MTC คุณภาพสินทรัพย์เริ่มดีขึ้น

MTC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2566 มีกำไรสุทธิ 1,285.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.63% จากไตรมาส 3/2565 และขยายตัว 7.09% จากไตรมาส 2/2566


คุณค่าบริษัท

บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 1.รถยนต์ 33% 2.รถจักรยานยนต์ 34% 3.นาโนไฟแนนซ์ 11% 4.สินเชื่อบุคคล 10% 5.ที่ดิน 7% 6.รถแทรกเตอร์ 4% โครงสร้างรายได้ ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 1.รายได้ดอกเบี้ย 96.25% 2.รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ 3.46% 3.รายได้อื่น ๆ 0.30%

MTC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2566 มีกำไรสุทธิ 1,285.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.63% จากไตรมาส 3/2565 และขยายตัว 7.09% จากไตรมาส 2/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 1,200.10 ล้านบาท กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ที่แข็งแกร่ง โดยสินเชื่อขยายตัว 4% จากไตรมาส 2/2566 และ 21% จากไตรมาส 3/2565 แตะระดับ 1.37 แสนล้านบาท ขณะที่ NIM ลดลง 0.09% จากไตรมาส 2/2566 มาที่ 14.9% จากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบไตรมาส 3/2565 ที่ 45.2%

ในด้านบวก อัตราส่วน NPL ratio ปรับลดลง 0.19% จากไตรมาส 2/2566 มาอยู่ที่ 3.22% ในไตรมาส 3/2566 โดยตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 41% จากไตรมาส 3/2565 มาที่ 1.3 พันล้านบาท (ต้นทุนสินเชื่อ 3.9%) ในไตรมาส 3/2566 จาก 923 ล้านบาท (ต้นทุนสินเชื่อ 3.4%) ในไตรมาส 3/2565 จากการคำนวณของ บล.เมย์แบงก์ ระบุว่า การก่อตัวของ NPL ลดลงเหลือ 3.1% ในไตรมาส 3/2566 จากค่าเฉลี่ย 3.4% ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา

NPL ratio ลดลงจากไตรมาส 2/2566 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2563 หลังจากที่ MTC ตัดหนี้สูญ 1 พันล้านบาท ในไตรมาส 3/2566 ทำให้มองได้ว่าคุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่งมากขึ้น ผู้บริหารเผยว่าคุณภาพสินทรัพย์ดูมีเสถียรภาพมากขึ้นในเดือน ต.ค. 2566 และตั้งเป้าตัดหนี้สูญอีก 1 พันล้านบาท เพื่อคุม NPL ratio ให้ต่ำกว่า 3.5% ในไตรมาส 4/2566 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้มีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาสก่อน เนื่องจากเปิดสาขาใหม่ลดลงในไตรมาส 4/2566 เครือข่ายสาขาของ MTC ในไตรมาส 3/2566 มีมากถึง 7,365 แห่ง (เพิ่มขึ้น 105 สาขา จากไตรมาส 2/2566) เทียบกับเป้าหมาย 7,200 แห่งในปี 2566

ผู้บริหาร MTC มีมุมมองเชิงบวก หลังเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นมากของคุณภาพสินทรัพย์ในพอร์ตปัจจุบัน สะท้อนจากกลุ่มลูกหนี้ Stage 1 (ลูกหนี้ดี) เริ่มปรับตัวขึ้น ส่วนลูกหนี้ Stage 2 (ผิดนัดชำระ 30-60 วัน) ที่สูงขึ้นเป็น 9.8% จาก 9.6% ในไตรมาส 2/2566 ส่วนหนึ่งมาจากลูกหนี้ Stage 3 (NPL) กลับมาชำระค่างวดนาน 3 งวด ทำให้ถูกปรับชั้นหนี้ขึ้นเป็น Stage 2 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี ส่งผลให้คาดการตั้งสำรองของ MTC จะเริ่มปรับลงตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 เป็นต้นไป

ในปี 2567 MTC ตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อที่ 20% จากปี 2566 โดยเน้นที่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็นหลัก ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ (NPL สูงกว่า 10%) บริษัทจะปรับวิธีประเมินสินเชื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ด้าน บล.เมย์แบงก์ ระบุว่า ต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มสูงขึ้นแตะ 3.7-3.8% ในปี 2566 และ 4.0-4.2% ในปี 2567 จาก 3.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

ข้อมูลจาก Refinitiv Consensus สำหรับ MTC ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2566 ที่ 20,559.37 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 4,905.27 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 41.02 บาท จาก 16 โบรกเกอร์

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดผลดำเนินงานของ MTC จะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/2566 ทั้งจากไตรมาสก่อนและเทียบไตรมาส 4/2565 หลังคุณภาพสินทรัพย์มีพัฒนาการดีขึ้น และความต้องการสินเชื่อจำนำทะเบียนยังมีอยู่มาก ทำให้บริษัทมีช่องว่างในการขยายธุรกิจโดยไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพื่อแข่งกับผู้เล่นรายอื่น จึงคงคาดทั้งปี 2566 MTC จะมีกำไรสุทธิ 4,747 ล้านบาท ลดลง 6.8% จากปี 2565 และกลับมาโต 17.8% จากปี 2566 ในปี 2567 หลังการตั้งสำรองลดลง

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น MTC ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่ 44.50 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 20.13 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 17.95 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น MTC อยู่ที่ 3.08 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 1.74 เท่า

Back to top button