พาราสาวะถี อรชุน

วันพุธนี้คณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือคณะทำงานยูพีอาร์ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือ UNHRC จะทำการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง โดยการพิจารณาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยครั้งแรก ทำไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554


วันพุธนี้คณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือคณะทำงานยูพีอาร์ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือ UNHRC จะทำการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง โดยการพิจารณาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยครั้งแรก ทำไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554

การพิจารณาจะดูจากเอกสาร รายงานของประเทศ โดยข้อมูลในรายงานมาจากรัฐที่ได้รับการพิจารณาทบทวนสถานะ ข้อมูลในรายงานของผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอิสระหรือที่รู้จักกันในนามกลไกพิเศษของสหประชาชาติ หน่วยงานด้านสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานอื่นของสหประชาชาติ และส่วนสุดท้ายข้อมูลจากผู้มีส่วนได้เสียรายอื่น ซึ่งรวมถึงสถาบันด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ องค์กรระดับภูมิภาคและกลุ่มประชาสังคม

ทั้งนี้ประเทศไทยจะมี ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศในการชี้แจงและตอบข้อซักถามของที่ประชุม โดยมีผู้แทนจาก 3 ประเทศทำหน้าที่เป็นผู้รายงาน หรือที่เรียกว่า ทรอยก้า ในการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย ประกอบด้วยผู้แทนจากเอลซัลวาดอร์ ฝรั่งเศส และมัลดีฟส์

โดยคณะทำงานยูพีอาร์กำหนดจะออกถ้อยแถลงคำแนะนำของตนที่มีต่อประเทศไทยในวันที่ 13 พฤษภาคม เวลา 17.30 น. โดยรัฐผู้ได้รับการพิจารณาอาจประสงค์จะแถลงจุดยืนของตนต่อคำแนะนำของคณะทำงานยูพีอาร์ที่ให้กับประเทศในระหว่างการพิจารณาทบทวน และจะมีการเปิดเผยคำแนะนำของคณะทำงานยูพีอาร์ให้สื่อมวลชนทราบในวันดังกล่าวล่วงหน้า

ที่ยกเอาประเด็นเรื่องนี้มาเป็นเพราะเมื่อสัปดาห์ก่อนมีกลุ่มอาจารย์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองยื่นเรื่องต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ตรวจสอบและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลและคสช. จนถูก พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลกล่าวหาว่า เป็นพวกชักศึกเข้าบ้าน

ท่วงทำนองดังว่า คงไม่ต่างจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ที่ปฏิเสธจะให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดที่หลับหูหลับตาบอกว่า เวลาต่างประเทศเลือกตั้งไม่เห็นเชิญกกต.ของไทยไปสังเกตการณ์บ้าง ไม่รู้ว่าได้ถามไถ่กับกกต.บ้างหรือเปล่า เพราะความจริงไม่ต้องให้เขาเชิญกกต.ก็จะแห่แหนกันไปดูงานอยู่แล้ว

นี่คือความจริงของโลกประชาธิปไตยที่ไม่รู้ว่าประธานกรธ.ไปอยู่ที่ไหนมา แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักเป็นเพียงกระพี้ของฝ่ายที่จะต้องปกป้องทุกการกระทำของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การให้ประชาชนมาลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเขียนขึ้นมาให้เกิดความชอบธรรม โดยแทบจะเรียกได้ว่าสิ่งที่กรธ.และสนช.ใช้อยู่เวลานี้เป็นประเภทมัดมือชกคือชี้แจงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงอยู่ฝ่ายเดียว

ประเด็นว่าด้วยประชามติยังมีปมให้พูดถึงกันอีกยาว ย้อนกลับไปดูเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการถูกโฆษกรัฐบาลมองว่าเป็นพวกมั่วซั่ว ไม่นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะแกนนำของเครือข่ายต้องออกมาตอบโต้แบบเบาๆ

สิ่งที่คสช.แถลงว่าไม่ได้ทำ แต่สุดท้ายคนที่ออกมาแถลงก็หลบหนีหายไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นดัชนีชี้วัดประการหนึ่งว่าคสช.ได้ทำตามนั้นจริงหรือไม่ อีกอันคือ มีองค์กรหรือหน่วยงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอ็นจีโอที่ทำงานด้านสิทธิได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบค่อนข้างดี มีหลายองค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่มีเคสต่างๆ ทางการเมือง

โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคมเป็นต้นมา มีการละเมิดสิทธิในลักษณะใดบ้าง โฆษกรัฐบาลควรที่จะไปสำรวจดูหรือศึกษาดูว่าข้อมูลที่หน่วยงานภายนอกรวบรวมและเก็บไว้อย่างเป็นระบบ มันชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิ การข่มขู่ คุกคาม จับกุม คุมขัง หรือแม้กระทั่งการทรมานเกิดขึ้นอย่างไร ดีที่อาจารย์ไม่บอกว่าอย่าใช้แค่ความรู้สึกประเมินเพียงอย่างเดียว

อีกข้อที่เสธ.ไก่อูกล่าวหาว่าเครือข่ายนักวิชาการฯเอาหลายเรื่องมาปนกัน จริงๆ แล้วไม่ได้เอาหลายเรื่องมาปนกัน แต่มันชี้ให้เห็นพัฒนาการหรือการคลี่คลายตัวว่า การละเมิดสิทธิหรือการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร มีการพัฒนา คลี่คลายปมมาตามลำดับ ตอนแรกสุดอาจจะอยู่ในกลุ่มของคนที่มีความคับแค้น ขุ่นเคือง หรือไม่พอใจการรัฐประหาร ก็จะเป็นแบบหนึ่ง

ขณะที่ปัจจุบันมีเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ฉะนั้น ประเด็นค่อนข้างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางกฎหมายที่ คสช.หรือรัฐบาลใช้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะ เรียกได้ว่าแตะไปทางไหนก็เจอปัญหาดังว่านี้

ด้วยเหตุนี้ความเห็นจาก สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศหากมองอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช่ในมติทางการเมือง ก็น่ารับฟัง โดยเสี่ยปึ้งเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ให้อยู่ในทางสายกลาง และการแสดงออกทางความคิดของกลุ่มคนที่เห็นต่างก็ถูกปิดกั้น กลุ่มนักวิชาการและอาจารย์จึงต้องหาช่องทางที่จะเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของพวกเขาคืนมา

อยากจะเตือนความจำให้รัฐบาลว่า ทุกวันนี้สื่อต่างชาติและนักการเมืองในหลายๆ ประเทศต่างก็เฝ้าติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในไทยอย่างใกล้ชิด มิตรประเทศต่างก็เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในไทยเวลานี้ ประชาชน นักการเมือง นักวิชาการ อาจารย์ กำลังขาดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เชื่อได้ว่าเขาก็คงไม่อยู่นิ่งเฉย คงจะออกมาช่วยกันเรียกร้องผ่านองค์กรต่างๆ ที่ควบคุมดูแลในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ

อยากให้รัฐบาลคิดกันให้รอบคอบก่อนที่จะดำเนินการใดๆ หรือทำอะไรลงไป ควรระมัดระวัง เพราะการจัดลำดับประเทศไทยในด้านสิทธิมนุษยชนอาจได้รับการประเมินที่เป็นลบก็เป็นได้ มากไปกว่านั้น ในเมื่อโฆษกรัฐบาลมั่นใจว่าการที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปหลายประเทศ ทุกประเทศมีความเข้าใจในสถานการณ์ของประเทศไทยเป็นอย่างดี ก็ยิ่งไม่ควรที่จะต้องไปสนใจใส่ใจหรือไปตอบโต้ทุกการกระทำของฝ่ายต่อต้าน

Back to top button