ปตท.กับวิบากกรรม Shortfall

การประชุม ครม. (19 ธ.ค. 66) ที่ผ่านมา มีมติลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน โดยเฉพาะมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า และมีมติให้ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 19 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา มีมติลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน โดยเฉพาะมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า และมีมติให้ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 13 ธ.ค. 66

พร้อมมอบหมายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสม (AF) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไปพลางก่อน

ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จะมีการทบทวนสมมติฐานปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมีการนำส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติ 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของผู้ผลิต (Shortfall) ช่วงระหว่างปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 เพื่อนำมาช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติรอบนี้ด้วย

เท่ากับว่าปตท.ต้องจ่ายค่า Shortfall ให้กกพ.ภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อให้ค่าไฟฟ้ารอบใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 67) ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย.!!

นั่นจึงเป็นเหตุให้การประชุมคณะกรรมการปตท.วันที่ 21 ธ.ค.นี้ จะมีการนำเรื่อง Shortfall เข้าสู่วาระพิจารณาเป็นการเร่งด่วน..!!

ช่วงปลายปี 2565 กพช.มีมติขอความร่วมมือจากปตท.ให้พิจารณาจัดสรรรายได้ จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. 66) รวม 6,000 ล้านบาท มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้ามาครั้งหนึ่งแล้ว..!!

เบ็ดเสร็จแล้ว..ปตท.ร่วมสบทบทุนช่วยเหลือค่าไฟฟ้าทั้ง 2 รอบ มูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท

ว่าด้วยเรื่องค่า Shortfall เริ่มจากช่วงต้นปี 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ส่งหนังสือถึงปตท. เพื่อให้คืนเงิน Shortfall จำนวน 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (ช่วงปลายปี 2564-ต้นปี 2565)

โดยเงิน Shortfall คือเงินที่ผู้ขายผิดสัญญาไม่สามารถส่งก๊าซฯ ให้ผู้ซื้อได้ตามกำหนดให้ส่งก๊าซฯ ช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง ภายใต้สัญญา DCQ (Daily Contract Quantity) จะถูกลงโทษโดยส่งมอบก๊าซส่วนที่ขาดในภายหลังด้วยราคาที่ลดลง

กรณีนี้ก็คือ “แหล่งผลิตก๊าซเอราวัณ” ที่ดำเนินการโดยเชฟรอน ไม่สามารถจัดส่งก๊าซได้ตามสัญญา ทำให้ช่วงปลายสัญญาหรือประมาณกลางปี 2564-23 เม.ย. 65 มีการเปลี่ยนผู้ดำเนินการจากเชฟรอน มาเป็นบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP

โดยกำหนดให้ส่งมอบก๊าซประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่เนื่องจาก PTTEP (ผู้รับสัมปทานใหม่) เข้าพื้นที่ล่าช้า 2 ปี ทำให้ไม่สามารถติดตั้งแท่นและผลิตก๊าซเพื่อส่งมอบได้ตามแผนดังกล่าว

หากถามว่าต้นตอที่ทำให้ PTTEP เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ล่าช้าถึง 2 ปี เป็นเพราะเหตุอะไรและหน่วยงานใดที่ทำให้เกิดปัญหา..เรื่องคนในแวดวงพลังงานต่างรู้เห็นกันดีอยู่..คงไม่ต้องสาธยายให้เจ็บคอ..!!

เอาเถอะมาถึงชั่วโมงนี้ปตท.กำลังเผชิญวิบากกรรม Shortfall มูลค่า 4,300 ล้านบาท ที่สุดท้ายแล้วเชื่อว่าบอร์ดปตท.คงมิอาจขัดขืนมติครม.ได้ เฉกเช่นเดียวกับที่จำใจเจียดรายได้ 6,000 ล้านบาท จากโรงแยกก๊าซฯ มาอุ้มค่าไฟแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา

แต่ดูแล้ว “วิบากกรรมปตท.ว่าด้วยเรื่องก๊าซธรรมชาติ” ยังไม่จบแค่นี้..แต่จะเป็นรูปแบบไหน..เดี๋ยวได้รู้กัน..!?

Back to top button