BWG-ETC ยอมลด..เพื่อเพิ่ม.!

หลังจากบริษัทย่อยที่ชื่อ เก็ท กรีน พาวเวอร์ (GGP) ของคู่แม่ลูก BWG (ตัวแม่) กับ ETC (ตัวลูก) ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟภ. ก็ถูกจับตามาโดยตลอด


หลังจากบริษัทย่อยที่ชื่อ บริษัท เก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด (GGP) ของคู่แม่ลูกบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG (ตัวแม่) กับบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC (ตัวลูก) ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไปเมื่อช่วงปลายปี 2566 ซึ่งว่าด้วยการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 10 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 80 เมกะวัตต์ มีสัญญาระยะเวลา 20 ปี ก็ถูกจับตามาโดยตลอด…

ด้วยจำนวนเมกะวัตต์ที่เยอะ ต้องใช้เงินลงทุนราว 15,000 ล้านบาท แต่จากศักยภาพการลงทุนของทั้งคู่จะทำได้ขนาดไหน..? เนื่องจากตัวแม่ BWG เป็นแค่บริษัทรับกำจัดขยะอุตสาหกรรม ในขณะที่ตัวลูก ETC ทำโรงไฟฟ้าขยะ แต่ไซซ์ไม่ใหญ่มาก เลยถูกจับตาว่าแม่ลูกคู่นี้จะรันโปรเจกต์ยังไง..?

สุดท้ายก็มีทางออก เมื่อ BWG กับ ETC ดึงบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มาร่วมถือหุ้น 50% ใน “เก็ท กรีน พาวเวอร์” โดยลงทุนผ่านบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัท กัลฟ์ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จีโฮลดิ้งส์ จํากัด (GWTE)

รวมทั้งให้ “กัลฟ์ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จีโฮลดิ้งส์” เข้ามาถือหุ้น 50% ในบริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด (CC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BWG เป็นผู้พัฒนาโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม จำนวน 3 โครงการ โดย “เซอร์คูลาร์ แคมป์” จะเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าทั้ง 10 แห่งต่อไป

นั่นจะทำให้ อันดับแรก หมดปัญหาเรื่องเงินลงทุน เนื่องจาก GULF เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไฟฟ้า เงินทุนหนา ศักยภาพการกู้แบงก์ก็ไม่ใช่ปัญหา ซึ่งจะแตกต่างจาก BWG กับ ETC ที่อาจมีข้อจำกัดในการกู้เงินแบงก์ แม้จะมี PPA อยู่ในมือ แต่อาจถูกตั้งคำถามเยอะ การได้ GULF มาเป็นพันธมิตรก็ช่วยการันตีว่าโครงการจะเดินหน้าต่อได้

โอเค…แม้ BWG หรือ ETC สัดส่วนการถือหุ้นหายไปครึ่งหนึ่ง สิ่งที่จะได้กลับมาจากเต็ม 100% (กินรวบ) ก็เหลือแค่ 50% เปลี่ยนเป็นกินแบ่งแทน…แต่เงินที่จะต้องใส่ลงไป ก็หายไปครึ่งหนึ่งด้วยนะ จากเดิมใช้เงินลงทุน 15,000 ล้านบาท ก็จะเหลือแค่ 7,500 ล้านบาท…ซึ่งน่าจะทำให้ BWG กับ ETC ไม่ต้องแบกหนักจนเกินไป…หายใจหายคอได้คล่องขึ้น..!!

ถือเป็นการลด (สัดส่วนถือหุ้น)…เพื่อเพิ่ม (ศักยภาพในการรันโปรเจกต์) นั่นเอง..!?

ถัดมา การมี GULF เป็นพันธมิตร จะทำให้การรันโปรเจกต์ในอนาคตทำให้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับการอยู่ตัวคนเดียว หรืออยู่กันเพียงลำพังสองแม่ลูก…

ที่สำคัญ ความเป็นไปได้ของทั้ง 10 โครงการโรงไฟฟ้าขยะมีความชัดเจนขึ้น

ในมุมของ GULF แม้จำนวน 80 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนน้อยนิด เมื่อเทียบกับพอร์ตรวมที่มีกว่า 10,000 เมกะวัตต์ แต่เป็นก้าวกระโดดในการเพิ่มพอร์ตพลังงานทดแทน ซึ่งที่ผ่านมา GULF มีความเพียรพยายามในการไปลงทุนพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เยอรมนีและอังกฤษ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่สปป.ลาว โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เวียดนาม รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ลม, แดด และโซลาร์พ่วงแบตเตอรี่) ในประเทศที่เพิ่งเปิดประมูลเมื่อปี 2566 ซึ่ง GULF คว้าไปได้มากสุดกว่า 2,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น

เป้าหมายเพื่อตอบโจทย์การให้บริการด้าต้าเซ็นเตอร์ในอนาคต จึงต้องเร่งปั๊มพอร์ตพลังงานทดแทน…ซึ่งการได้โรงไฟฟ้าขยะมาอีก 80 เมกะวัตต์ จะทำให้ GULF ขยับใกล้สู่เป้าหมายการเพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียนให้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2578 มากขึ้น…

กลับมาที่ BWG กับ ETC ชัดเจนว่า เสียน้อย…แต่ได้มาก..!!

ส่วนจะได้มากแค่ไหน..? ต้องดูหลังปี 2568 ซึ่งกำหนด COD โรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม และปี 2569 กำหนด COD โรงไฟฟ้าขยะทั้ง 10 แห่ง ว่ากำไรจะพอกพูนแค่ไหน..?

แต่เบื้องต้นแม่ลูกคู่นี้ตอบรับข่าวดี ด้วยปรากฏการณ์ Sell on fact ซะงั้น หลังจากก่อนหน้านี้ราคาปรับขึ้นไปมากแล้ว โดยเมื่อวันอังคารที่ 12 มี.ค. (วันประกาศดีล) หุ้นตัวแม่ BWG ราคาทิ้งดิ่งไปกว่า 14% ส่วนตัวลูก ETC ราคาปรับลดลง 2.03%

แหม๊…นกรู้ในตลาดหุ้นนี่มันเยอะจริง ๆ พับผ่าสิ..!!

…อิ อิ อิ…

Back to top button