พาราสาวะถี

การอำนวยความยุติธรรมไม่มีอะไรดีไปกว่าการใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ นั่นหมายถึง คำพิพากษาของศาลยุติธรรม


การอำนวยความยุติธรรมไม่มีอะไรดีไปกว่าการใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ นั่นหมายถึง คำพิพากษาของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะคดีที่นักการเมืองถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการทางการเมืองที่ไม่ปกติ เช่นกรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้องไป 2 คดีคือ การย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการ สมช. และกรณีโรดโชว์โครงการ 2 ล้านล้านบาท ทั้งสองกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงถูกเล่นงานล้วนเกิดขึ้นภายหลังจากการรัฐประหารของ คสช.

ย่อมเป็นธรรมดาที่สังคมจะอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า กระบวนการตั้งต้นที่นำไปสู่การตรวจสอบและเอาผิด เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมหรือไม่ หากเป็นที่ยอมรับในวงกว้างเหตุใดประเทศต่าง ๆ ที่อดีตนายกฯ หญิงลี้ภัยจึงไม่ให้ความร่วมมือในการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมา ไม่ใช่เพราะไม่มีข้อตกลงร่วมกันในข้อกล่าวหาที่ถูกดำเนินคดี หากแต่เป็นเรื่องความไม่เชื่อถือต่อการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นหรือไม่ ยิ่งอ้างคำชี้ขาดขององค์กรอิสระแล้ว ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นหดหายไปในทันที

ต้องยอมรับกันว่า อำนาจรัฎฐาธิปัตย์จากปลายกระบอกปืนนั้น สามารถอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งปวง รวมไปถึงอำนาจตุลาการด้วย ไม่ได้หมายความว่า อำนาจของศาลจะอยู่ภายใต้การสั่งการของอำนาจเผด็จการ แต่อำนาจของเผด็จการที่มีอยู่ล้นฟ้านั้น สามารถที่จะออกประกาศ หรือคำสั่งที่แม้แต่กระบวนการยุติธรรมปกติก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ ดังนั้น เมื่อเผด็จการสืบทอดอำนาจหมดไป ทุกอย่างจึงถึงวาระที่จะต้องเข้ารูปเข้ารอย

ไม่เพียงแต่องค์กรอิสระเท่านั้นที่มีปัญหาและถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของอำนาจเผด็จการและเผด็จการสืบทอดอำนาจเพื่อใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้าม แม้แต่กระบวนการยุติธรรมตั้งต้นก็ต้องคอยรับใช้ เอาใจ ทำให้กระบวนการอำนวยความยุติธรรมบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนตามไปด้วย จึงไม่ต้องแปลกใจหากปัจจุบันหลายคดีจะไม่เป็นไปตามที่ถูกคาดการณ์ไว้ เพราะด้วยกลไกปกติ และการเรียกศรัทธาคืนมาขององค์กร และกระบวนการตามระบบปกติ ทุกอย่างต้องบริสุทธิ์ ยุติธรรมอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน ใครที่เคยเป็นทาสรับใช้ ลิ่วล้อผู้ภักดี ทำงานแบบถวายหัวหรือดูแลอดีตเจ้านายไม่ให้ระคายผิวจากข้อกล่าวหาต่าง ๆ ด้วยการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของนักตรวจสอบที่แท้จริงผ่านกลไกของกระบวนการยุติธรรมปกติ พึงสังวรไว้ว่า หากไม่โปร่งใสจริง กรรมย่อมทำงาน และสมควรที่ต้องรับกรรมกับการทำหน้าที่ที่ไม่เป็นกลาง เป็นธรรมตามจุดมุ่งหมายขององค์กรที่ตัวเองสังกัด ซึ่งอีกไม่นานคงมีให้เห็นกันหลายราย

ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน บินไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศจากออสเตรเลีย ต่อไปเยอรมนีและฝรั่งเศส นอกเหนือจากการหารือที่อยู่ในกรอบของวาระงานที่กำหนดไว้แล้ว เป้าหมายสำคัญในฐานะเซลส์แมนของประเทศคือ การมีโอกาสได้พบปะหารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของแต่ละประเทศที่เดินทางไป อันจะส่งผลในแง่ของความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย อดใจรอเพราะหลังจากเดินทางกลับ เจ้าตัวบอกแล้วว่าจะแถลงผลงานรอบ 6 เดือน ที่ถูกค่อนขอดว่าไปต่างประเทศบ่อย ๆ นั้น มีอะไรเป็นผลงานที่มีรูปธรรมบ้าง

อย่างที่บอกภาระฝ่ายบริหารถือเป็นงานที่เศรษฐาต้องแบกไว้อยู่บนบ่า และนำพารัฐนาวาที่เป็นพรรคร่วมหลายพรรค เดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ให้ได้ งานด้านการเมืองในส่วนของพรรคแกนนำอย่างเพื่อไทย ก็ไว้ใจได้ แพทองธาร ชินวัตร เข้ามากุมบังเหียน ย่อมสามารถกำหนดทิศทาง และควบคุมท่าที การขับเคลื่อนของ สส.เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาลได้ เพราะความเป็นรัฐบาลผสมนั้นเป็นธรรมดาที่นักเลือกตั้งโดยเฉพาะผู้มีบารมี บรรดาหัวหน้ากลุ่ม ก๊วนทั้งหลายย่อมต้องการเก้าอี้ในฝ่ายบริหาร

หนนี้ก็ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ว่าด้วยภารกิจอันใหญ่หลวงจากผลพวงความผิดพลาดในการบริหารของเผด็จการสืบทอดอำนาจตลอดเวลาเกือบ 10 ปี จำเป็นที่จะต้องให้เศรษฐาและคณะได้ทำงานเต็มที่ เนื่องจากไม่ได้เป็นแค่การสร้างผลงานให้กับนายกฯ และรัฐมนตรีเท่านั้น แต่จะส่งผลดีต่อพรรคเพื่อไทยด้วย โดยมีเดิมพันคือ การเข้ามาของอุ๊งอิ๊งต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง สามารถที่จะเรียกคะแนนนิยมที่เสียไปจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กลับคืนให้ได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการพักโทษกลับมาอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า สปอตไลต์ย่อมฉายจับไปยังพลังอำนาจที่จะเข้ามาครอบงำทั้งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ทุกความเคลื่อนไหวของทั้งเศรษฐาและอุ๊งอิ๊งจึงหนีไม่พ้นถูกเชื่อมโยงกับอดีตนายกฯ เหมือนกรณีที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะเดินทางไปเยือนกัมพูชาตามคำเชิญของสมเด็จฮุน เซนที่บินมาเยี่ยมเพื่อนรักก่อนหน้านี้ ก็ถูกนำไปขยายผลว่าเป็นการไปเยือนว่าด้วยเรื่องอำนาจทางการเมืองแทนผู้เป็นพ่อ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แพทองธาร ตอบคำถามของนักข่าว ยืนยันเรื่องแบบนี้ไม่ต้องแทนกัน หากเป็นประเด็นการเมืองถึงเวลาทักษิณจะไปก็ไปเองได้ ส่วนตนเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงไปในฐานะหัวหน้าพรรค ไม่ใช่ในนามของทักษิณ และแน่นอนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ไม่ใช่ในนามฝ่ายบริหาร แต่เป็นธรรมดาพวกขาประจำย่อมหาเหตุดักคอในทำนองว่า ไปคุยเพื่อให้ฝั่งกัมพูชาได้ประโยชน์ โดยลืมไปว่าเรื่องที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศนั้น ไม่ใช่จะเจรจา และยกอะไรให้กันง่าย ๆ เหมือนบริษัทเอกชน ใครบ้าทำเช่นนั้นเท่ากับฆ่าตัวตาย

ทั้งนี้ ก่อนที่อุ๊งอิ๊งจะเดินทางตามกำหนดการที่วางไว้คือ 18-19 มีนาคมนี้ เชื่อว่าจะต้องมีกระแสข่าวปล่อยอันเกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะไปหารือกับกัมพูชา เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือทั้งของรัฐบาลและพรรคแกนนำแน่นอน ที่น่าจับตาคือจากพวกลากตั้งขาประจำ ซึ่งจะมีการโหมประโคมเพื่อเร้ากระแส เรียกความสนใจก่อนจะมีการซักฟอกรัฐบาลตามมาตรา 153 ในช่วงปลายเดือน เรื่องพวกนี้จะมีคนเชื่อก็แต่พวกหลับหูหลับตาเชียร์เท่านั้น คนส่วนใหญ่หูตาสว่างกันหมดแล้ว และรู้ว่าประเทศควรต้องเดินกันไปในทิศทางใด

Back to top button