
ทำไม GULF ซื้อ KBANK
เชื่อว่าการเข้าซื้อหุ้นของ GULF ใน KBANK ส่งผลถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 คิดเป็นกว่า 5.23% เป็นคำถามที่คนในวงการตลาดทุนต่างต้องการทราบสาเหตุ
เชื่อว่าการเข้าซื้อหุ้นของกัลฟ์ฯ (GULF) ในธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ส่งผลถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 คิดเป็นกว่า 5.23% เป็นคำถามที่คนในวงการตลาดทุนต่างต้องการทราบสาเหตุ
แม้ผู้บริหารอของกัลฟ์ฯ จะบอกว่า “ซื้อเพื่อลงทุน”
แต่เชื่อไหมคนในวงการตลาดทุนส่วนใหญ่ หรืออาจจะทั้งหมดก็ได้ อาจจะขอเชื่อแบบไม่เต็ม 100%
(เกือบ) ทุกคนมั่นใจว่า กัลฟ์ฯ เข้าเก็บหุ้นกสิกรไทยไม่ใช่แค่ “รับปันผล” เท่านั้น
และน่าจะมีนัยสำคัญมากกว่าที่บอกออกมา
มีการนำไปเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งกัลฟ์ฯ เข้าซื้อ “อินทัช” ด้วยว่า จุดเริ่มต้น จะคล้าย ๆ กับซื้อกสิกรไทยในตอนนี้
ขณะนั้น วงการตลาดทุน (ส่วนใหญ่) มองว่า กัลฟ์ฯ คงจะเข้าลงทุนเพื่อรับปันผลหรือเพื่อลงทุนแบบปกติ แบบที่ทางผู้บริหารออกมาระบุถึงเหตุผล
ทว่า สิ่งที่ประเมินหรือคิดกันไว้ “ผิดหมด”
ผ่านมาจนถึงวันนี้ กัลฟ์ฯ เข้าฮุบกลุ่มอินทัชแบบเบ็ดเสร็จ
มิติในการทำธุรกรรมของกัลฟ์ฯ ต่ออินทัชทำให้เกิดประโยคที่ว่า “อย่า (เพิ่ง) เชื่อในสิ่งที่ (เพิ่ง) เห็น”
ส่วนที่มีการบอกว่า “ขนาด” ของกสิกรไทย กับ อินทัช นั้น แตกต่างกันมาก และน่าจะเป็นเรื่องยากของกัลฟ์ฯ หากจะเข้าลงทุนในแบงก์สีเขียวแห่งนี้แบบเดินตามรอยธุรกรรมอินทัช
แต่สำหรับในเศรษฐกิจยุดใหม่ การนำวิศวกรรมการเงิน วิศวกรรมการลงทุน เข้ามาใช้
ทำให้อะไรก็เกิดขึ้นได้แบบ “เหนือความคาดหมาย”
เรื่องระหว่างกัลฟ์ฯ กับแบงก์ขนาดใหญ่แห่งนี้ มีนักวิเคราะห์ต่างให้มุมมองไว้น่าสนใจ
โดยเป็นการวิเคราะห์ที่ใช้กรณีศึกษาของอินทัชเข้ามาเทียบเคียง
เช่น นักวิเคราะห์ของ “พาย” (Pi) เชื่อว่า กัลฟ์ฯ เข้าเก็บหุ้นกสิกรไทย มองไกลกว่ารับเงินปันผลแน่นอน โดยมองว่าจะมีการวางแผนใช้แบงก์แห่งนี้เป็นตัวช่วยต่อยอดธุรกิจเทคโนโลยี คือ Data Center และ Virtual Bank โดยเลือก KBANK อาจเป็นหนึ่งในหมากของการหา “พาร์ตเนอร์ธนาคาร” ที่จะช่วยผลักดันแผนพวกนี้ได้ไวและลื่นขึ้น
กัลฟ์ฯ อาจจะเก็บหุ้นไปเรื่อย ๆ และอาจเพิ่มระดับไปถึง 10%
อาจจะมีคำถามต่อว่า แล้วทำไมต้องเลือกแบงก์กสิกรไทยล่ะ
คำตอบคือ เพราะโครงสร้างผู้ถือหุ้นเปิดทางให้ “เทกโอเวอร์” ได้ง่ายกว่าธนาคารใหญ่แห่งอื่น
ธนาครารกรุงไทย หรือ KTB ติดตรงเป็นของรัฐ จะเข้าไป Take Over นี่แทบเป็นไปไม่ได้
บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) การเข้า Take over แทบเป็นไปไม่ได้ หรือจะใช้คำว่า “ไม่มีทางเป็นได้”
ส่วนแบงก์กรุงเทพ (BBL) มีตระกูลโสภณพนิช ที่ถือหุ้นเหนียวแน่นมาก
กลับมาที่แบงก์กสิกรไทย ที่มีจุดแข็งอย่างการเป็น Digital Banking อันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่โครงสร้างผู้ถือหุ้นกลับเปิดกว้างกว่ามาก เพราะ “ตระกูลล่ำซำ” ถือหุ้น (แค่) ประมาณ 10%
หากกัลฟ์ฯ เก็บหุ้นเพิ่มเป็น 10% ได้
ทราบไหม…. กัลฟ์ฯ จะมีสิทธิส่งคนเข้าบอร์ดบริหาร และอาจไปถึงขั้นมีอำนาจต่อรองเพื่อขอคนขึ้นเป็น CEO ได้เลยในอนาคต
บทสรุปของ พาย (Pi) คือ นี่อาจไม่ใช่แค่การลงทุนธรรมดา เพื่อรับปันผล
แต่นี่คือการวางหมากล้อมธนาคาร เพื่อเสริมทัพธุรกิจเทคโนโลยีของกัลฟ์ฯ แบบเงียบ ๆ แต่จริงจัง
เช่นเดียวกับหลักทรัพย์ บัวหลวงที่นักวิเคราะห์บอกว่า กัลฟ์ฯ เข้าซื้อหุ้นแบงก์กสิกรไทย 12.51 ล้านหุ้น ดันพอร์ตแตะ 5.2356% มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท และก้าวขึ้นเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3”
ส่วนราคาซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 164 บาทต่อหุ้น
สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มธุรกิจธนาคาร โดยเฉพาะกสิกรไทยที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์กิ้งในไทย
และอาจเปิดโอกาสต่อความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัลฟ์ฯ ที่มีธุรกิจพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน กับสถาบันการเงินอย่างกสิกรไทยที่ทำเรื่องของธุรกิจการเงิน
ส่วน สุวัฒน์ สินสาฎก (นักวิเคราะห์ผู้มากประสบการณ์) กรรมการผู้จัดการ บล.โกลเบล็ก มองเช่นกันว่า
“ไม่ใช่ธุรกรรมเพื่อ (แค่) รับปันผล” อย่างแน่นอน
ธนะชัย ณ นคร