พาราสาวะถี

10 โมงเช้าวันนี้ ที่โรงพยาบาลตำรวจ คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร จะยกโขยงไปศึกษาดูงานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรณีการรับผู้ต้องขังจากกรมราชทัณฑ์มารักษาพยาบาล ความจริงเป้าหมายก็คือ การไปตรวจสอบว่า ทักษิณ ชินวัตร นอนพักรักษาอาการป่วยตามที่เป็นข่าวหรือไม่


10 โมงเช้าวันนี้ (12 มกราคม) ที่ชั้น 6 อาคารศรียานนท์ โรงพยาบาลตำรวจ คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธาน จะยกโขยงไปศึกษาดูงานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรณีการรับผู้ต้องขังจากกรมราชทัณฑ์มารักษาพยาบาล ความจริงเป้าหมายก็คือ การไปตรวจสอบว่า ทักษิณ ชินวัตร นอนพักรักษาอาการป่วยที่ชั้น 14 ตามที่เป็นข่าวหรือไม่ เหตุผลอื่น ๆ แค่นำมาประกอบเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าจับผิดแบบเฉพาะเจาะจงเท่านั้น

มีคำตอบมาแล้วไม่รู้ว่ายังอยากจะไปดูงานกันอีกหรือไม่ พันตำรวจเอกหญิง ศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ แถลงว่า การเข้ามาศึกษาดูงานจะต้องไม่กระทบการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่กระทบสิทธิ์หรือละเมิดสิทธิ์ของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ และไม่ทำความเสียหายให้โรงพยาบาล ส่วนที่ทักษิณรักษาตัวอยู่ชั้น 14  อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ไม่สามารถขึ้นไปดูได้ เพราะการจะไปดูผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกฯ หรือผู้ป่วยรายอื่นโรงพยาบาลตำรวจคงไม่อนุญาต

ไม่เพียงเท่านั้น ปมการรักษาตัวเกิน 120 วันของทักษิณ กรมราชทัณฑ์ได้มีหนังสือชี้แจงออกมาแล้ว โดยสรุปคือ อดีตนายกฯ ได้ออกไปรับการรักษาตัวยังโรงพยาบาลตำรวจเกินระยะเวลา 120 วัน โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรับทราบถึงอาการป่วยของทักษิณ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมแจ้งความเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ให้ทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที ว่ากันตามกฎหมายแบบนี้พวกที่ไล่บี้จะไปต่อกันยังไง

ความจริงประเด็นทักษิณหากฝ่ายค้านโดยเฉพาะประชาธิปัตย์หวังจะหาคะแนนนิยมก็จะได้แต่พวกสลิ่มสุดโต่ง กับพวกเกลียดระบอบอุปโลกน์อย่างระบอบทักษิณหัวปักหัวปำเท่านั้น คนรุ่นใหม่ไม่ได้แยแสต่อเรื่องพรรค์นี้ อาจจะมีแซะบ้างจากพรรคก้าวไกล แต่เมื่อเห็นว่าไม่มีเสียงตอบรับจากฝ่ายสนับสนุน จึงเงียบไป ความจริงก็มีตัวอย่างให้เห็นมาตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เวลาจวนตัวพวกเผด็จการสืบทอดอำนาจมักจะขุดเอาผีทักษิณมาหลอกหลอนซึ่งก็ไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจแต่อย่างใด

การเมืองในยุคที่ประชาชนรับรู้ข่าวสารทุกทิศทุกทาง จึงแข่งขันกันด้วยผลงาน และการนำเสนอสิ่งที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม เราจึงได้เห็นทั้งการประสานมือและขบเหลี่ยมกันไปคราวเดียวกันระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล กรณีการเสนอกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก่อนหน้านั้นผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจนผ่านวาระแรกไปได้อย่างสวยงาม แต่ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่สภาฯ พิจารณากันไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมากลับไม่มีร่างของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน

จึงได้เห็นการประสานเสียงจากพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง ก้าวไกลและประชาธิปัตย์ ครั้งแรกเรียกร้องให้นายกฯ ลงนามร่างกฎหมายของพรรคแกนนำฝ่านค้าน ทำให้ จักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมืองต้องชี้แจงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติที่นำร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด รวม 4 ร่าง คือ ฉบับ ครม.ที่นำเสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับของพรรคเพื่อไทย ฉบับของพรรคภูมิใจไทย และฉบับของภาคประชาชน 22,000 รายชื่อ เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ

นอกจากนั้น ยังมีอีก 2 ร่างที่เสนอประกบคือ ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ และร่างของพรรคพลังประชารัฐ ส่วนร่างของพรรคก้าวไกลที่นายกฯ ไม่เซ็น ทำให้ไม่สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระเพื่อพิจารณาได้นั้น ยืนยันว่าประเด็นไม่ได้อยู่ในเนื้อความหรือสาระในร่างกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของไทม์ไลน์ และขั้นตอนของการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมหยอดคำหวานว่า “เรามีอุดมการณ์จุดมุ่งหมายเดียวกัน” อย่างไรก็ตาม เศรษฐาได้เซ็นร่างกฎหมายของก้าวไกลจากเชียงใหม่ส่งบรรจุเป็นวาระได้ทันการพิจารณาของสภาฯ แบบใจหายใจคว่ำ

ความจริงหากจับท่าทีของเศรษฐาตั้งแต่รับตำแหน่งผู้นำประเทศ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเป็นคนที่พร้อมจะรับฟังความเห็นต่าง กล้าที่จะแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เหมือนกรณีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ตอนนี้เรื่องออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทน่าจะไม่มีปัญหา แต่เจอตอใหญ่คือ การไม่เห็นด้วยของ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ซึ่งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก็ได้มีการนัดคุยกัน โดยที่นายกฯ ยืนยันว่า ไม่ได้มีการถกกันเรื่องเศรษฐกิจของประเทศวิกฤตหรือไม่

คุยกันเรื่องเศรษฐกิจโดยภาพรวมมากกว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลวอลเล็ต ตนไม่มีทางที่จะคุยในที่มืด ต้องพูดคุยในคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่จะไปถกเถียงกันให้เป็นที่ประจักษ์ว่าใครคิดอย่างไร และตนคิดอย่างไร ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะในคณะกรรมการชุดนี้จะมีตัวแทนจากทุกฝ่าย การแสดงความเห็นเป็นภาพสะท้อนว่า แต่ละคนมีทัศนคติ วิสัยทัศน์อย่างไรต่อปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเวลานี้ และจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร

ท่วงทำนองเช่นนี้ของแบงก์ชาติ ทำให้นึกถึงบทความของ วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกฯ และอดีตประธานคณะกรรมการ ธปท.ผู้ล่วงลับ ที่เคยเขียนไว้เมื่อปี 2563 ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเจ้าเดิม ยังจะเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ สาเหตุพื้นฐานของระบบการเงินของบ้านเราก็คือ การปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระเกินไปจนไม่มีการถ่วงดุล หรือ check and balance ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างขององค์กรนี้ น่าสนใจว่าเศรษฐาจะจัดการกับตอชิ้นใหญ่นี้อย่างไร

Back to top button