เหนือกว่าพระเอก คือ “อมร มีมะโน”

อมร มีมะโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ AJD ได้ชื่อว่าลูกผู้ชายตัวจริง เพราะ.... ยืดได้ และ หดได้


แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

 

อมร มีมะโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ AJD ได้ชื่อว่าลูกผู้ชายตัวจริง เพราะ…. ยืดได้ และ หดได้

เวลาที่คิดแผนธุรกิจ อดีตเจ้าพ่อใหญ่ขายเครื่องไฟฟ้าตลาดล่าง ต้องคิดใหญ่…..ไม่คิดเล็ก

เวลาก้าวพลาด ก็ยอมรับว่าพลาด ไม่มีบ่ายเบี่ยงอ้อมค้อม

แต่เวลาประสบความสำเร็จก็ไม่อายที่จะยอมรับ…. ตามคำขวัญ พระเอกตัวจริง…แม้ว่าตอนหลังๆ เนี่ย จะคบตลกตัวจริงมากขึ้น… ก็เป็นวิถีธุรกิจ

หลังจากเมื่อเดือนเศษๆ AJD นำโดยอมรเอง เปิดแถลงข่าวใหญ่ เรื่องที่  Alibaba เว็บ อี-คอมเมิร์ซใหญ่สุดของโลก ทำการแต่งตั้งให้ AJD เป็นตัวแทนผู้ให้บริการเว็บไซต์ Alibaba ในไทยอย่างเป็นทางการ

ข้อตกลงเป็นตัวแทนอี-คอมเมิร์ซนั้นระบุว่า ได้เซ็นสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรกันไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  แต่เพิ่งจะมาประกาศให้เอิกเกริกว่า เพื่อหวังผลในการสร้างแบรนด์ของทั้งสองฝ่าย

ข้อตกลงระบุว่า  AJD จะเป็นตัวแทนอาลีบาบา รีเซลเลอร์ในไทย เพื่อดำเนินการรวบรวมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผู้ส่งออกไทยมาสมัครเป็นสมาชิกของ Alibaba ที่ปัจจุบันถือเป็นเว็บไซต์ขายของออนไลน์ใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อนำสินค้ามาวางขายบนเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งมีผู้ซื้อทั่วโลกกว่า 65 ล้านคน ครอบคลุมกว่า 200 ประเทศ

รายได้จากค่าสมาชิกดังกล่าว ซึ่งคิดจากลูกค้าประมาณรายละ 50,000 บาท ทาง AJD ตั้งเป้าหมายว่า ปีแรกจะมี SMEs ไทยสมัครเป็นสมาชิกอยู่ที่ 5,000 ราย และมีรายได้อยู่ที่ 250 ล้านบาท คงจะตกมาบางส่วนที่ให้กับ AJD …ปีต่อไป จะตั้งเป้าเป็น 1 หมื่นราย  โดยที่ AJD จะรับรู้รายได้ประมาณ 15-40% ของยอดสมาชิก ..แต่ต้นทุนปีแรก ก็ต้องมี โดยคาดว่าจะตั้งเป้าลงทุนที่ 12.50 ล้านบาท

ตอนแถลงข่าวนั้น ใครๆ ก็ตั้งคำถามว่า  “อมร” จะกลายเป็น “สมรักษ์ คำสิงห์” คนที่สองไปหรืออย่างไร หากว่าทำเป้าไม่ได้ เพราะความมั่นใจ กับข้อเท็จจริง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

การแถลงข่าวล่าสุดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอกหัวตะปูย้ำชัดว่า อมรนั้นนอกจากพูดจริง “ไม่ได้โม้” แล้ว  ยังทำได้ดีกว่าพูดหลายเท่า

 “อมร” นำทีมแถลงว่า โครงการเป็นรีเซลเลอร์ของอาลีบาบานั้น ได้พบรหัสลับทำนอง “เซซามี เปิด” (คาถาเปิดขุมทรัพย์ที่ซ่อนไว้ของโจรในนิทานอาหรับราตรี) เข้าแล้ว

คาถาที่ว่า คือ การเกี่ยวก้อยเอาบรรดาลูกค้าสินเชื่อ SME ของธนาคารกรุงไทย เข้ามาเป็นเครือข่ายอี-คอมเมิร์ซ ของอาลีบาบาด้วย

โมเดลธุรกิจที่อมรเริ่มต้นทำนี้ นอกจาก AJD จะสามารถเพิ่มยอดจำนวนสมาชิกที่บริษัทหาให้กับอาลีบาบา (Alibaba.com) จะเพิ่มเป็น 10,000 ราย จากเดิมที่คาดว่าจะมีจำนวนสมาชิก 5,000 ราย(ซึ่งขณะนี้ได้มีจำนวนสมาชิกเริ่มทยอยเข้าสู่ระบบมากขึ้น) โดยไม่ต้องมีต้นทุนมหาศาลในการค้นหาสมาชิก

ความโดดเด่นที่เหนือกว่าคือ ลูกค้าของ KTB คือลูกค้าที่คัดสรรแล้วว่ามีคุณภาพแน่นอน ไม่ต้องสกรีนความน่าเชื่อถือหรือเสียเวลาหาเรตติ้งให้ยุ่งยาก

ข้อเท็จจริง คือ ธนาคารอย่าง KTB คงจะไม่สุ่มเสี่ยงกับการที่จะเสียชื่อ เพราะเอาลูกค้าด้อยคุณภาพมาแนะนำตัวบนเว็บอาลีบาบา ให้เสียชื่อ…. เสียแบรนด์ระดับโลกเลยนะ หากเป็นเช่นนั้น

งานนี้ AJD และ ALIBABA ได้ประโยชน์เต็มๆ

คำแถลงว่า “…. บริษัทประเมินว่าการที่ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยจะเป็นตัวการที่สำคัญผลักดันให้ยอดจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นได้อย่างเชัดเจน เพราะธนาคารกรุงไทยมีเครือข่ายผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกรุงไทยเป็นอย่างมาก….”  จึงไม่ผิดสาระแต่อย่างใด

ส่วน KTB ก็ไม่ได้เสียหายอะไรเลย เพราะงานนี้มีแต่ได้ กับ ได้ เช่นกัน

ที่ผ่านมา KTB ได้เคยประกาศแผนธุรกิจที่จะเป็น เกตเวย์ สำหรับเอสเอ็มอี ในการอัพเกรดขึ้นไปเพิ่มช่องทางการขายบนตลาดออนไลน์ เพราะเปิดให้ทั้งลูกค้าและเอสเอ็มอีที่ยังไม่ใช่ลูกค้ากรุงไทยมาใช้บริการ

กลุ่มลูกค้าระดับเอสเอ็มอี เป็นกลุ่มที่ KTB ต้องการออกแรงมากขึ้นกว่าแค่ปล่อยกู้หากำไรจากดอกเบี้ยแบบเสือนอนกิน แต่ต้องช่วยคิดวิธีให้ เอสเอ็มอีเข้มแข็งเติบโต เพราะการทำให้ลูกค้าโต คือการติดอาวุธการแข่งขันของ KTB ช่องทางอี-คอมเมิร์ซระดับโลก จึงทำให้ KTB มีช่องทางสนับสนุนลูกค้า เท่าเทียม หรือเหนือกว่าคู่แข่งอย่าง KBANK คิดค้น ที่กรุงไทยเลือกใช้ ไม่ต่างไปจากที่ก่อนหน้านี้ เครื่องมือมากมายให้กับเอสเอ็มอีในฐานะเจ้าตลาดด้านนี้อยู่เดิม

ที่สำคัญการพาลูกค้าของ KTB อัพเลเวลขึ้นบนเวทีของ อาลีบาบา ตลาดออนไลน์ใหญ่มโหฬาร สำหรับ B2B หรือตลาดค้าส่งวอลุ่มโต ที่ผู้ผลิตและพ่อค้าได้มาเจอกัน มากกว่า 400 ล้านราย/ปี มีระบบเพย์เมนต์ ฯลฯ ครบถ้วน และประเมินขั้นต้นว่าจะมีผู้ซื้อทั่วโลกกว่า 65 ล้านคนครอบคลุมกว่า 200 ประเทศ

KTB ก็วินเช่นกัน เพราะลูกค้าไม่หนีไปไหน

พันธมิตรแบบวิน-วิน-วิน นี้ ใครว่าเป็นการจับมือธรรมดา แสดงว่าสายตามี แต่ไร้แววอย่างยิ่ง… ไปขายเต้าฮวยยังไม่ขึ้นเลย ให้ตายสิ โรบิ้น

สำหรับ AJD แม้ว่าจะได้รายได้จากส่วนแบ่งในการหาสมาชิก โดยมีค่าธรรมเนียมระดับ 15-40%  ก็ถือว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น

คนสมองไวอย่าง อมร มีมะโน ย่อมหาทางสอดแทรกสร้างโอกาสในระยะต่อไปแน่นอน….แน่กว่าแช่แป้ง

งานนี้ หาก “อมร” ทำให้ AJD กลับมาทำกำไรสวยในปีนี้ละก็ รับรองว่ามีโอกาสได้เป็นรมว. หรือ รมช.พาณิชย์ ได้… ไม่ได้พูดเล่นๆ นะเออ

เพราะงานนี้ คนชื่อ อมร อยู่ในฐานะเหนือกว่าพระเอกตัวจริงหลายระดับ…เป็นผู้กำกับตัวจริงเสียแล้ว

 

Back to top button