
คริปโทเคอร์เรนซีได้ฤกษ์เปิดแล้ว
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ได้ผ่านร่างหลักการของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีขึ้นใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญของตลาดทุนไทยหลังจากรีรอมานาน
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ได้ผ่านร่างหลักการของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีขึ้นใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญของตลาดทุนไทยหลังจากรีรอมานาน เพราะถูกธนาคารแห่งประเทศไทยคัดค้าน
การอนุมัติหลักการ “G-Token” เป็นการนำเทคโนโลยีการเงินมาประยุกต์เป็นเครื่องมือการลงทุนรูปแบบใหม่ ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะสร้างโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงการลงทุนที่มีคุณภาพให้กับประชาชน โดยผลักดันโทเคนดิจิทัลของรัฐบาลให้เป็นเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีการเงินมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับประชาชนมากขึ้น
นอกจากนี้การออก G-Token ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต โดยรัฐบาลเน้นย้ำในเรื่องของระบบและกระบวนการที่มีความปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามกฎหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่องมีดังนี้ 1. เรื่องดังกล่าวที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการอนุมัติวิธีการกู้เงิน โดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) อีกวิธีการหนึ่ง ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548* และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจกระทรวงการคลัง ออกโทเคนดิจิทัลโดยวงเงินกู้ตามกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณด้วยวิธีการเสนอขายให้แก่ผู้มีสิทธิซื้อโดยตรงผ่านผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนิติบุคคลอื่นที่สามารถรับคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ดังนี้
1.1 กำหนดให้กระทรวงการคลัง ออกโทเคนดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยวงเงินกู้ตามกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
1.2 กำหนดให้กระทรวงการคลัง อาจมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นตัวแทนของกระทรวงการคลังในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มีหน้าที่ดำเนินการด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและการออกโทเคนดิจิทัล นายทะเบียน หรือผู้รับฝากโทเคนดิจิทัล เป็นต้น
1.3 กำหนดให้กระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคน ดิจิทัลให้แก่ผู้มีสิทธิซื้อโดยตรงผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนิติบุคคลอื่นที่สามารถรับคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้น เช่น กำหนดให้กระทรวงการคลังจัดทำหนังสือชี้ชวนเผยแพร่ เป็นการทั่วไปอย่างน้อยต้องกำหนดเกี่ยวกับวงเงิน อายุ อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการโอนและกำหนดประเภทผู้มีสิทธิซื้อ ได้แก่ บุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนด เป็นต้น
1.4 กำหนดให้กระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์การชำระดอกเบี้ยและการใช้เงินตามโทเคนดิจิทัล โดยให้กระทรวงการคลังหรือนิติบุคคลอื่นใด ที่กระทรวงการคลังมอบหมาย โอนเงินให้แก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลหรือผู้รับตามที่นายทะเบียนกำหนด ทั้งนี้ ตามที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน
1.5 กำหนดให้การโอนโทเคนดิจิทัลดำเนินการตามวิธีการที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนิติบุคคลอื่นใดที่สามารถรับคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้โอนได้เปิดบัญชีเก็บรักษาโทเคนดิจิทัลของตนไว้โดยให้มีผลสมบูรณ์เมื่อผู้โอนนั้นได้บันทึกการรับโอนโทเคนดิจิทัลเข้าไปในบัญชีของผู้รับโอนแล้ว เพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการพัฒนากลไกการบริหารหนี้สาธารณะให้มีประสิทธิภาพและภาครัฐสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการออมของภาคประชาชน อันสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพ มั่นคง ปลอดภัย ครอบคลุมเพียงพอ และเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
มีอ่านต่อ……..
วิษณุ โชลิตกุล