พาราสาวะถี

ประเทศไทยหากจะหาสาเหตุของความไม่เจริญในหลาย ๆ เรื่อง คงบอกได้เต็มปากว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่น่าจะใช่ต้นตอของการฉุดความก้าวหน้าทั้งของประชาชนและบ้านเมือง


ประเทศไทยหากจะหาสาเหตุของความไม่เจริญในหลาย ๆ เรื่อง คงบอกได้เต็มปากว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่น่าจะใช่ต้นตอของการฉุดความก้าวหน้าทั้งของประชาชนและบ้านเมือง แต่มีพวกตัวถ่วงที่คอยเตะตัดขา ใช้สถานะที่มีคอยชี้แนะในทิศทางที่เห็นต่างจากฝ่ายบริหารที่ตัวเองและพรรคพวกไม่ได้ให้การสนับสนุน ดูเหมือนจะเป็นผู้มีความรู้ เข้าใจในทุกเรื่อง แต่ก็ตัดตอนเอาเฉพาะเรื่องที่คิดว่าสามารถดิสเครดิตฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบเท่านั้นมานำเสนอ 

เหมือนกรณีล่าสุดที่ เศรษฐา ทวีสิน ได้โพสต์ข้อความพร้อมแนบคอลัมน์ข่าวที่เขียนถึงการจัดงานคอนเสิร์ตระดับโลกในไทยถึง 2 คอนเสิร์ต และมีคนไทยยอมจ่ายเงินหลักหมื่นเพื่อไปดูคอนเสิร์ตสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจไทยกว่า 5,000 ล้านบาทสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤตอย่างที่รัฐบาลพูด โดยเจ้าตัวมองว่า การมีคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลกมาจัดที่เมืองไทยคือตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจไม่วิกฤต คนที่พูดแบบนี้ ถ้าไม่ได้พูดเพราะอคติ ก็พูดเพราะมองเรื่องเศรษฐกิจฉาบฉวยเกินไป

ความจริงไม่ใช่เป็นการมองอย่างฉาบฉวย แต่เป็นเจตนาที่ต้องการจะยกเอาเรื่องแบบนี้มาด้อยค่า ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมากกว่า หากเป็นภาษาข่าวก็ต้องบอกว่าเลือกที่จะนำเสนอความจริงไม่ถึงครึ่งหนึ่งเสียด้วยซ้ำ เป็นความจริงเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ตามที่เศรษฐาอธิบายต่อมานั่นแหละ กลุ่มคนไทยที่มีกำลังซื้อเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ จุดนี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ความมั่งคั่งที่กระจุกตัวอยู่ และเป็นปัญหาที่รัฐบาลและตนพูดมาโดยตลอดว่าต้องแก้ไข

ประเด็นความเหลื่อมล้ำและแบ่งชั้นวรรณะนั้น พวกอนุรักษนิยมสุดโต่งส่วนใหญ่จะมีสันดานในลักษณะนี้ หากยึดตรรกะแบบนี้ก็ต้องเรียกว่าพวกตรรกะวิบัติ ถามว่าพวกที่มีปัญญาไปดูคอนเสิร์ตระดับนั้นคือคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่ เศรษฐาฉายให้เห็นภาพชัดเป็นเพียงคนแค่ 1% ของประเทศที่ไม่เดือดร้อนเท่านั้น แล้วจะมาอ้างว่านี่คือหลักฐานว่าเศรษฐกิจไม่ได้วิกฤตได้อย่างไร เท่ากับว่าไม่ได้แหกตาดูว่าสภาพของคนอีก 99% เป็นอยู่กันอย่างไร

ต้องชื่นชมเศรษฐาที่พยายามอธิบายต่อว่า รัฐบาลจะกระจายความมั่งคั่งออกไปสู่ประชาชนในวงกว้างที่สุดได้ ขนาดเศรษฐกิจต้องใหญ่กว่านี้ และนี่คือสิ่งที่ตนบอกว่าประเทศมีวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากจีดีพีไม่โตและถดถอยต่อเนื่องมา 10 ปี หนี้ครัวเรือนสูง หนี้นอกระบบคือวิกฤตของชาติ พวกที่อิงแอบกับอำนาจเผด็จการและขบวนการสืบทอดอำนาจย่อมไม่ได้รู้สึกรู้สากับสถานการณ์อันแสนสาหัสเหล่านี้ เพราะสวาปามกันมาเต็มคราบ เสวยสุขกันมากจนส่งผลต่อความคิดความอ่านกลายเป็นความมืดบอดทางปัญญา

ความจริงตัวอย่างของพวกที่ใช้อคติตัดสิน ชี้นำสังคมนั้น มีมาโดยตลอด การอ้างข้อเสนอแนะแต่สังคมส่วนใหญ่มองว่าเป็นการล้ำเส้น แสดงอำนาจเกินขอบเขต เหมือนกรณีคำวินิจฉัยของอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายหนึ่งในคดีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลเวลานั้นถูกร้องกรณีการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง ไม่คิดว่าจะได้ยินวาทกรรมจากปากของผู้ที่ได้ชื่อว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้รอถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อนค่อยทำรถไฟความเร็วสูง 

กระทั่งเกิดการรัฐประหารของเผด็จการ คสช. แล้วมีการเดินหน้ารถไฟความเร็วสูง แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าอดสูกว่าสิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นจะทำ ทั้งเรื่องของต้นทุนที่แพงขึ้น และการลงมือทำที่จนป่านนี้ทำกันไปได้แค่ 3.5 กิโลเมตร เจ้าของความเห็นเฮงซวยดังว่าไม่ยักรู้สึกรู้สาอะไร มิหนำซ้ำ ยังทำตัวเป็นทาสรับใช้อำนาจเผด็จการอย่างเต็มใจ นี่คือตัวอย่างความอัปยศของพวกอนุรักษนิยมสุดโต่ง ที่เลือกจะแสดงความเห็นหรือใช้สถานะที่มีทำลายฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบขี้หน้า หาได้ยึดโยงหลักการ และความถูกต้องใด ๆ ไม่

จากประสบการณ์ของผู้ถูกกระทำมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ไทยรักไทยจนกระทั่งถึงเพื่อไทยยุคยิ่งลักษณ์ ทำให้พรรคแกนนำรัฐบาลเวลานี้เรียนรู้ที่จะขับเคลื่อนแต่ละนโยบายด้วยความระมัดระวัง กรณีดิจิทัลวอลเล็ตเศรษฐาจึงย้ำว่าเหตุผลที่ช้าเพราะต้องฟังความรอบด้าน ต้องทำให้ทุกฝ่ายสบายใจมากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ รัฐบาลพยายามรับฟังแล้ว พยายามแก้ปัญหา และอธิบายแล้ว ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในวันพรุ่งนี้ (15 กุมภาพันธ์) ถ้าจับใจความจากที่นายกฯ ส่งสัญญาณอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจน แต่จะเป็นการให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็น และพูดมาให้หมด เพื่อประกอบการตัดสินใจ

หลังจากนั้นก็จะมีการนัดหมายประชุมกันอีกรอบ ซึ่งน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์เพื่อเคาะแนวทางดำเนินการ เพราะ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลังยืนยันแล้วว่า ร่างพระราชบัญญัติกู้เงินนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีเพียงแค่ 7-8 มาตรา หมายความว่า การประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่หนนี้จะเป็นการรับฟังความเห็นครั้งสุดท้าย แยกแยะส่วนที่เห็นต่างว่ามาจากฝ่ายไหน อย่างไร สิ่งไหนที่จะนำไปปรับแก้ ทำตาม หรือส่วนไหนที่ไม่จำเป็นต้องทำตาม ภายใต้เรือธงที่ว่าเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตเต็มสูบ

ขณะเดียวกัน เพื่อที่จะไม่ให้ถูกฝ่ายค้านหรือฝ่ายต่อต้านโจมตีในประเด็นรัฐบาลมุ่งแต่นโยบายนี้อย่างเดียว ไม่ได้มีแผนอื่นมารองรับ จึงได้เห็นแอ็กชันของเศรษฐาเรียกหารือคณะทำงานด้านเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นจุลพันธ์ในฐานะรัฐมนตรีช่วยคลัง นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หม่อมหลวงชโยธิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกฯ เน้นเรื่องการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ถึงงานที่ได้ทำไปแล้วเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่กำลังเดินหน้าบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ผลงานด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะวีซ่าฟรีจีน-ไทยที่กำลังก่อมรรคผล การแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ รวมไปถึงปัญหายาเสพติด ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะมาขมวดปมถึงความจำเป็นที่จะต้องเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพราะสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีปัญหา กลไกในการขับเคลื่อนเพื่อการเติบโตมีเพียงเรื่องท่องเที่ยวซึ่งไม่เพียงพอแม้รัฐบาลจะทำเต็มที่แล้ว อย่างที่บอกลำพังความตั้งใจอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพียงอย่างเดียวไม่พอ มันต้องมีแรงหนุนทั้งจากประชาชน และฝ่ายที่มีพลังเหนือกว่าฝ่ายการเมืองด้วย

Back to top button