พาราสาวะถี

ปมร้อนเรื่องการจับกุมตำรวจ 8 นายลูกน้องคนสนิทของ “บิ๊กโจ๊ก” กำลังถูกจับตามองว่าเป็นเรื่อง “การเมืองภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หรือ “บริวารเป็นพิษ” กันแน่


ปมร้อนเรื่องการจับกุมตำรวจ 8 นายลูกน้องคนสนิทของ “บิ๊กโจ๊ก” พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. กำลังถูกจับตามองว่าเป็นเรื่อง “การเมืองภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หรือ “บริวารเป็นพิษ” กันแน่ แต่ชัดเจนแล้วว่าเรื่องนี้ พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ได้รับคำสั่งจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นคนนอกทั้งหมด เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม

หากเป็นเรื่องการเมืองภายในก็น่าคิด ทำไมต้องทำกันขนาดนั้น เมื่อบิ๊กโจ๊กยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องขึ้นเป็นใหญ่คุมวงการสีกากีเพราะอายุราชการยังเหลืออีกหลายปี ผู้ที่อาวุโสกว่าและมีชื่อเป็นตัวเต็งอยู่แล้วก็ไม่น่าจะต้องหวั่นไหวอะไร ดังนั้น หากวันนี้ (27 กันยายน) ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.ที่เศรษฐาจะนั่งหัวโต๊ะเคาะตำแหน่ง ผบ.ตร.เรียบร้อย ก็เป็นอันว่าตัดประเด็นการเมืองภายในทิ้งไปได้ จะเหลือก็แต่การดำเนินคดีกับตำรวจใกล้ชิดบิ๊กโจ๊กที่ต้องดูว่าข้อมูลการสืบสวนจะเอาผิดใครบ้าง

ที่แน่ ๆ การมีรูปร้องเพลงคู่ระหว่างบิ๊กโจ๊กกับ “มินนี่” สุชานันท์ หรือ ธนัยนันท์ ผู้ที่ถูกตั้งฉายาว่าเจ้าแม่เว็บพนันนั้น อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นการจงใจเพื่อให้เห็นว่ากระบวนการสืบสวนสอบสวน จนนำไปสู่การขอหมายค้นจากศาลบุกบ้านรอง ผบ.ตร.รายนี้มีน้ำหนักมากพอ แต่ไม่ได้หมายความว่าเจ้าตัวมีส่วนรู้เห็นเป็นใจในขบวนการดังกล่าว ถ้าดูตามเค้าโครงแล้วภาพดังกล่าวน่าจะเป็นการจัดงานของลูกน้องคนสนิทที่บิ๊กโจ๊กไว้ใจ โดยที่ตัวเองไม่ได้รู้จักมักคุ้นกับหญิงสาวรูปงามที่ขึ้นร้องเพลงคู่แต่อย่างใด

เมื่อย้อนกลับไปดูคดีที่ตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ PCT บุกเข้าจับกุมมินนี่จากการสืบสวนขยายผลเครือข่ายเว็บไซต์พนันออนไลน์ที่เคยมีการจับกุมทางภาคเหนือของ “บอสตาล” พงษ์ศิริ ฐาราชวงศ์ศึก ประธานทีมฟุตบอลลำพูนวอริเออร์ในไทยลีก 1 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น หนึ่งในหลักฐานที่เจ้าหน้าที่พบคือ ภาพคู่แบบแนบชิดของมินนี่กับ พันตำรวจเอก ภาคภูมิ พิสมัย รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ที่เป็น 1 ใน 8 ตำรวจที่ถูกออกหมายจับ

นายตำรวจรายนี้ก็คือลูกน้องคนสำคัญของบิ๊กโจ๊ก ซึ่งถูกดึงมาทำคดีกำนันนกด้วยนั่นเอง อันจะทำให้เห็นความเชื่อมโยงที่ขยับเข้าใกล้รอง ผบ.ตร.รายนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จึงเข้าข่ายบริวารเป็นพิษ ทีนี้ก็อยู่ที่กระบวนการสอบสวนตำรวจทั้งหมดจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ และมีการพาดพิงถึงใครหรือไม่ น่าลุ้นเหลือเกินว่าวิบากกรรมของบิ๊กโจ๊กจะจบลงตรงไหน จะเละเป็นโจ๊กหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาก็รอดจากการถูกกล่าวหาและตรวจสอบว่าด้วยการพัวพันกับพวกสีเทามาโดยตลอด

วนกลับเข้าสู่โหมดการเมืองเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในความดูแลของ ภูมิธรรม เวชยชัย จากที่เจ้าตัวเคยบอกว่าอยากพูดคุยเชิญ วิษณุ เครืองาม มาร่วมคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลตั้งขึ้นด้วยนั้น ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากเนติบริกรชั้นครูแล้วว่า ไม่ขอรับเก้าอี้ดังกล่าว ไม่อยากเอาตัวเองไปเป็นบุคคลสาธารณะอีก เพราะไม่ต้องการที่จะกลับไปอยู่ในวังวนของความขัดแย้งเหมือนที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจเผชิญมาตลอดระยะเวลากว่า 9 ปี

อย่างไรก็ดี เจ้าตัวก็ไม่ปฏิเสธหากจะมีการขอคำปรึกษาเป็นครั้งคราว เป็นคนวงนอกที่พร้อมจะให้ความเห็นได้ แต่แนวทางที่ให้สัมภาษณ์สื่อล่าสุดถือว่าน่ารับฟังไม่น้อย เสี่ยอ้วนวางโจทย์เบื้องต้นไว้ว่าถ้าจะต้องแก้ไขโดยทำประชามติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต้องทำ 3-4 รอบ นั่นหมายถึงงบประมาณที่จะใช้ต้องไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท ความเห็นของเนติบริกรศรีธนญชัยก็คือ เช่นนั้นควรจะเริ่มต้นแก้ไขที่มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ เปลี่ยนเป็นไม่ต้องทำประชามติ

เท่านี้ก็จะจบปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะต้องนำมาใช้ในการทำประชามติ เพียงแต่ว่าการจะแก้ไขดังกล่าว จะต้องผ่านความเห็นของ สว.ด้วย เมื่อการเมืองเปลี่ยนทิศไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำของเผด็จการสืบทอดอำนาจแล้วเสียงของพวกลากตั้งที่จะสนับสนุนจึงไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนโยบายของรัฐบาลที่เพื่อไทยเป็นแกนนำนั้นชัดเจนแล้วว่าไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่สภาสูงต้องการ

ความเห็นครั้งนี้ของวิษณุจึงน่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้คณะกรรมการซึ่งจะตั้งขึ้นจำนวน 30 คนมองเห็นทิศทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการตั้งวงถกคงจะมองเห็นช่องทางที่เปิดกว้างมากขึ้น ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจนั้น ผ่านการวางแผนกันมาอย่างไร ใครในรัฐบาลเผด็จการ คสช.และรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่รู้ไส้ในของกับดักต่าง ๆ เป็นอย่างดี คำแนะนำเช่นนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการสำนึกผิดที่มีส่วนร่วมในการทำให้กฎหมายสูงสุดของประเทศสร้างปัญหาในการพัฒนาประเทศ

เพียงแต่ว่าคำชี้แนะที่ว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไปทีละช็อตเพื่อไม่ต้องกังวลเรื่องการทำประชามตินั้น อาจจะไม่ตรงกับความต้องการของภาคประชาชนที่ร่วมลงชื่อ รวมทั้งขัดกับเงื่อนไขของพรรคการเมืองฝ่ายค้านโดยเฉพาะก้าวไกล ที่จะให้มีการแก้ไขทั้งฉบับและต้องมี ส.ส.ร.มาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น เว้นเสียแต่ว่าแนวทางที่รัฐบาลวางไว้คือรับฟังความเห็นทุกฝ่าย แต่ไม่ได้ทำตามทั้งหมด ขอเลือกที่สามารถแก้ไขได้ทันทีโดยไม่สนใจว่าจะเกิดความขัดแย้งหรือไม่ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

มาถึงเวลานี้ในส่วนของก้าวไกล หลายคนเริ่มสงสัยแล้วว่า จุดยืนและหลักการที่พรรคได้ประกาศไว้นั้น มันยังคงเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ นับตั้งแต่ปัญหาการเดินทางไปดูงานที่สิงคโปร์ของ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ซึ่งถูกมองว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับนโยบายที่พรรคต้นสังกัดได้หาเสียงไว้ มิหนำซ้ำ ยังมีปัญหาที่ปรึกษาโชว์กร่างล่าแม่มดคุกคามคนเห็นต่าง จนมาถึงประเด็นที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ประกาศเลิกวิจารณ์ให้ความเห็นต่อพรรคก้าวไกลอีกต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุด ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคยังได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “พูดมาโดยตลอดว่าอยากทำงานที่ตนเองถนัดและอยากทำ แต่ในเมื่อไม่มีพื้นที่ให้ทำ ก็คงต้องทบทวนตัวเองเหมือนกันว่าเราทำผิดพลาดสิ่งใด” เหมือนกับที่เคยตั้งข้อสังเกตบทสัมภาษณ์ของ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าคนใหม่ กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าที่ไม่สอดคล้องกัน มันจึงทำให้บรรดากองเชียร์เริ่มไม่แน่ใจกันแล้วว่า พรรคยังเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่และคนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ต่อไปหรือไม่

Back to top button