ฝรั่ง-สถาบัน ‘ขายบน/รับล่าง’

สาเหตุสำคัญของดัชนีหุ้นไทยไม่ขยับขึ้นไปไหน มาจากนักลงทุนต่างชาติและรวมถึงสถาบันใช้กลยุทธ์แบบ “เล่นสั้น” หรือเมื่อราคาหุ้นวิ่งขึ้น จะเร่งขายทำกำไร


สาเหตุสำคัญของดัชนีหุ้นไทยไม่ขยับขึ้นไปไหน มาจากนักลงทุนต่างชาติและรวมถึงสถาบันใช้กลยุทธ์แบบ “เล่นสั้น”

หรือเมื่อราคาหุ้นวิ่งขึ้น จะเร่งขายทำกำไร

แต่อีกด้านจะมีการเข้ามารอตั้งรับเมื่อราคาหุ้นปรับลงมา

วิธีการแบบนี้ถูกใช้กันมาพักใหญ่ ๆ แล้ว และน่าจะคือคำตอบที่ว่า ทำไมหุ้นไทยไม่ขยับขึ้นไป

เช่น วันก่อนหน้านี้ หุ้นกลุ่มแบงก์ นำโดย 4 แบงก์ใหญ่ KBANK KTB SCB BBL มีมูลค่าซื้อขายมากเป็นอันดับ 1-4 ถูกไล่ราคาขึ้นมา

แต่วานนี้ หลับถูกขายทำกำไรทันที จนทำให้หุ้นแบงก์ลงมาปิดลบ

กลุ่มนักลงทุนที่สามารถพาหุ้นแบงก์ขึ้นมาขนาดนี้ได้พร้อมกับมูลค่าซื้อขายรวมกันนับหมื่นล้านบาท

มีเพียงกลุ่มสถาบัน (ไทยและต่างประเทศ) เท่านั้น

ไม่เพียงแค่เฉพาะหุ้นกลุ่มแบงก์ที่เพิ่งถูกขายออกไป

หุ้นขนาดใหญ่ “บิ๊กแคป” อื่น ๆ ต่างถูกพฤติกรรมการลงทุนแบบนี้เช่นกัน

กัลฟ์ฯ GULF ที่ราคาขึ้นมาบริเวณ 51.00 บาท +/- เล็กน้อยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แม้จะผ่านแนวต้านขึ้นมาได้ แต่ก็ถูกขายทำกำไร กดราคาลงมา ทำให้มาเคลื่อนไหวระดับ 47.00-48.00 บาท ที่เป็นแนวรับทางเทคนิค

ส่วน บมจ.ท่าอากาศยานไทย AOT ที่ราคาหุ้นสัปดาห์ก่อนขึ้นมาแตะ 40.00 บาท

ทว่า กลับเผชิญกับแรงขายทำกำไรออกมาทันที

และถูกตบจนราคาลงมาที่บริเวณเดิม คือ 35.00 บาท +/-

ADVANC ราคาที่ขึ้นมาแตะ 300 บาท +เล็กน้อย ถูกกระหน่ำขายลงมาเช่นเดียวกัน จนราคาลงมาที่แนวรับ 387-388 บาท โดยมีแรงเข้ามารับซื้อที่ระดับดังกล่าว ก่อนที่จะถูกดันกลับขึ้นมาใกล้กับ 300 บาท อีกครั้ง

ส่วน เดลต้าฯ DELTA ที่ถูกพาขึ้นมายืนเหนือ 100 บาท ชนกับแนวต้านที่ 114-115 บาท

จากนั้นค่อย ๆ ถูกขายทำกำไรออกมา แต่ราคายังไม่ถึงกับลงมาแรงมากนัก

เดลต้าฯ มีแนวรับถัดไปอยู่ที่ 100 บาท พอดี

บิ๊กแคปฯ ทั้งหมดนี้ ต่างมีมาร์เก็ตแคปติดอันดับ 1 ใน 10 ทั้งนั้น

การขึ้นและลงของราคาหุ้นจึงมีผลต่อดัชนีสูงมาก และส่งผลมายังหุ้นขนาดกลางและเล็กอื่น ๆ โดยเฉพาะเวลาหุ้นใหญ่ถูกขายทำกำไร ส่งผลภาพรวมตลาดไม่ดี และเป็นจิตวิทยาเชิงลบกับหุ้นกลางเล็กให้ถูกขายออก

พฤติกรรมการลงทุนแบบนี้ อาจมีการบอกว่า คือ Short Against Port

แต่จิรง ๆ แล้วไม่ใช่ Short Against Port

เพราะ Short Against Port คือ การที่เรามีหุ้นอยู่ในมือ และ “คาดว่า” ราคาของหุ้นกำลังจะตกหรือมีมูลค่าลดลง จึงพิจารณาและขายหุ้นตัวนั้นในตลาดก่อน

และพอราคาหุ้นตกลง จะค่อยซื้อกลับคืนจากตลาดในราคาที่ถูกกว่ากลับเข้ามา

แต่กลยุทธ์เล่นสั้นของต่างชาติกับสถาบัน เหมือนกับเป็นการ “จงใจทำให้ราคาหุ้นขึ้น” และ “จงใจให้ราคาหุ้นลง” เพื่อทำกำไรในระยะสั้น

โดยน่าจะมีกลุ่มรายย่อยที่เป็น “เหยื่อ” นั่นแหละ

เข้าใจว่า การเล่นหุ้นหรือเทรดแบบนี้ของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน เพราะอาจมองว่า น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจประเทศไทยและอาจรวมถึงของโลก จนกว่าจะเกิดความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทย

ล่าสุด หลังจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แจ้งงบฯ งวดไตรมาส 1/2568 ออกมา

มีกำไรรวมกันกว่า 2.8 แสนล้านบาท

แม้จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 50-60% และเพิ่มจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 1.5-2.0%

แต่หลายโบรกเกอร์ กลับปรับประมาณการกำไรสุทธิในปี 2568 ของ “บจ.” ลงมา จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และจีดีพีที่ถูกประเมินว่า น่าจะเติบโตได้ระหว่าง 1.6-2.5% เท่านั้น

ดูจากปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นในขณะนี้

พฤติกรรมการขายทำกำไรเมื่อราคาหุ้นขึ้น และมาตั้ง (รอ) รับที่ข้างล่าง แบบที่ผ่านมา

น่าจะทอดยาวไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเห็นสัญญาณเชิงบวกต่อเศรษฐกิจแบบชัดเจน

ธนะชัย ณ นคร

Back to top button