BYD อุ้ม (ลูก) สมายล์บัส.!

ระหว่างที่นั่งตบยุงรอกระบวนการปรับโครงสร้างใหม่ของ BYD เพื่อขึ้นสู่ “โฮลดิ้งคอมพานี” ภายใต้ชื่อ บมจ.บียอนด์ โฮลดิง หรือ Hold Co. อย่างเต็มตัว


ระหว่างที่นั่งตบยุงรอกระบวนการปรับโครงสร้างใหม่ของบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD เพื่อขึ้นสู่ “โฮลดิ้งคอมพานี” ภายใต้ชื่อ บริษัท บียอนด์ โฮลดิง จำกัด (มหาชน) หรือ Hold Co. อย่างเต็มตัว หนึ่งในธุรกรรมที่มีความเชื่อมโยงร่วมกัน ก็คือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB (มีสถานะเป็นหลานในไส้ ถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัทร่วมที่ชื่อบริษัท เอซ อิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ACE) วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อนำไปขยายการลงทุน…

ภายใต้เงื่อนไข BYD จะกำหนดวงเงินให้ “ไทย สมายล์ บัส” เป็นงวด ๆ ตามความจำเป็น จะคิดอัตราดอกเบี้ย 7.1% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี โดย “ไทย สมายล์ บัส” จะนำหุ้นบริษัทย่อยทางอ้อม 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทย สมายล์ โบ้ท จำกัด (จำนวน 45,847,998 หุ้น) และหุ้นบริษัท เบลี่ เซอร์วิส จำกัด (จำนวน 49,000 หุ้น) ที่บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “ไทย สมายล์ บัส”) ถืออยู่ทั้งหมดมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ความน่าสนใจของธุรกรรมนี้…ในมุม BYD ก็ได้ทำหน้าที่เป็นไฟแนนซ์ ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับอันดับแรก เป็นการบริหารจัดการเงินสดที่มีอยู่ในมือ ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 มีกว่า 1,362 ล้านบาท เลยทีเดียว

ถัดมาเป็นรายได้จากดอกเบี้ยที่ 7.1% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการนำไปฝากแบงก์เห็น ๆ…ถ้าลองกดเครื่องคิดเลขดู จะได้ดอกเบี้ยตกปีละ 71 ล้านบาท ปล่อยกู้ 3 ปี ก็รับดอกเบี้ยไปเหนาะ ๆ 213 ล้านบาท…อันนี้เป็นประโยชน์ทางตรง

แต่ไม่หมดเท่านี้ เพราะ BYD ยังได้ประโยชน์ทางอ้อม เนื่องจากเมื่อ “ไทย สมายล์ บัส” ได้เงินมาแล้ว ก็นำไปจ่ายค่ารับรถเมล์ไฟฟ้า มีรถมาวิ่งให้บริการมากขึ้น ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อ “ไทย สมายล์ บัส” มีรายได้เพิ่มขึ้น BYD ก็จะรับรู้รายได้และกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นมากขึ้นนั่นเอง

ส่วนในมุม “ไทย สมายล์ บัส” อันดับแรก จะได้เงินมาลงทุนขยายกิจการ ไม่ว่าจะเป็นจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า ตลอดจนลงทุนในอู่จอดรถ ระบบในการควบคุมและบริหารการเดินรถ เป็นต้น โดยในระยะอันใกล้มีแผนจะจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 1,083 คัน ให้ได้ตามเป้าหมาย 3,100 คัน

ที่สำคัญ ไม่ต้องไปเหนื่อยกับการทำโปรเจกต์ไฟแนนซ์ขอกู้เงินแบงก์ด้วยวงเงินที่สูง 1,000 ล้านบาท ก็น่าจะมีเงื่อนไขที่ยุ่งยาก การหันมากู้เงินแม่ เงื่อนไขน่าจะผ่อนปรนกว่า หากมีเงินก้อนก็สามารถนำมาคืนทั้งต้นและดอกเบี้ยได้ก่อน ไม่ผูกมัดเหมือนการกู้เงินแบงก์…

ขณะที่ มีอีกกลุ่มที่จะพลอยได้ประโยชน์จากธุรรรมนี้ไปด้วย นั่นคือบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ  BYD และ NEX ซึ่งอยู่บนสุดของห่วงโซ่อุปทานนี้…

เอาเข้าจริง เงินที่ปล่อยกู้ไปไม่ได้หายไปไหนหรอก แต่วนลูปอยู่ภายในกลุ่มนั่นแหละ…

งานนี้จะเรียกว่า “อัฐตาซื้อขนมยาย” หรือ “อัฐยายซื้อขนมตา” ก็แล้วแต่จะคิด

อ้อ…มีอีกธุรกรรมที่ซ่อนอยู่ คือการยืดหนี้ให้กับ “ไทย สมายล์ บัส” ซึ่งเป็นวงเงินที่ปล่อยกู้ไป 8,550 ล้านบาท เมื่อเดือน ก.ย. 2565 โดยไม่คิดดอกเบี้ยออกไปอีก 3 ปี 3 เดือน โดย “ไทย สมายล์ บัส” จะกลับมาชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกินวันที่ 31 ม.ค. 2570

กลายเป็นว่า BYD กระเตง “ไทย สมายล์ บัส” นะเนี่ย..!?

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องรอให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 30 ม.ค. 2567 ไฟเขียวซะก่อน…ก็ว่ากันไป

แต่เอ๊ะ…ปกติเวลาแม่ปล่อยกู้ให้ลูก มักจะคิดดอกเบี้ยไม่แพง ที่เคยเห็น 2-3% ต่อปีเท่านั้น แต่ทำไม BYD ปล่อยกู้ให้หลาน “ไทย สมายล์ บัส” คิดดอกเบี้ยแพงจัง โขกดอกเบี้ยไปตั้ง 7.1% ต่อปี

เดี๋ยวเค้าจะหาว่า BYD เป็นย่าใจยักษ์ หรือนายทุนหน้าเลือดเอาได้นะเธอ..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button