พาราสาวะถี อรชุน

เห็นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมืองของสปท. อันมี เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน มี วันชัย สอนศิริ ร่วมเป็นกรรมาธิการที่จะให้ใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายเพื่อสร้างความปรองดอง ในนามพระราชกำหนดรอการกำหนดโทษให้กับผู้ต้องหาคดีการเมืองที่มีเจตนาไม่ร้ายแรง ดูแบบผิวเผินก็เข้าท่า แต่ถ้าฟังคำอธิบายของวันชัยแล้วไม่น่าจะเกิดประโยชน์


เห็นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมืองของสปท. อันมี เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน มี วันชัย สอนศิริ ร่วมเป็นกรรมาธิการที่จะให้ใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายเพื่อสร้างความปรองดอง ในนามพระราชกำหนดรอการกำหนดโทษให้กับผู้ต้องหาคดีการเมืองที่มีเจตนาไม่ร้ายแรง ดูแบบผิวเผินก็เข้าท่า แต่ถ้าฟังคำอธิบายของวันชัยแล้วไม่น่าจะเกิดประโยชน์

เพราะการบอกว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิดังกล่าวนั้น จะเป็นกลุ่มที่มีคดีความเล็กน้อยเกี่ยวกับการชุมนุมเท่านั้น เช่น การบุกรุกสถานที่แต่ไม่เกี่ยวกับการเผาบ้านเผาเมือง ถามว่ากลุ่มหลังนั้นใครถูกกล่าวหาแบบเต็มๆ ก็หนีไม่พ้นคนเสื้อแดง โดยเฉพาะกรณีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ศาลได้ยกฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดไปแล้ว แต่คนที่โจมตีผู้ต้องหาเหล่านั้นยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ

การที่คนซึ่งเสนอเหมือนดูหวังดีแต่ยังใช้ถ้อยคำเช่นนี้ถามว่าแล้วมันจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ยิ่งเห็นคำว่าคดีเล็กน้อยจากการบุกรุกสถานที่ต่างๆ ถามว่า การปิดสนามบิน การปิดทำเนียบรัฐบาล การยึดส่วนราชการต่างๆ เป็นความผิดเล็กน้อยอย่างนั้นหรือ ยิ่งมองไปยังเจตนาก็ยิ่งจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบและข้อครหาว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน แต่มากไปกว่านั้นนี่อาจเป็นกับดักล่อให้คนที่กลัวคดีความแล้วไปยอมสารภาพในศาล แม้ไม่ได้ถูกจองจำในคุกแต่จะถูกจองจำเรื่องการเคลื่อนไหวไปตลอดชีวิต

เมื่อข้อเสนอเกิดความสงสัย เริ่มต้นที่คนกันเองอย่าง วีระ สมความคิด ตั้งปุจฉากับแนวคิดดังว่านี้อย่างน่าสนใจว่า ใครอยู่เบื้องหลังในการจะให้ออกพ.ร.ก.รอการกำหนดโทษเพื่อความปรองดอง เพื่อให้คดีสิ้นสุดลงทันที โดยไม่ต้องมีการตัดสินคดีหรือฟังคำพิพากษา เคยสอบถามความต้องการของผู้ถูกดำเนินคดีหรือไม่ อย่างไร

ก่อนจะตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้าจะนิรโทษเพื่อปรองดองทำไมไม่ให้คดีความดำเนินไปจนจบให้ศาลพิพากษาให้จบก่อน ผู้ถูกกล่าวหาผิดจริงหรือไม่ บางคนศาลอาจยกฟ้อง ไม่ต้องมาถูกบังคับให้รับสารภาพก่อน แล้วรอการลงโทษจากศาลไปตลอดชีวิต ในอนาคตหากบ้านเมืองมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน หรือรัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหาย ผู้ถูกดำเนินคดีเหล่านี้จะออกมาร่วมชุมนุมเพื่อช่วยรักษาผลประโยชน์ให้ชาติบ้านเมืองไม่ได้อีกต่อไป

การใช้เงื่อนไขนี้ชาติจะเสียหายเสียประโยชน์ เนื่องจากจำกัดสิทธิคนรักชาติบ้านเมือง ไม่ให้ออกมาตรวจสอบ ช่วยปกป้องรักษาผลประโยชน์ให้ส่วนรวม ผู้ถูกดำเนินคดีที่ฝ่าฝืนข้อห้ามรอการกำหนดโทษ จะถูกเรียกตัวมาฟังคำพิพากษาในคดีเดิมเพื่อลงโทษทันที มุมมองเช่นนี้ของวีระไม่ต่างจาก จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.

โดยจตุพรเห็นว่า ข้อเสนอของเสรีดูเหมือนทำให้การต่อสู้เพื่อประชาชนตามอุดมการณ์ ตามความเชื่อกลายเป็นสิ่งตลก เป็นของเล่น การชูประเด็นเช่นนี้ขึ้นมาราวกับต้องการเสี้ยมให้เกิดปัญหาขึ้นกับประชาชน จึงแสดงถึงเจตนาไม่สุจริต การให้ผู้ถูกดำเนินคดีต้องยอมรับความผิดในศาลเสียก่อน แล้วถูกควบคุมด้วยเงื่อนไขไม่ยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองไปตลอดชีวิต ย่อมชี้เจตนาของผู้เสนอได้ชัดเจน

เมื่อมองเห็นกลเกมที่ซ่อนเงื่อนไว้ จตุพรจึงแนะให้เสรีไปเสนอแบบนี้กับพวกระบอบสนธิ-จำลอง ว่าพร้อมรับหรือไม่ จะหยุดหรือเปล่า เพราะถ้าหยุดก็เสียคน เนื่องจากที่ผ่านมาออกตัวแรง ถ้าไม่แสดงอาการใดๆ แสดงว่า ยอมรับ ซึ่งก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น ส่วนม็อบกปปส.แม้อยากจะล้างคดีที่ติดตัว แต่วิธีการเช่นนี้ไม่น่าใช่ทางออก เว้นเสียแต่ว่าชีวิตนี้ก่อม็อบหนเดียวแล้วก็เลิกนั่นก็อีกเรื่อง

แต่การที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำคนอื่นๆ ยืนยันมาโดยตลอดว่าสิ่งที่พวกตัวเองกระทำไม่ใช่ความผิด ถูกต้องทุกอย่าง ก็ต้องไม่รับข้อเสนอของสปท. ต้องไปสู้คดี เข้าสู่ศาลอย่างเสมอภาค ซึ่งความจริงอีกประการที่ต้องยอมรับกันคือ แกนนำของม็อบเสื้อแดงส่วนใหญ่ถูกส่งเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลแทบทั้งสิ้น และต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุนี้จตุพรจึงยืนยันหนักแน่น กฎหมายล้างโทษแกนนำทุกสีไม่เอา อย่ามายุ่ง และย้ำว่าเจตนาคุณไม่ดี

ความจริงหากเป็นความหวังดีจริง เสรีและชาวคณะจะต้องเสนอเงื่อนไขแบบไร้ข้อผูกมัดและมุ่งไปที่แนวร่วมของม็อบแต่ละสีที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งส่วนใหญ่ก็รู้กันอยู่แล้วว่าพวกคนสีไหน เพราะคนเหล่านั้นสมควรจะได้รับข้อยกเว้นเพื่อนำไปสู่กระบวนการปรองดองอย่างแท้จริง ส่วนบรรดาแกนนำทั้งหลายนั้นต้องว่ากันไปตามความผิดที่ก่อขึ้น

โดยเมื่อพิจารณาคดีของแกนนำม็อบ 3 สีแล้ว นปช.ถูกข้อหาก่อการร้ายต่อสู้คดีในชั้นศาลมาแล้วกว่า 6 ปี ส่วนระบอบสนธิ-จำลอง ต้องสู้กรณีการยึดสนามบินซึ่งเป็นคดีก่อการร้ายสากล จนถูกเรียกค่าเสียหายมาแล้วกว่า 600 ล้านบาท ส่วนเทพเทือกกับพวกกปปส.ไปต่อสู้คดีก่อการร้าย คดีกบฎและคดีรพยายามฆ่า รวมแล้วเจอข้อหาร้ายแรงถึง 9 คดี มีโทษประหารชีวิต

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้สำหรับม็อบของเทพเทือกก็คือ อัยการส่งฟ้องศาลไปเพียงแค่ 4 คน เหลืออีกกว่า 50 คนที่ถูกดึงเรื่องเอาไว้ยังไม่ฟ้องศาล ท่ามกลางความสงสัยของคนที่ติดตามคดีว่าเป็นเพราะเหตุใด ยิ่งได้เห็นเทพเทือกออกมาสนับสนุนผู้มีอำนาจอย่างออกนอกหน้า ยิ่งทำให้น้ำหนักต่อการไม่สั่งฟ้องเพราะเลือกปฏิบัติมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

หรือว่ายุคนี้เขาไม่สนใจต่อเสียงติฉินใดๆ เหมือนอย่างที่ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.เตือนกลุ่มเคลื่อนไหวให้ดู “จ่านิว” เป็นอุทาหรณ์ จน จาตุรนต์ ฉายแสง ต้องออกมาตั้งข้อสังเกตต่อท่าทีดังกล่าวของผบ.ตร.ว่าสื่อถึงอะไร ถ้าเรียกร้องเสรีภาพก็อาจถูกควบคุมตัวไปโรงพัก ถ้าไม่มีคนไปให้กำลังใจก็อาจเอาไปขังเสียนานๆ ถ้าพยายามตรวจสอบว่าโครงการของรัฐมีทุจริตหรือไม่ อาจถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

ถ้าไปยืนเฉยๆ ในที่สาธารณะก็อาจถูกควบคุมตัวได้และอาจถูกดำเนินคดีด้วย ถ้าถูกกระทำอย่างไร้ความเป็นธรรมสารพัดแล้วยังไม่หยุด คุณอาจยังไม่โดนอะไรเพิ่มเติมอีก แต่แม่ของคุณก็อาจถูกตั้งข้อหาร้ายแรงอย่างไม่เป็นธรรม ถูกขังและอาจถูกอัยการทหารฟ้องในศาลทหาร คนในครอบครัวต้องเดือดร้อนกันไปอย่างนั้นหรือ

เป็นอุทาหรณ์ว่าถ้าคุณไม่หยุดเรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม คุณก็จะถูกเล่นงานด้วยวิธีต่างๆ เป็นอุทาหรณ์ว่าถ้าคุณยังไม่หยุดอีก แม่ของคุณ น้องคุณ ยายคุณจะต้องเดือดร้อนกันหมดอย่างนั้นหรือ ไม่โหดเหี้ยมเกินไปหรือ ไม่ต้องพูดถึงความถูกต้องยุติธรรมอะไรกันแล้วอย่างนั้นหรือ สังคมไทยจะอยู่กันอย่างนี้หรือ นี่คือคำถามว่าช่วงเปลี่ยนผ่านและเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะเดินกันไปด้วยวิธีเช่นนี้หรือ

Back to top button