พาราสาวะถี

โหมกระพือกันแรงก่อนวันซักฟอกตามมาตรา 152 กับประเด็นดึงพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล ยืนยันจากปากของ เศรษฐา ไม่เคยมีการพูดคุยกันเรื่องนี้


โหมกระพือกันแรงก่อนวันซักฟอกตามมาตรา 152 กับประเด็นดึงพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล ยืนยันจากปากของ เศรษฐา ทวีสิน ไม่เคยมีการพูดคุยกันเรื่องนี้ พร้อมกับย้ำว่า 314 เสียงแข็งแกร่งพอแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันมีความสามัคคี พูดจากันรู้เรื่องอยู่แล้ว และร่วมกันทำงานเป็นอย่างดี จึงไม่มีเหตุที่จะต้องขยับปรับเปลี่ยน หรือดึงพรรคไหนมาร่วม นอกจากนั้น ยังตอบนักข่าวแบบนุ่มนวลแต่หนักแน่น “ข่าวลือก็จบที่ข่าวลือ”

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อมีการถามถึงประเด็นที่พรรคพลังประชารัฐ ยังเหลือโควตารัฐมนตรีอีก 1 ตำแหน่ง จากการเว้นว่างไว้เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของ ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร ที่ศาลนัดชี้ขาดวันนี้ (3เมษายน) อาจเป็นเหตุผลให้ต้องมีการขยับเก้าอี้ในรัฐบาลนั้น เศรษฐาก็ย้ำกับนักข่าวว่า “สมมติก็คือสมมติเพราะท่านบอกว่าสมมติ วันนี้เราอยู่กับความเป็นจริงดีกว่า” พร้อมกับยืนยันว่าโควตาของพรรคร่วมรัฐบาลทุกอย่างยังเหมือนเดิม บอกแล้วไงว่าชั่วโมงบินทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น ทำให้เห็นความจัดเจนในทางการเมืองของท่านผู้นำมากขึ้น

สอดคล้องกันกับท่าทีของผู้จัดการรัฐบาล ภูมิธรรม เวชยชัย ที่บอกว่าไม่เคยได้ยินจากเศรษฐาว่าจะมีการดึงประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ได้ยินจากสื่อเท่านั้น ที่ผ่านมาก็เป็นเพียงแค่ข่าวลือ ต้องไปดูว่าออกมาจากตรงไหน อาจมีทั้งตั้งใจพูด ไม่ตั้งใจ หรือพูดคาดการณ์ต่าง ๆ ขณะที่ 314 เสียงของรัฐบาลเพียงพอ และทำหน้าที่ของมันอยู่แล้ว ก่อนที่จะตัดจบว่า เรื่องปรับ ครม.ยังเป็นข่าวโคมลอย ถ้าชัดเจนเมื่อไหร่ค่อยว่ากัน เข้าใจกันตามนี้

เข้าใจได้ว่าการปรับ ครม.มีเงื่อนเวลาที่เศรษฐาและทีมกุนซือวางไว้ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับรัฐมนตรีทั้งหมด เนื่องจากงบประมาณประจำปี 2567 ยังไม่ได้ใช้แม้แต่สตางค์เดียว ดังนั้น หากจะปรับใครพ้นเก้าอี้ด้วยข้อหาไร้ผลงาน มันก็น่าจะเป็นความใจร้ายจนเกินไป ยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่า เมื่องบประมาณมีผลบังคับใช้แล้ว นั่นคือช่วงเวลาที่จะเริ่มนับหนึ่งในการประเมินผลการทำงานของรัฐมนตรีทุกคน โดยใช้ผลงานที่ขับเคลื่อนตามนโยบายก่อนหน้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย

น้ำหนักจะอยู่ที่การบริหารจัดการภายใต้งบประมาณที่ได้วางกันไว้ ใครขับเคลื่อนได้เร็ว สนองนโยบายของทั้งรัฐบาล และการสั่งการของนายกฯ ย่อมมีโอกาสรอด ผ่านการทำงานกันมากว่า 7 เดือนแล้ว ประสานักการเมืองเขี้ยวลากดินย่อมดูออกว่า กระบวนการทำงานของเศรษฐาเป็นอย่างไร และการกำหนดบทบาท วางเป้าหมายร่วมของเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำเป็นอย่างไร บรรดาพรรคที่สมาชิกเคยอยู่ร่วมชายคากับไทยรักไทยมาก่อนย่อมเข้าใจสไตล์การทำงานกันเป็นอย่างดี

ยิ่งมีกุนซือที่แม้จะไม่มีการประกาศกันชัดเจนแต่รับรู้กันได้อย่าง ทักษิณ ชินวัตร การทำงานจึงต้องเข้มข้น เห็นผล และโดนใจผู้ประเมิน เพียงแต่ว่าหนนี้บริบททางการเมืองเปลี่ยนไป เมื่อเพื่อไทยไม่ใช่พรรคเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การจะขยับแบบรวดเร็ว ทันใจ เหมือนในอดีตทำได้ลำบาก ความเกรงใจ และการปรึกษาหารือ หาทางออกร่วม จึงยังมีความจำเป็น สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือดีลที่ได้มีการคุยกันก่อนหน้าถือเป็นพันธสัญญาที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมกันปฏิบัติให้ได้ตามที่ตกลงกันไว้

มันไม่ได้หมายถึงความอยู่รอดของผู้ที่อยู่ในอำนาจทั้งหมด หากแต่ยังรวมไปถึงการเตรียมความพร้อมของแต่ละพรรคเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย โดยมีคู่แข่งตัวฉกาจอย่างก้าวไกลที่เป็นขวากหนามสำคัญ ดังนั้น การที่จะต่อสู้กับพรรคเกิดใหม่แต่กระแสดี ลำพังพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายคงรับมือลำบาก จึงต้องอาศัยเพื่อไทยเป็นแกนหลัก การสร้างผลงานให้ปรากฏจึงเป็นภาระหนักที่ต้องช่วยกันทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐาและพรรคแกนนำรัฐบาลกล้าที่จะเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีพรรคใดขวาง การดึงเวลาจนถึง 10 เมษายนนั้น ชัดเจนว่าเป็นการรอเพื่อรวบรวมทุกความเห็นให้มีบทสรุปไปในทิศทางเดียวกัน และก่อเกิดเป็นความเห็นร่วมในลักษณะยอมรับ ใครที่เคยเห็นต่างก่อนหน้านี้ แม้อาจจะตะขิดตะขวงใจ แต่ด้วยสภาพปัญหา และพลังที่ร่วมผลักดันซึ่งไม่ใช่แค่ฝ่ายการเมือง ทำให้ต้องยอมหลับตาข้างหนึ่ง

ส่วนการซักฟอกของฝ่ายค้านในวันนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่การประชุม พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 นัดประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อเคาะเรื่องเงื่อนเวลาในการอภิปรายและชี้แจงของทั้งสองฝ่ายให้ชัดเจน หลังจากที่วิปรัฐบาลหักดิบฝ่ายค้านจากที่ขอเวลาอภิปราย 22 ชั่วโมงเหลือ 18 ชั่วโมง โดยการหารือก่อนการประชุมจะใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมง ทำให้เกรงกันว่าจะหาทางลงกันได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้แล้วจะทำกันอย่างไร ที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น

ฟังจาก ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เรื่องการรอมชอม ยอมพบกันครึ่งทางน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะมีการยืนกระต่ายขาเดียวว่า ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายค้านที่วิปรัฐบาลจะมาขอลดเวลา หากเห็นว่าเวลาชี้แจงไม่พอ ฝ่ายรัฐบาลก็ควรเสนอเงื่อนไขขอเพิ่มเวลาในการประชุม อาจจะไม่ถึงขั้นเพิ่มเวลาประชุมอีก 1 วัน แต่ใช้วิธีการเลิกประชุมกันดึกกว่าที่กำหนด เพื่อให้รัฐมนตรีได้ชี้แจงเต็มที่น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสม และถูกต้อง

ความจริงเรื่องเงื่อนเวลาไม่น่าจะเป็นจุดสำคัญ ถ้าฝ่ายค้านต้องการจะขับเน้นการตรวจสอบ และทำให้รัฐบาลเกิดอาการสะดุด ควรจะเน้นสาระที่จะอภิปรายมากกว่า ปมทักษิณอาจจะกลายเป็นเป้ารองไปเสียด้วยซ้ำ หากมองไปยังกรณีความขัดแย้งหรือศึกสองบิ๊กตำรวจ จนนำไปสู่การเปิดโปงกันอุตลุด จนถึงรายของ “ทนายตั้ม” ษิทรา เบี้ยบังเกิด ล่าสุด หากจับประเด็น เค้นเนื้อหาสาระที่เป็นเส้นทางการทุจริต รับเงินสีเทากันมโหฬารได้ ย่อมเป็นการตีถูกจุด เพราะเศรษฐากำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ที่ว่าฝ่ายค้านเลือกที่จะเดินเกมกันอย่างไร ใช้การเมืองแบบเก่าโจมตีดิสเครดิต หรือเน้นตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

Back to top button