พาราสาวะถี อรชุน

ประเทศไทยจะไปทางไหนดี เป็นคำถามที่ใครก็ไม่กล้าตอบ ยกเว้นผู้มีอำนาจที่ขีดเส้นไว้ชัด ประเทศนี้จะต้องเดินตามเส้นที่ขีดไว้ให้ทั้งปฏิรูปช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีร่างรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ที่ปิดปากคนเห็นต่างให้สงบราบคาบฟังกรธ.ชี้แจงข้อดี (สุดๆ) ของร่างรัฐธรรมนูญและมีลูกค่ายสนช.คอยอธิบายคำถามพ่วงประชามติ เพื่อการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี


ประเทศไทยจะไปทางไหนดี เป็นคำถามที่ใครก็ไม่กล้าตอบ ยกเว้นผู้มีอำนาจที่ขีดเส้นไว้ชัด ประเทศนี้จะต้องเดินตามเส้นที่ขีดไว้ให้ทั้งปฏิรูปช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีร่างรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ที่ปิดปากคนเห็นต่างให้สงบราบคาบฟังกรธ.ชี้แจงข้อดี (สุดๆ) ของร่างรัฐธรรมนูญและมีลูกค่ายสนช.คอยอธิบายคำถามพ่วงประชามติ เพื่อการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

นี่คือความจริงประเทศไทยวันนี้ ผู้มีอำนาจมะงุมมะงาหราอยู่กับการข่มขู่ แดกดันและป้องกันร่างรัฐธรรมนูญอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ให้ถูกย่ำยีโดยฝ่ายที่เห็นต่าง แม้กระทั่งกฎหมายการทำประชามติยังเขียนล็อกไม่ให้ผู้ปฏิบัติอย่างกกต.ทำอะไรได้ เป็นเพียงแค่เสือกระดาษและต้องเดินตามกรอบอันกว้างใหญ่ไพศาลของคำที่ระบุไว้ห้ามก้าวร้าว รุนแรง ข่มขู่หรือโน้มน้าวชักนำ

ทั้งๆ ที่กระบวนการทำประชามติไม่มีที่ใดในโลกเขาทำกัน ในการที่จะปิดปากคนเห็นต่าง ห้ามแสดงความเห็นใดๆ ขนาดในพม่าที่ได้ชื่อว่ามีรัฐบาลทหารอันเข้มแข็งก่อนหน้า เมื่อก่อนจะเข้าสู่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง ผู้มีอำนาจยังคลายกฎเคร่งครัดบางประการ มิเช่นนั้น บ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ความปรองดองที่อยากเห็นก็จะเป็นแค่อากาศธาตุหรือวาทกรรมลวงโลกของท่านผู้นำเท่านั้น

แต่ก็อีกนั่นแหละ บรรดากองเชียร์ที่หลับหูหลับตายกหางกลุ่มคนดีให้มีอำนาจ ไม่ได้อินังขังขอบว่าสิทธิและเสรีภาพของตนเองจะถูกเบียดเบียนไปอย่างไร เพราะแต่ไหนแต่ไรคนกลุ่มนี้ก็ไม่อนาทรร้อนใจต่อความเป็นไปในสังคมอยู่แล้ว เพียงแค่เกิดต่อมอิจฉาและหมั่นไส้เมื่อคราวนายใหญ่มีอำนาจล้นฟ้าเท่านั้นเอง จึงมองทุกอย่างที่รัฐบาลซึ่งมาจากเครือข่ายคนแดนไกลเป็นเรื่องผิด ชั่ว เลวไปทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านั้น อคติดังว่ายังลุกลามไปถึงนักการเมืองไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคที่อุตส่าห์เปิดทางให้คนของตัวเองไปโบกมือดักกวักมือเรียกคสช.ออกมายึดอำนาจ มาถึงวันนี้เห็นกติกาและกรอบที่เขาขีดให้เดินแล้ว เพิ่งตื่นรู้ว่านี่มันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ก็สายไปเสียแล้ว ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องน่าหวั่นวิตกใดๆ สุดท้ายเชื่อว่าพรรคที่ร่วมมือกับอำนาจอีแอบมาโดยตลอด คงจะปรับตัวให้เข้ากับเท้าที่เขาตัดมาให้เข้ากับรองเท้าได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้บทสัมภาษณ์ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯและศึกษาเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้ง ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ประชาไทย ในมุมมองเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ ไปจนถึงวิเคราะห์สถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างจึงเป็นสิ่งที่ต้องเงี่ยหูฟัง

เริ่มต้นที่คิดว่าอนาคตการเมืองไทยกำลังจะเจอกับอะไร เช่น รัฐประหารซ้อนเป็นไปตามโรดแมป การนองเลือด ประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหาร คำตอบที่ได้คือ อนาคตการเมืองไทยเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะมีปัจจัยซับซ้อนหลายอย่างที่สะสมผูกเป็นปมเงื่อนที่ยากแก่การแก้ไขในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในระยะเปลี่ยนผ่านที่เปราะบางและอ่อนไหวนี้ ลำพังปัจจัยในระดับตัวบุคคล (หมายถึงการตัดสินใจต่างๆ ของชนชั้นนำหยิบมือเล็กๆ) ก็สามารถพลิกผันการเมืองไทยให้ออกหัวออกก้อยได้ แต่สำหรับ scenario ที่เป็นไปได้หลากหลายดังที่ตั้งคำถาม คิดว่ารัฐประหารซ้อนมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด เพราะกองทัพค่อนข้างเป็นเอกภาพในระดับนำ เนื่องจากถูกยึดกุมโดยขั้วเดียวกลุ่มเดียวมาเป็นเวลาเกือบทศวรรษ ขั้วอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในสายคุมอำนาจ จึงยากที่จะมีการรัฐประหารซ้อนในกองทัพเกิดขึ้นได้ในระยะอันใกล้นี้

ส่วนโรดแมปที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2560 นั้นไม่ได้ราบเรียบมีโอกาสสะดุดได้ตลอดทาง อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเองก็เคยถูกเลื่อนมาจากโรดแมปเดิมแล้ว หัวเลี้ยวหัวต่ออยู่ที่ประชามติ ถ้าประชามติรัฐธรรมนูญผ่านและนำไปสู่การเลือกตั้งและไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกลางทางระหว่างนั้น หลังเลือกตั้งสังคมไทยก็จะเผชิญกับการสถาปนาระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่แฝงตัวมาในร่างประชาธิปไตย (อย่างน้อยเอาไว้แสดงต่อนานาชาติ เพื่อให้ระบอบมันพอดูมีความชอบธรรม)

โดยระบอบดังกล่าวจะเป็นระบอบที่ชนชั้นนำในระบบราชการโดยเฉพาะกองทัพจะมีอำนาจในการกำกับควบคุมการเมืองไทย โดยสถาบันทางการอย่างการเลือกตั้ง พรรคการเมือง รัฐสภา จะเป็นเพียงสถาบันพิธีกรรมที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากนัก คือจะเป็นระบอบที่ถอยไปไกลกว่าระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยอดีตรัฐบาลเปรมเสียอีก เรียกว่าประชาธิปไตยแบบเศษเสี้ยวจะดีกว่า เพราะมันไม่ถึงครึ่ง

พูดง่ายๆ เจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้งมันแทบจะไม่สามารถกำหนดทิศทางของประเทศได้เลย คราวนี้แหละจะกลายเป็น ประชาธิปไตย 4 วินาทีของจริง คือเลือกตั้งเสร็จแล้วอำนาจประชาชนก็แทบหมดไปทันที กระบวนการตั้งรัฐบาลและการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลจะหลุดไปอยู่ในมือขององค์กรอิสระและกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน โดยเฉพาะส.ว.ตั้ง 250 คน องค์กรและกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะกลายเป็นกลุ่มอำนาจที่ทรงพลัง

สรุปคือ เราไม่ได้ถอยกลับไปสู่ “ระบอบเปรมาธิปไตยเพราะระบอบที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามสร้างขึ้นมันเป็นระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยยุคเปรม เป็นการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างชนชั้นนำข้าราชการ ศาลและองค์กรอิสระ โดยมีรัฐบาลและรัฐสภาเป็นเครื่องประดับ และทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การชี้นำของกองทัพ เป็นระบอบอำนาจนิยมแบบไทยๆ

คำถามตามมาคือ แล้วเราจะอยู่ภายใต้การปกครองในลักษณะเช่นนี้ไปอีกนานเท่าใด ในมุมมองของประจักษ์เห็นว่า เราอาจจะต้องอยู่กับการเมืองที่ไม่มีความหวังแบบนี้ไปอีกนานพอสมควร เว้นเสียแต่ว่า จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าชนวนหรือน้ำผึ้งหยดเดียว ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดมากๆ ของผู้กุมอำนาจที่ทำให้ตัวเองสูญเสียความชอบธรรมอย่างฉับพลันและรุนแรง

โดยสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ เพราะตอน 14 ตุลาฯที่ล้มรัฐบาลถนอมก็คือการจับกุมแกนนำเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตอนพฤษภาทมิฬคือการเสียสัตย์เพื่อชาติของพลเอกสุจินดา คราประยูร ตอนล้มรัฐบาลทักษิณคือการขายหุ้นเทมาเส็ก และตอนล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยบทเรียนที่มีมากมายนี้เอง จึงทำให้ผู้มีอำนาจเดินอย่างระมัดระวัง โอกาสจะสะดุดขาตัวเองหัวคะมำจึงเป็นไปได้ยาก แต่อย่างหนึ่งที่ต้องพึงระวังคือการใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ เหมือนคำพระว่าไว้ ถ้าไม่ใช้ธรรมจะทำให้บรรลัย

Back to top button