พาราสาวะถี

สัปดาห์นี้เห็นการขยับของ เศรษฐา ทวีสินแล้ว ก็ทำให้เห็นว่ากระบวนการทางการเมืองในเรื่องของการเดินหน้านโยบายสำคัญอย่างดิจิทัลวอลเล็ตนั้น พร้อมที่จะไปต่อแน่นอน


สัปดาห์นี้เห็นการขยับของ เศรษฐา ทวีสิน ร่วมกับฝ่ายบริหารคือ รัฐบาล กับ พรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ก็ทำให้เห็นว่ากระบวนการทางการเมืองในเรื่องของการเดินหน้านโยบายสำคัญอย่างดิจิทัลวอลเล็ตนั้น พร้อมที่จะไปต่อแน่นอน เริ่มจาก พรุ่งนี้ (13 กุมภาพันธ์) พรรคร่วมรัฐบาลจัดงานเลี้ยงรับประทานอาหารร่วมกันที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท หนนี้ไม่ได้มีแค่ระดับหัวหน้าพรรคและแกนนำรัฐบาลเท่านั้น แต่รวมไปถึง สส. และข้าราชการการเมืองทั้งหมดด้วย

นั่นหมายความว่า จะเป็นระดับนำของพรรคร่วมทั้งหมดที่ทำงานอยู่ในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ มาพบปะ ทำความรู้จักกัน ซึ่งก็คือการส่งสัญญาณว่า งานทั้งสองฝ่ายจะเดินไปพร้อมกันในทุกเรื่องที่ถือเป็นพันธะสัญญาร่วมระหว่างกัน ดังนั้น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่ถือเป็นหัวใจหลักของพรรคเพื่อไทยก็ต้องไม่สะดุดหยุดลงด้วยเสียงทักท้วงจากพวกขาประจำ ทำให้มองต่อไปได้ว่าการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นั้น น่าจะได้เห็นความชัดเจนมากขึ้น

ฟังจากเศรษฐาให้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช.มาถึงมือแล้ว และจะนำเข้าสู่การหารือของคณะกรรมการในวันดังกล่าวด้วย ภาพที่จะได้เห็นคงหนีไม่พ้นการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด หนึ่งคือดูแลเรื่องการป้องกันการทุจริตในโครงการ อีกชุดจะเป็นชุดเฉพาะกิจที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายอีกรอบหนึ่งเพื่อความรอบคอบ ทั้งที่ความจริงในคณะกรรมการชุดใหญ่ตัวแทนก็แทบจะครอบคลุมอยู่แล้ว ก็น่าจะมีบทสรุปในส่วนนี้ได้เลย

แต่เพื่อความรอบคอบและลดข้อครหา เศรษฐาจึงอยากจะให้มีกระบวนการเพื่อนำไปสู่บทสรุปที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนที่จะดำเนินโครงการ ยืนยันแล้วว่า กลุ่มเป้าหมายโครงการไม่ลด เม็ดเงินก็จะยังคงอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท โดยแหล่งเงินที่จะนำไปใช้ในการขับเคลื่อนโครงการยังคงเป็นไปตามแผนเดิมคือออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงิน ส่วนนี้ในการนัดรับประทานอาหารของพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะได้สื่อสารให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกันอีกครั้ง

จะเป็นการตอกย้ำยืนยันว่า นโยบายสำคัญที่จะดำเนินการครั้งนี้ไม่ใช่ในนามของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล มีเป้าหมายคือกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับประโยชน์ เรื่องของกฎหมายนั้นเมื่อฟังจากข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.แล้ว ก็จะเห็นว่าเป็นการทักท้วงบนความเชื่อและการคาดการณ์ที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการของรัฐบาล ดังนั้น เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ขั้นตอน และมีการวางแผนในการป้องกันการทุจริต ย่อมเป็นไปตามกฎหมาย จึงไม่ใช่สิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องกังวล

เช่นเดียวกันกับประเด็นที่ว่า นโยบายดังกล่าวไม่เป็นไปตามการหาเสียงที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศไว้ว่าจะไม่กู้เงินมาดำเนินโครงการ หากเป็นรัฐบาลพรรคเดียวก็อาจเข้าข่ายนโยบายไม่ตรงปก สุ่มเสี่ยงที่จะถูกเล่นงานจาก กกต.ได้ แต่เมื่อเป็นรัฐบาลพรรคร่วมหลายพรรค ย่อมมีเหตุให้อธิบายได้ว่าไม่ได้เป็นการใช้นโยบายจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นการปรึกษาหารือและมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะดำเนินการนโยบายนั้นอย่างไร

เป็นไปตามที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังบอก ตอนที่ทำนโยบายทุกนโยบายเมื่อเขียนส่งต่อ กกต.จะมีการกำหนดว่า ทั้งนี้ขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม เพราะเมื่อความเหมาะสมเปลี่ยนไป มีความจำเป็นต้องเปลี่ยน และนี่ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง เป็นนโยบายของรัฐบาล รัฐบาลประกอบขึ้นจากพรรคการเมืองหลายพรรค เมื่อมีการหารือตกลงกันแล้วมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม จะยึดเอานโยบายพรรคใดพรรคหนึ่งทั้งหมดเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ต้องผสมผสานกันทั้งหมดเพื่อหาความลงตัวที่สุดและเดินหน้าได้

ไม่ใช่เรื่องการเดินเกมแบบศรีธนญชัย แต่กระบวนการแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติทางการเมือง คำว่ารัฐบาลผสมคือต้องประสานเอานโยบายทุกอย่างเข้าด้วยกัน ส่วนไหนที่เป็นประโยชน์และจำเป็นมากที่สุดก็ต้องดำเนินการก่อน กรณีนี้เมื่อเห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจหนักหน่วงที่สุด รัฐบาลจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการขับเคลื่อนก็จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ หากการดำเนินการเกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่และทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ย่อมเป็นโจทย์ยากต่อการตัดสินใจที่องค์กรดูแลเรื่องการเลือกตั้งจะเอาผิด

ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐาและคณะกล้าที่จะเดินหน้า ทั้งที่มีเสียงทักท้วงจาก ป.ป.ช. รวมไปถึงความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องเศรษฐกิจไม่วิกฤตด้วยนั้น เพราะได้รับทางสะดวกจากกลุ่มที่ทรงพลังเหนือการเมือง จะเห็นได้จากกระแสเคลื่อนไหวต่อกรณีการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องติดตามกันว่าหลังจากวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้จะได้รับการพักโทษปล่อยตัวกลับบ้านหรือไม่

หากเป็นสถานการณ์ไม่ปกติคือยังมีขบวนการต่อต้านระบอบอุปโลกน์อย่างระบอบทักษิณที่แข็งแรง คงจะมีม็อบใหญ่เคลื่อนไหวกันหนักหน่วงไปแล้ว เช่นเดียวกับบรรดาชนชั้นนำทั้งหลายที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อกันต่างก็จะดาหน้าออกมาโจมตีเพื่อปลุกกระแสลุกฮือ หนนี้กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลกนับแต่อดีตนายกฯ เดินทางกลับมารับโทษ ถูกคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่กี่ชั่วโมง ก่อนจะถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ จนเวลาล่วงเลยมาถึงทุกวันนี้ แรงกระเพื่อมที่รุนแรงกลับไม่มีให้เห็น

นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า การเดินทางกลับบ้านเกิดของทักษิณ กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลพลิกขั้วที่มีการประกาศหัวใจหลักคือการก้าวข้ามความขัดแย้ง มีเศรษฐาเป็นนายกฯ ที่ก้มหน้าก้มตาทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยโดยไม่สนใจที่จะตอบโต้ทางการเมือง ได้ผ่านกระบวนการจัดวางเพื่อให้การเมืองเป็นการเมืองที่อยู่ในระบบอย่างแท้จริง แม้จะได้เห็นแอ็กชันของบางองค์กรที่ดูเหมือนว่าจะขยายอำนาจ ล้ำเส้นอำนาจที่ตัวเองมีไปอยู่บ้าง แต่สุดท้าย ทุกอย่างก็จะสงบ เรียบร้อย รัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อไปโดยมีข้อแม้ประการเดียวคือต้องไม่สะดุดขาตัวเอง

Back to top button