เกมแห่งความอยู่รอด (ตอนที่สอง)

เมื่อตลาดหุ้นเคลื่อนตัวจากเหตุปัจจัยภายนอกของตลาดจนทำให้ราคาหุ้นในตลาดขาดความสมเหตุสมผล เราจึงใด้เห็นภาพของราคาหุ้นที่บางครั้งต่ำเกินจริง


เมื่อตลาดหุ้นเคลื่อนตัวจากเหตุปัจจัยภายนอกของตลาดจนทำให้ราคาหุ้นในตลาดขาดความสมเหตุสมผล เราจึงใด้เห็นภาพของราคาหุ้นที่บางครั้งต่ำเกินจริงและเคลื่อนไหวไปตามพฤติกรรมที่ผิดปกติอย่างยิ่งเพราะราคาหุ้นไม่ได้เคลื่อนไหวสอดรับกับพื้นฐานของมูลค่าทางบัญชีของราคาที่แท้จริง

ที่คิดจากบุ๊กแวลูของตลาดหุ้นที่บิดเบี้ยวดังกล่าวสอดรับกับทฤษฎีความไม่มีเหตุผลของตลาดที่คิดขึ้นมาโดยนักคณิตศาสตร์ชาวโปแลนด์ในหนังสือเรื่อง Misbehavior of the market ที่เสนอมาเป็นทฤษฎีหงส์ดำอันลือลั่นในปัจจุบัน

ความไม่สมเหตุสมผลของราคาหุ้นในปัจจุบันสามารถเรียกได้ว่าทฤษฎีวิวัฒนาการชีวิตของชาร์ลส์ ดาร์วินถูกนำกลับมาใช้ใหม่เพื่ออธิบายถึงการดิ้นรนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นและหลักทรัพย์ทั้งในตลาด

ภายใต้กรอบของทฤษฎีแห่งความอยู่รอดของชาร์ลส์ ดาร์วิน นี้เราจะเห็นถึงการดิ้นรนที่แตกต่างกันของบริษัทดังกล่าวจะเปรียบเทียบด้วยคำอธิบายของบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป BCG. อันลือลั่นดังต่อไปนี้คือ 1)การดิ้นรนด้วยการตลาด 2)การดิ้นรนด้วยเกมการเงินเพื่อรักษาการเติบโตของกิจการและ 3)การดิ้นรนด้วยวิศวกรรมการเงิน

การดิ้นรนด้วยการตลาดเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดเพราะเป็นการให้บริษัทสร้างนวัตกรรมใหม่ได้เสมอโดยการรุกในตลาดสินค้าและบริการที่มีมาร์จิ้นสูงกว่าคู่แข่งขันในตลาดเดียวกันหรือในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้บริษัทรักษาความสามารถในการแข่งขันเป็น cash cow ที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็น star ในอนาคตเพื่อต่อยอดให้เป็น cash cow ในระยะต่อไป การดิ้นรนต่อไปแบบที่ 2 คือการรักษาให้บริษัทเป็น cash cow ต่อไปในอนาคตอันสั้นด้วยตัวแปรภายในหรือการหยิบยืมเอาความแข็งแกร่งของปัจจุบันให้คงความได้เปรียบในการแข่งขันต่อไปไม่ว่าจะพบปัญหาของความคาดหวังให้มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น

การดิ้นรนด้วยวิศวกรรมการเงินทั้งการกู้เงินมาดำเนินการ การเพิ่มทุนใหม่ด้วยสารพัดรูปแบบเพื่อยื้อเวลาของหายนะออกไปและการกู้เงินผ่านตลาดหุ้นในรูปแบบอื่น ๆ เป็นสิ่งเลวร้ายเพราะมักจะนำไปสู่การทำลายตัวเองแบบผ่อนส่งแล้วอาจจะนำไปสู่การทำลายมูลค่าผู้ถือหุ้น

สุดท้ายนี้การดิ้นรนที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นคือการปล้นกลางแดดที่เราเห็นจากพฤติกรรม อันเลวร้ายของบริษัท ราชาเงินทุน เฟิร์สทรัสต์ รอยเนท IFEC และ EARTH เกมการอยู่รอดของบริษัทจดทะเบียนที่ดีและเลวร้ายเหล่านี้ ล้วนเป็นบทเรียนที่นักลงทุนต้องประสบจริงจังบนเส้นทางของข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อที่จะได้ทราบซึ้งกับความหมายของทฤษฎีดาร์วินที่เคยบอกว่าสรรพสิ่งที่อยู่รอดไม่ใช่สิ่งที่แข็งแกร่งสุดหรือฉลาดสุดแต่เป็นสิ่งที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ต่างหาก

Back to top button