
ฝรั่งมาจริงหรือหลอก
เมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 4,492 ล้านบาท หากนับจากต้นเดือนก.ค. 68 เป็นต้นมา จะพบว่า ต่างชาติซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องรวมสุทธิกว่า 11,130 ล้านบาท
เมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 4,492 ล้านบาท
หากนับจากต้นเดือนก.ค. 68 เป็นต้นมา
จะพบว่า ต่างชาติซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องรวมสุทธิกว่า 11,130 ล้านบาท
การซื้อหุ้นไทยวานนี้ของฝรั่ง ยังเป็นการซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน หรือนับจากวันพุธที่ 16 ก.ค.เป็นต้นมา
จากการพุดคุยกับนักวิเคราะห์หลายคนเมื่อวานนี้
ต่างมองเหมือนกันว่า แรงซื้อรอบล่าสุดของต่างชาติค่อนข้าง “แข็งแรง” มาก ๆ หรือหากจะนับการซื้อต่อเนื่องของต่างชาตินั้น คือ ในช่วง 12 วัน (ทำการ) ที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อมากถึง 11 วัน และขายสุทธิเพียง 1 วันเท่านั้น (-592 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 15 ก.ค.68
แรงซื้อของต่างชาติ ยังช่วยหนุนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ พลิกฟื้นตัวอย่างโดดเด่นแห่งหนึ่งของโลกจากต้นเดือนก.ค. 68
หรือหากจะบอกว่า ปรับตัวขึ้นแกร่งสุด มากสุดในโลกเลยก็ไม่ผิดนัก
เพราะเมื่อดูจากวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่เป็นวันแรกของต่างชาติเริ่มเข้ามาซื้อต่อเนื่อง
ขณะนั้นดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 1,119 จุด
ส่วนวานนี้ดัชนีฯ ขึ้นมาปิดที่ 1,219 จุด หรือในช่วงวันที่ 7 -23 ก.ค. 68 (รวม 12 วันทำการ). ดัชนีหุ้นไทยขึ้นมาแล้ว 100 จุด คิดเป็น +8.93% กลายเป็นตลาดหุ้นร้อนแรงสุดในโลกภายในช่วงเวลาดังกล่าว
หุ้นไทยที่ปรับขึ้นมาพร้อมกับการเข้ามาของต่างชาตินั้น
ยังมาพร้อม ๆ กับมูลค่าการซื้อขายที่มากขึ้นต่อเนื่อง
วอลุ่มบางวันสูงกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท ทำให้มูลค่าซื้อขายที่เป็นค่าเฉลี่ยในช่วง 12 วัน ขึ้นมาอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ปัจจัยที่หนุนให้ต่างชาติเข้ามารอบนี้ มีการวิเคราะห์ว่ามาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก
เริ่มจากภายนอกก่อน คือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อปรับขึ้นมายังจุดหนึ่ง ทำให้ถูกประเมินว่า หุ้นสหรัฐฯ อาจจะเริ่มมีความเสี่ยงชะลอตัวบ้างแล้วจากสงครามการค้า
ทำให้นักลงทุนต้องการกระจายเม็ดเงินลงทุนไปยังตลาดที่พอจะ “พักเงิน” ได้
จึงกลับมาโฟกัสตลาดหุ้นที่เป็น Emerging Market กันอีกครั้ง
ช่วงที่ผ่านมาเงินหลายประเทศทางเอเชียแข็งค่าขึ้น รวมถึงประเทศไทย จากกระแสเงินที่เข้ามายังในภูมิภาค ทั้งในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น
ส่วนตลาดหุ้นไทย ถูกมองว่า มูลค่าที่ปรับลงมาก่อนหน้านี้ค่อนข้างถูก
และที่สำคัญ หลายหุ้นให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ดี เฉลี่ยเกินกว่า 5% ทำให้ต่างชาติ เลือกที่จะมา “พักเงิน” ทั้งเพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสผลตอบแทนไปพร้อม ๆ กัน
ขณะเดียวกันหลังจากประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฟิลลิปปนส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม เจรจาเรื่องภาษีการค้ากับสหรัฐฯ แล้วเสร็จ โดยมีค่าเฉลี่ยของภาษีระดับ 20% บวก/ลบเล็กน้อยแตกต่างกันไป
ทำให้ในส่วนของประเทศไทยถูกประเมินว่า ฐานภาษีที่ทางสหรัฐฯ จะเคาะออกมา น่าจะอยู่ในช่วงเดียวกันเช่นกัน
กลับมาสู่คำถามว่า แล้วต่างชาติเข้ามารอบนี้ แรลลี่หรือจะซื้อแบบต่อเนื่องหรือไม่
คำตอบคือ เมื่อหุ้นขึ้นมาระดับหนึ่ง หรือมีความเหมาะสมกับภาวะตลาด และเศรษฐกิจของประเทศไทย เราอาจจะเริ่มเห็น “แรงขายทำกำไร”
เหตุผลเพราะเศรษฐกิจของไทยยังไม่ได้กลับเข้าสู่การฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง
ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งทางนักวิเคราะห์แต่ละโบรกเกอร์ ก็ยังไม่ได้ปรับมุมมอง หรือคาดการณ์ออกมาเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น สิ่งที่ต้องระวัง คือ “การปรับฐาน” โดยเฉพาะหุ้นที่พาดัชนีขึ้นมาในรอบล่าสุดนี้
ส่วนกลุ่มหุ้นที่ต่างชาติเข้ามาเก็บขณะนี้ เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มบรรจุภัณฑ์
อาจจะมีคำถามเพิ่มว่า ทำไมนักลงทุนสถาบันวันก่อนหน้านี้ขายสุทธิออกมา (2,277 ล้านบาท) และวานนี้ไม่ได้ซื้อมากนัก หรือเพียง 194 ล้านบาท
ตรงนี้เข้าใจว่า น่าจะเป็นแรงขายจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่ยังค้างอยู่ในตลาดกว่า 1.1 แสนล้านบาท โดยผู้ถือหน่วยลงทุน น่าจะมีการสั่งให้กองทุนขายออกในช่วงที่ตลาดปรับตัวขึ้นมา
และนี่น่าจะเป็นอีกเหตุผลทำให้ดัชนีขึ้นมาครั้งนี้ อาจไม่ได้ไปไกลมากนัก