เสี่ยป๋องกับ IVLลูบคมตลาดทุน

วานนี้ (29 มิ.ย.) หุ้น IVL : บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ร่วงลงอย่างหนัก


ธนะชัย ณ นคร

 

วานนี้ (29 มิ.ย.) หุ้น IVL : บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ร่วงลงอย่างหนัก

ปิดตลาด  -1.50 บาท  มาที่ 28.75 บาท เปลี่ยนแปลง -4.96%

ผมสอบถามไปยัง “เสี่ยป๋อง” คุณวัชระ แก้วสว่าง นักลงทุนรายใหญ่ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้น IVL

เสี่ยป๋อง ยืนยันว่า เขาไม่ได้ทำอะไรกับหุ้นตัวนี้เลย และนับตั้งแต่ที่ซื้อมาอยู่ในพอร์ต ก็ตั้งใจว่าซื้อลงทุนแบบถือระยะปานกลาง ไปจนถึงยาวโน่นเลย

สรุปคือ ต้องการลงทุนแบบนักลงทุน  VI

เสี่ยป๋อง ยังแสดงความเชื่อมั่นต่อผลประกอบการของหุ้น IVL

เขาบอกว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในมือ ยังมั่นใจว่า แนวโน้มผลประกอบการของ IVL ยังมีทิศทางที่ดี และแม้จะมีความเสี่ยงจากเรื่องของ Brexit แต่ก็อยู่ในวงจำกัด หรือเล็กน้อยมากๆ

ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนถึงการปรับตัวขึ้นของหุ้น IVL

ราคาหุ้น IVL เริ่มดีดตัวขึ้นอย่างสง่างาม นับตั้งแต่ช่วงใกล้กลางเดือนเมษายน 59 เป็นต้นมา

ขณะนั้นราคาหุ้นอยู่ประมาณ 22.00-23.00 บาท

หลังจากนั้น ราคาหุ้นได้ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมาปิดตลาดระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 6–8 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่ราคา 33.75 บาทต่อหุ้น ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี

ก่อนจะค่อยๆ โรยตัวลงมา พร้อมกับสลับปรับขึ้นไปบ้าง

ทว่าในช่วงที่มีการทำประชามติของสหราชอาณาจักร หรือประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับการจะออก หรือไม่ออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู หรือไม่

ราคาหุ้นยังคงอยู่แถวๆ 30.00–32.00 บาท

และแม้ว่าหลังประชามติ จะผ่านไปแล้ว รับทราบผลไปแล้วว่า อังกฤษจะออกจากอียู ราคาหุ้นก็ยังทรงตัวในระดับ 30.00 บาท

และมาร่วงลงอย่างหนักวานนี้นั่นแหละ

ผมเข้าไปดูข้อมูลของ IVL ของโบรกฯ ต่างๆ ปรากฏว่า มีของ Deutsche Bank ที่ออกบทวิเคราะห์มาเป็นเชิงลบต่อหุ้น IVL ค่อนข้างมาก แต่อ่านแล้วก็งงๆ

เพราะ Deutsche Bank บอกว่า ได้ปรับลดราคาเป้าหมายของ IVL ลงจาก 29 บาท เหลือ 24 บาท

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ราคาเป้าหมายใหม่ที่ระดับ 24 บาท  (ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า) แต่P/E Ratio ของหุ้น IVL กลับอยู่เพียง 8 เท่า

หรือหากย้อนกลับไปดูราคาหุ้น IVL ที่เป็นเป้าหมายก่อนหน้านี้คือ 29 บาท P/E Ratio ก็จะอยู่ที่ 10 เท่า (เท่านั้น)

หุ้นปิโตรเคมี P/E Ratio ระดับนี้ถือว่าถูกมาก

ยิ่งไปกว่านั้น Deutsche Bank คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2559 ของ IVL ไว้ที่ระดับ 1.20 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิ 6.60 พันล้านบาท

หรือกำไรสุทธิเป็นบวกถึง 81%

ประเด็นที่ผมไม่เข้าใจคือ เมื่อคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้เติบโตอย่างมาก แต่กลับแนะนำให้ขาย เพื่อ…?

ก่อนหน้านี้ หากจำกันได้ มีโบรกฯ ต่างประเทศแห่งหนึ่ง ปรับลดการลงทุนหุ้น กสิกรไทย หรือ KBANK ซึ่งสวนทางกับโบรกฯ ของไทยที่ยังแนะนำให้ “ซื้อ”

มีนักวิเคราะห์ที่คร่ำหวอดในวงการบอกว่า โบรกฯ ต่างประเทศมักจะทุบหุ้น

และเมื่อราคาปรับลง ก็จะเข้ามาเก็บหุ้น ซึ่งกรณีของ KBANK ก็ถูกทำในรูปแบบนี้

กรณีของ IVL ก็เช่นกัน

แม้โบรกฯ ต่างประเทศจะให้ “ขาย” แต่โบรกฯของไทยยังแนะนำ “ซื้อ”

เช่น ของ บล.เอเซีย พลัส ให้ราคาเป้าหมายของ IVL ไว้ที่ 35 บาท / หุ้น และจากประเด็นเรื่อง Brexit ก็กระทบกับ IVL เพียง 0.5% ซึ่งถือว่าไม่มีนัยสำคัญ

บล.ซีไอเอ็มบี ก็ยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น IVL อยู่เช่นกัน

และยังคงให้ราคาเป้าหมาย 50 บาท / หุ้น และมี P/E Ratio ที่ระดับ 9 เท่า

บล.ซีไอเอ็มบี เชื่อว่า IVL จะสามารถปรับตัวอยู่รอด และเป็นผู้ชนะ ในสถานการณ์เช่นนี้ โดยการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างดี และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยหนุนของ IVL มาจาก 3 ประเด็นหลัก

  1. การเพิ่มขึ้นของกำไรที่ได้รับจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมากกว่า ผลกระทบจากค่าเงินยูโร
  2. อัตรากำไร ในตลาดยุโรปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากประโยชน์ที่ได้รับจากการอ่อนค่าของเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

และ 3.ปริมาณอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้น จากสินค้าหลัก ได้แก่เส้นใยโพลีเอสเตอร์ และ PET

ระวังขายหมูกันนะ

 

Back to top button