พาราสาวะถี อรชุน

คำตอบของท่านผู้นำในการเดินทางไปยื่นหนังสือของ วันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก เมื่อวันวาน น่าจะชัดเจนแล้วว่า “สื่อกับเสรีภาพ” ในยามนี้เป็นอย่างไร คำถามที่ว่า เสรีภาพเท่าที่มีอยู่ยังไม่พออีกหรือ เป็นคำอธิบายชัดเจนว่าผู้มีอำนาจคิดอย่างไรต่อสื่อในประเทศนี้


คำตอบของท่านผู้นำในการเดินทางไปยื่นหนังสือของ วันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก เมื่อวันวาน น่าจะชัดเจนแล้วว่า “สื่อกับเสรีภาพ” ในยามนี้เป็นอย่างไร คำถามที่ว่า เสรีภาพเท่าที่มีอยู่ยังไม่พออีกหรือ เป็นคำอธิบายชัดเจนว่าผู้มีอำนาจคิดอย่างไรต่อสื่อในประเทศนี้

ข้อเรียกร้องที่ขอให้คสช.ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งบางประการได้รับการปฏิเสธแบบนิ่มนวลคือ ให้ยกเลิกบางข้อก็จะขอเพิ่มบางประการ ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ ยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาลจึงได้ตะโกนไล่หลังท่านผู้นำ เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน จนคนถูกตั้งคำถามรีบหันหลังขวับก่อนจะบอกให้ระวังตัวด้วย

มองภาพฉากสุดท้ายนี้ทำให้เห็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ด้านหนึ่งคือคนที่ทำงานเพื่อตรวจสอบและเสนอความเป็นจริงให้กับประชาชน อีกด้านเป็นคนที่ถนัดแต่ใช้อำนาจมาทั้งชีวิต ยิ่งมาสวมบทบาทรัฏฐาธิปัตย์ยิ่งมีแต่ใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ ด้วยเหตุนี้เรื่องเสรีภาพของสื่อคงไม่ต้องไม่เรียกร้องถามหาจากไหน สิ่งที่อยากได้มีแค่ในจินตนาการ โลกแห่งความเป็นจริงคือสิ่งที่จะต้องอยู่ให้ได้ภายใต้บริบทที่จำกัด

ดังที่ ประวิตร โรจนพฤกษ์ เขียนบทความเรื่องเสรีภาพสื่อมิใช่ของฟรี ที่ถือเป็นการฉายภาพของสถานการณ์สื่อในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนมากที่สุด เสรีภาพสื่อมิใช่ของฟรี ราคาค่างวดที่ต้องจ่ายเพื่อรักษาเสรีภาพนั้นสูง โดยเฉพาะภายใต้อุ้งมือเผด็จการ ประชาชนจักต้องต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพไว้ สังคมมิสามารถรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออก หากเราไม่พร้อมที่จะจ่ายราคาค่างวดในการไม่ยอมก้มหัวให้กับเผด็จการและทรราชย์

สำหรับประวิตรได้จ่ายราคาไปโดยถูกจองจำไปแล้วสองครั้งโดยปราศจากข้อหาเป็นเวลารวม 10 วัน โดยเผด็จการคสช.ตั้งแต่มีรัฐประหารปี 2557วันที่ 3 พฤษภาคม 2559 เจ้าตัวควรจะอยู่ที่กรุงเฮลซินกิเพื่อร่วมประชุมและฉลองวันเสรีภาพสื่อโลก ซึ่งจัดโดยองค์การยูเนสโกร่วมกับรัฐบาลฟินแลนด์ หากทว่าประวิตรถูกห้ามมิให้เดินทางไปต่างประเทศโดยคสช.

กระนั้นก็ตาม ราคาค่างวดที่ประวิตรถูกกระทำยังถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับนักข่าวในต่างประเทศบางประเทศที่ถูกเผด็จการจำคุกอย่างยาวนานหรืออุ้มหาย ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่ามันคุ้มที่จะพยายามปกป้องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออก เพราะสังคมมิสามารถดำรงอยู่อย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีศักดิ์ศรีได้หากปราศจากเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกในที่สาธารณะ บรรดาสื่อที่พยายามปกป้องเสรีภาพสื่อจึงปกป้องเสรีภาพสังคมไปโดยปริยาย

การห้ามมิให้ประวิตรเดินทางไปฟินแลนด์โดยคสช. ได้กลายเป็นเครื่องยืนยันต่อการขาดเสรีภาพสื่อไทย และยืนยันความกลัวของเผด็จการในความคิดและการแสดงออกอันอิสระ โดยประวิตรได้ยืนยันว่าไม่มีอำนาจอันไม่ชอบธรรมอันใดที่จะเปลี่ยนใจให้ไปประจบเผด็จการได้ และอำนาจอันไม่ชอบธรรมก็จะไม่มีวันชอบธรรมได้ด้วยความตระหนักว่าตนมิใช่คนคนเดียวในสื่อไทยที่พยายามปกป้องพื้นเสรีภาพอันน้อยนิดที่ยังคงเหลืออยู่ เราจักยังคงเดินไปข้างหน้าและไม่ว่าจะเหลือกี่คนก็จะพยายามเดินต่อไป

ความจริงอีกประการของเผด็จการคือ ต้องการประชาชนเซื่องๆ ที่ไม่รู้จักแม้สิทธิพลเมืองของตนอีกต่อไป เผด็จการมักพูดว่าคำสั่งฉันคือกฎหมาย ถ้ามิอยากถูกดำเนินคดีติดคุกก็จงปฏิบัติตาม ทว่าความคิดอันเป็นอิสระของสื่อและพลเมืองอาจย้อนถามว่า คำสั่งและตัวผู้ออกคำสั่งมีความชอบธรรมหรือไม่น่าเสียดายที่สื่อไทยส่วนใหญ่ทุกวันนี้มิเคยถามดังกล่าว สำหรับสื่อส่วนใหญ่ พวกเขาติดตามเขียนและรายงานเกี่ยวกับรัฐบาลทหารเหมือนกับรัฐบาลนี้มีความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง

เมื่อมองในมุมนี้ ก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนภาวะของสื่อในบ้านเรา เพราะในห้วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า สื่อบางประเภทบางสำนักได้ยืนหยัดอยู่บนจรรยาบรรณวิชาชีพและรักษาความเป็นกลางในอาชีพของตัวเองหรือไม่ เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะสื่อของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น หากแต่สื่อกระแสหลักหลายสำนักได้แสดงธาตุแท้ให้เห็นกันอย่างโจ๋งครึ่ม

ด้วยความไม่มีเสรีภาพจนถึงขั้นถูกมองว่ามีการละเมิดสิทธิของประชาชนนี่กระมัง เลยทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือกสม.ได้ออกแถลงการณ์ล่าสุดเรื่องการรับฟังประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยกสม.ได้อ้างถึงการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องพบว่า นับจากวันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 บังคับใช้ ได้มีบุคคล กลุ่มบุคคล แสดงความคิดเห็นในทางสนับสนุนและไม่สนับสนุนต่อร่างรัฐธรรมนูญ

จนกระทั่งมีการควบคุมตัว ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจนำไปสู่บรรยากาศที่ไม่พึงประสงค์ของสังคมไทยซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศ จากสถานการณ์ที่ปรากฏ กสม. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ตลอดจนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

จึงมีข้อเสนอเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริต การบังคับใช้กฎหมายควรคำนึงถึงบรรยากาศที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายผ่อนคลายในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้มีการควบคุม กำกับ ดูแล การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการตีความ เพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมสร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคม

ขณะเดียวกัน กสม.ยังมีข้อเรียกร้องไปถึงประชาชนด้วย โดยขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนที่มีความเห็นต่าง ไม่ใช้สถานการณ์การรับฟังความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือการเอาชนะหรือความได้เปรียบกัน ซึ่งจะทำลายบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญด้วย แม้อาจจะขัดหูขัดใจคนบางส่วน แต่อย่างน้อยกสม.ภายใต้การนำของ วัส ติงสมิตร ก็ทำให้เห็นว่ายังให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่เหมือนบางคนที่หอบดอกไม้ไปให้ผู้มีอำนาจที่สั่งฆ่าประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในบรรยากาศที่ผู้มีอำนาจขึงขังต่อกระบวนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะท่าทีล่าสุดของผู้บัญชาการทหารบก เลยทำให้มีความกังวลจากคนบางกลุ่มว่า สถานการณ์ที่เป็นไปในลักษณะเช่นนี้ อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีคนจ้องล้มการทำประชามติ ซึ่งไม่ใช่พวกที่เห็นต่าง นั่นเป็นเพราะคนพวกนี้กลัวว่าผลประชามติที่ออกมาจะไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง ตรงนี้ต่างหากที่ผบ.ทบ.น่าจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ

Back to top button