็นประธานเป็นรูปเป็นร่างแล้วเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้เห็นกระบวนการทั้งหมดแล้วว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อระดมผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญมาสุมหัวกันแล้วต้องนำไปสู่การตกผลึกทางความคิดเพื่อแปรไปสู่การทำประชามติจนกระทั่งเลือก ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญได้ ส่วนเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วรัฐบาลจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งทันทีหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญถ้าทำได้ตามที่คนส่วนใหญ่ต้องการ ชี้แจงยังไงคนก็ยินดีรับฟัง

Back to top button