พาราสาวะถี อรชุน

แถลงแสดงทิศทางข้อเรียกร้องเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมาย ด้านหนึ่ง จตุพร พรหมพันธุ์ นำทีมนปช.แถลงที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ขณะที่ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ปักหลักแถลงที่พรรค โดยมีข้อเรียกร้องเดียวกันคือ ให้กกต.ออกคำสั่งระเบียบเกี่ยวกับการทำประชามติให้ชัดเจน โดยเฉพาะในมาตรา 61


แถลงแสดงทิศทางข้อเรียกร้องเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมาย ด้านหนึ่ง จตุพร พรหมพันธุ์ นำทีมนปช.แถลงที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ขณะที่ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ปักหลักแถลงที่พรรค โดยมีข้อเรียกร้องเดียวกันคือ ให้กกต.ออกคำสั่งระเบียบเกี่ยวกับการทำประชามติให้ชัดเจน โดยเฉพาะในมาตรา 61

ที่มีบทบัญญัติถึงการเผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง มีโทษรุนแรงจำคุกถึง 10 ปี กรณีนี้องอาจมองว่า บทบัญญัติอาจถูกตีความเพื่อเล่นงานกับผู้เห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ง่าย เช่น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่มีคนเห็นต่างบอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญปราบโกงไม่ได้จริงมากนัก แบบนี้จะถือว่าเผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือไม่

ด้านจตุพร มองในประเด็นดังกล่าว โดยยกตัวอย่างคำว่า หยาบคาย” จะเอามาตรวัดอะไรมาวัดกริยา หรือเอากริยาของท่านผู้นำเป็นหลักใช่หรือไม่ ไม่มีใครเขียนกฎหมายกันแบบนี้มาก่อน การที่สนช.เขียนกฎหมายที่มีลักษณะข้อห้ามเป็นนามธรรมเช่นนี้ กกต.จะต้องทำให้เกิดความชัดเจน พร้อมกับขู่ว่า ภายในสัปดาห์นี้ ถ้ายังไม่มีความชัดเจน แกนนำนปช.จะเดินทางไปกกต.อีกครั้ง

แน่นอนว่า ด้วยโทษรุนแรงของกฎหมายประชามติที่ยังไม่มีความชัดเจน แกนนำนปช.จึงพูดถึงการแสดงความเห็นเรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า ทำได้แค่แสดงความเห็นส่วนตัว ไม่ได้ไปชักจูงใคร ผิดกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีการรายงานสดการแถลงข่าวต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ คงเป็นเพราะคำว่ามวลมหาประชาชน ที่คนมีอำนาจเชื่อว่าจะช่วยพาให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติไปได้

ข้อสงสัยเรื่องการเขียนกฎหมายที่ใช้ถ้อยคำกำกวมและไม่มีใครทำมาก่อนนั้น น่าจะสอดคล้องกับความเห็นของ โยชิฟูมิ ทามาดะ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่นำเสนอหัวข้อประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์ ในงานเสวนาเมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ศุกร์ที่ผ่านมา

โดยทามาดะ มองว่าเรื่องตุลาการภิวัตน์กลายเป็นเรื่องที่ศาลเข้ามาแทรกแซงสิ่งที่เป็นปัญหาการเมืองคือสมัยก่อนถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีต้องตัดสิน แต่ว่าปัญหาเดียวกัน พอมาเป็นสมัยปัจจุบันกลับไม่ใช่ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ แต่ให้ศาลตัดสิน คือคนที่ตัดสินนั้นไม่ใช่นักการเมืองหรือผู้แทนประชาชนแล้ว แต่เป็นศาลมากขึ้น

กรณีดังกล่าวไม่ใช่ที่เมืองไทยเท่านั้น แต่เกิดหลายประเทศ เดิมเรื่องการคลัง การต่างประเทศ การกระจายรายได้ การป้องกันประเทศ ศาลไม่ยุ่ง แต่ว่า 30-40 ปีที่ผ่านมาศาลหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ที่เมืองไทยเท่านั้น ศาลเริ่มตัดสิน เริ่มแทรกแซงเรื่องเหล่านี้ แต่ว่าจริงไม่จริงไม่ทราบ นักนิติศาสตร์ระบุว่าอย่างน้อยมีเรื่องการกระจายรายได้ที่ศาลที่ไหนไม่เคยแทรกแซงแต่ที่นี่ได้แทรกแซงแล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจจากมุมมองของศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโดรายนี้ก็คือ กล้าที่จะวิจารณ์ว่า รัฐบาลคสช.ไม่มีอะไรที่ถือว่าเป็นผลงานโดดเด่น โดยเฉพาะกรณีการปฏิรูปที่การปฏิวัติ 2 ปีก่อน เขาอ้างการปฏิรูป กปปส.ก็บอกต้องปฏิรูป และทหารก็รับภาระปฏิรูป แต่ยังไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร ท่านเข้าใจไหมอะไรคือการปฏิรูป การปฏิรูปยังไม่เสร็จต้องทำต่อ ปัจจุบันนี้ยังพูดอยู่ใช่ไหม เขาไม่ยอมหยุด ต้องปฏิรูปต่อ ปฏิรูปอะไรเพื่ออย่างไร แก้ไขอย่างไร ไม่รู้เรื่อง

ปฏิรูปทุกวันนี้ยังไม่เสร็จ บอกว่าต้องทำต่อ ถามว่าปฏิรูปอะไร เพื่ออะไร อย่างไร ไม่รู้เลย เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเห็นด้วยกับที่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เขียนว่ามันเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง เป็นการอ้างปฏิรูปเพื่อหากิน ไม่ได้หมายถึงคนไทยทั้งหมด แต่ว่ามีบางคนบางส่วนที่หากินกับการปฏิรูป และรัฐบาลปัจจุบันนี้ก็ใช่ เราไม่ทราบว่าปลายทางของการปฏิรูปจะอยู่ที่ไหน การทำให้ ทักษิณ ชินวัตร หายไปเป็นปลายทางหรือเปล่า ก็คงเป็นไปไม่ได้ มันแปลก ไม่รู้เรื่องแต่ก็อ้างว่าปฏิรูปตลอด

รัฐบาลพูดเรื่องปฏิรูป แต่ไม่เห็นการปฏิรูป แต่ดูจะสนใจเรื่องอำนาจมากกว่า ผู้เชี่ยวชาญในรัฐบาลมักบอกว่าปัญหาต่างๆ มาจากการเลือกตั้ง มาจากประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ต้องปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง และเพิ่มอำนาจศาลกับองค์กรอิสระเพื่อเสริมตุลาการภิวัตน์ แต่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมเสียงข้างมากเท่านั้น ไม่ชอบการปกครองโดยเสียงข้างมาก

มีการวิจารณ์เสียงข้างมาก แต่ขอตั้งคำถามว่า ความผิดต่างๆ อยู่ที่เสียงข้างมากหรือเปล่า เช่น มีการสร้างระบบการปกครองที่ตัวเองจะได้เปรียบ เช่น ร่างรัฐธรรมนูญสร้างระบบการเลือกตั้งใหม่ นี่เป็นฝีมือของเสียงข้างมากหรือเปล่า ก็เปล่า เพราะคนที่สร้างหรือร่างรัฐธรรมนูญมีแต่เสียงข้างน้อยเท่านั้น คือเสียงข้างน้อยสร้างเอง ทำลายเอง แล้วก็สร้างใหม่เอง โดยมีเป้าหมายอย่างเดียวเพื่อรักษาอำนาจ มันไม่ดีเท่าไหร่

เขาจะสถาปนาเผด็จการเสียงข้างน้อย แต่เขาอ้างว่าต้องต่อต้านเผด็จการเสียงข้างมาก ดังนั้นต้องคิดว่าในประเทศไทยมีเผด็จการเสียงข้างมากจริงหรือเปล่า อาจจะมีบ้าง แต่ถ้าเทียบกับที่อื่นน้อยกว่ามาก เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่ระบบการเลือกตั้งแย่มาก ประเทศไทยดีกว่าหลายเท่า ไม่ใช่ว่าไทยไม่มีเผด็จการเสียงข้างมากเลย แต่มีน้อย  แต่เขาอ้างว่าเผด็จการเสียงข้างมากมีปัญหา จึงเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนจะตรวจสอบหรือควบคุมไม่ได้ สุดท้าย คือเผด็จการเสียงข้างน้อยน่ากลัวกว่า

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเพิ่มอำนาจฝ่ายตุลาการมากขึ้น ถามว่ามันถูกหรือไม่ อย่างที่พูดถึงสมัยก่อน หรือในประเทศที่ประชาธิปไตยมั่นคงแล้ว เขาต้องปกป้องระบบจากเสียงข้างมาก เช่นในยุโรป แต่ประชาธิปไตยของไทยยังไม่มั่นคง ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น การปกป้องระบบจากเสียงข้างมาก ไม่สำคัญเท่าไหร่

ประเทศที่กำลังเดินทางสู่ประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญคือต้องทำให้ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกจัดการเลือกตั้งต่อไปอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยศาลต้องมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องนี้ ไม่ใช่ให้โมฆะ ไม่ใช่ไม่ให้จัด ต้องให้จัด นี่เป็นหน้าที่ของศาลในประเทศที่กำลังจะกลายเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่ทามาดะว่ามานั้นถูกทุกอย่าง แต่ว่าคงไม่ถูกใจผู้มีอำนาจอย่างแน่นอน ส่วนที่มองว่าภาพของประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นจะไม่สวยงามนั้น เขาก็ไม่สนเรื่องนี้อยู่แล้ว สนแค่ว่าผลที่ออกมาจะทำให้ตัวเองสง่างามหรือไม่เท่านั้น

Back to top button