NWR ละคร (จบ) ชีวิต

ภาพจำของหุ้นรับเหมาก่อสร้างที่เป็นซูเปอร์ซับ (Sub-contract) แน่นอนหลายคนรู้จัก NWR ที่อยู่เคียงคู่กับตลาดหลักทรัพย์ฯ มายาวนาน 30 ปีแล้ว


ภาพจำของหุ้นรับเหมาก่อสร้างที่เป็นซูเปอร์ซับ (Sub-contract) แน่นอนหลายคนรู้จักบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR ที่อยู่เคียงคู่กับตลาดหลักทรัพย์ฯ มายาวนาน 30 ปีแล้ว (เข้าเทรด 27 ก.ย. 2538)…โดย NWR เป็นซูเปอร์ซับที่รับงานจากบริษัทรับเหมาฯ ค่ายใหญ่ทุกเจ้า…ว่าไปแล้วงานก็ไม่ขาดมือนะเนี่ย

งานไม่ขาดมือ…แต่ไหงขาดทุนเรื้อรังล่ะ พิสูจน์ทราบได้จากผลประกอบการในช่วง 4 ปีย้อนหลัง ไล่มาตั้งแต่ปี 2564 มีรายได้รวม 11,212.85 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 768.34 ล้านบาท ถัดมาปี 2565 มีรายได้รวม 13,247.19 ล้านบาท พลิกมามีกำไรสุทธิ 37 ล้านบาท ส่วนปี 2566 มีรายได้รวม 11,244.06 ล้านบาท พลิกมาขาดทุนสุทธิ 1,020.98 ล้านบาท และปี 2567 รายได้รวมลดเหลือ 8,519.01 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มเป็น 3,983.53 ล้านบาท

ส่วนงบไตรมาส 1/2568 แม้จะสะกดกำไรได้อีกครั้ง โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 258.54 ล้านบาท และมีรายได้รวม 2,371.58 ล้านบาท แต่ไม่วายผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินดังกล่าวนี่สิ..!?

ด้วยเหตุผลความไม่แน่นอนจากกรณีกลุ่มบริษัทมีขาดทุนสะสมจำนวน 6,005 ล้านบาท (เฉพาะบริษัทฯ อยู่ที่ 5,779 ล้านบาท) และมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นจำนวน 1,811 ล้านบาท (เฉพาะบริษัทฯ อยู่ที่ 2,646 ล้านบาท) ซึ่งหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้าและเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทไม่สามารถดำรงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของเงินกู้ยืมจากธนาคารจำนวน 1,765 ล้านบาท ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทได้รับหนังสือผ่อนผันจากธนาคารแล้วเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568

และการที่กลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนเกินทุนจำนวน 1,717 ล้านบาท (เฉพาะบริษัทฯ อยู่ที่ 2,093 ล้านบาท) ทำให้เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หากไม่สามารถแก้ไขเหตุดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล

โอเค…ก็เห็นถึงความเพียรพยายามในการแก้ปัญหาสภาพคล่องของ NWR แหละ…จากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าประมูลงานเพื่อหารายได้จากโครงการใหม่ ๆ การเจรจาเรียกเก็บค่าก่อสร้างจากลูกค้า การเจรจากับคู่ค้าทางธุรกิจ ผู้ถือหุ้นกู้และสถาบันการเงินเพื่อขอขยายเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมาเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ขอผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน และการปรับปรุงแผนธุรกิจและการดำเนินงานในอนาคต รวมถึงการพิจารณาหาผู้ร่วมทุน

โดยฝ่ายบริหารเชื่อมั่นว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยทำให้กลุ่มบริษัทสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง…ก็เอาใจช่วยละกัน

ว่าไปแล้วนี่ไม่ใช่ข้อหาแรก เพราะเดิมที NWR มีข้อหาติดตัวอยู่แล้ว จากกรณีงบการเงินประจำปี 2567 มีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าศูนย์ จนเป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับแขวนป้าย NC และ SP มาตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา

โดยเพิ่งจะเปิดให้มีการซื้อขายอีกครั้งระหว่างวันที่ 18 เม.ย.-19 พ.ค. 2568 นี้ ภายใต้เงื่อนไขให้ซื้อขายด้วยเงินสด หรือบัญชี Cash Balance เท่านั้น พร้อมจะขึ้นเครื่องหมาย NC กำกับ เพื่อเตือนนักลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยวันแรก (18 เม.ย.) ที่เปิดซื้อขาย กำหนด Ceiling & Floor ไม่เกินหนึ่งเท่าจากราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย

เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว หรือตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2568 เป็นต้นไป ก็จะแขวนป้าย SP ยาวปายยย จนกว่าบริษัทจะแก้ไขให้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะกลับมาซื้อขายได้ตามปกติ หรือหากไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ภายในเวลาที่กำหนด ก็จะถูกพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ต่อไป

ก็ต้องดูว่า NWR จะเขียนบทละครชีวิตหลังจากนี้ยังไง..??

จะไปต่อหรือเป็นตอนจบ…เป็นบทละครที่ต้องติดตามกันต่อไป

ที่แน่ ๆ ในมุมของผู้ถือหุ้น วันนี้ (19 พ.ค.) เป็นวันสุดท้ายที่จะได้ออกของ…เพราะจะกลับมาเทรดอีกเมื่อไหร่..?? ไม่รู้ ๆ ๆ ๆ

…อิ อิ อิ…

Back to top button