เอเชียคือหลังอิงของโลกพลวัต 2016

ตลาดหุ้นเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) รีบาวด์กลับแรงต่อเนื่อง โดยที่หลายตลาดพยายามจะทำนิวไฮระลอกใหม่ นับตั้งแต่เกิดภาวะกระหน่ำขายรุนแรงหลังประชามติของอังกฤษเกิดการพลิกผันผิดความคาดหมาย


วิษณุ โชลิตกุล

 

ตลาดหุ้นเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) รีบาวด์กลับแรงต่อเนื่อง โดยที่หลายตลาดพยายามจะทำนิวไฮระลอกใหม่ นับตั้งแต่เกิดภาวะกระหน่ำขายรุนแรงหลังประชามติของอังกฤษเกิดการพลิกผันผิดความคาดหมาย

ภาวะที่ตลาดหุ้นในเอเชีย พลิกกลับตัวอย่างรวดเร็วเสมือนหนึ่งไม่ได้รับหรือไม่มีหวั่นต่อสถานการณ์ในยุโรปเลยนั้น ไม่ได้เป็นแค่มายาภาพ แต่เกิดจากมุมมองของนักลงทุนเป็นสำคัญ

นักลงทุนระดับกองทุนข้ามชาติ มองเห็นตลาดหุ้นเอเชียโดยเฉพาะชาติที่มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ และระบบธนาคารแข็งแกร่ง  กลายเป็นแหล่งพักพิงหรือหลบภัยชั่วคราวที่วางใจได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ปลอดภัยมากกว่า

การทะยานขึ้นของตลาดหุ้นในเอเชียจากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลกลับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และอาจจะต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ ทั้งที่ไม่ได้มีข่าวดีมากหรือร้ายมากในเอเชียเอาเสียเลย ไม่ได้เป็นเพราะกองทุนเก็งกำไรต่างชาติชื่นชอบหรือมองเห็นโอกาสในการแสวงหาประโยชน์จากการเก็งกำไร แต่เป็นเพราะ “ส่วนต่างของความปลอดภัย” (margin of safety) มากกว่า

การทะยานขึ้นของดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวานนี้ มีคำอธิบายว่า  เกิดจากหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ดีดตัวสูงขึ้นนำตลาดจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และหยวนแข็งค่า รวมทั้งความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในตลาดหลังจากที่นักลงทุนซึมซับผลกระทบจากการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์เชิงบวกว่า ธนาคารกลางต่างๆ ของโลกเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม  เป็นเพียงหนึ่งในคำอธบายที่มีมุมอื่นให้พิจารณาอีก

 ผู้จัดการกองทุนเฮดจฟันด์ใหญ่ระดับโลก มีมุมมองต่อสถานการณ์ในอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐฯในทางลบต่อไป โดยมีฉันทามติที่ไม่เป็นทางการว่าผลการลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) จะใช้เวลานานกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากยังไม่มีการวางแผนการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมหลังทราบผลการทำประชามติ

นักลงทุนในสหรัฐฯและยุโรป ต่างงุนงงว่า อังกฤษจะมีขั้นตอนอย่างไรในกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป  และจะมีการเตรียมแผนการระยะสั้น กลาง หรือยาวที่เหมาะสมเพียงใด ที่จะไม่ปล่อยให้เกิดความปั่นป่วนตามมา

ผลของความไม่พร้อมรับมือของทั้งอังกฤษและผู้นำสหภาพยุโรป ทำให้นักลงทุนพากันคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ได้ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง เพราะเฟดฯถูกเงื่อนไขบังคับให้จำต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีดิ่งลง แตะจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี ได้ลดความน่าดึงดูดใจของพันธบัตรสหรัฐ ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนทองคำ ตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ในเอเชียมากขึ้น

กระแสฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ารุนแรงในเอเชียยามนี้  นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้และหุ้นของเอเชียพากันรับทราบกันมากขึ้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเอเชียกำลังจะได้แปลงฐานะจากชาติที่มีระบบการเงินอ่อนแอ มีกลไกตลาดทุนที่เปราะบาง และ มีเศรษฐกิจที่กำลังผันผวนเพราะยังก้าวไม่ข้าม “กับดักของชาติรายได้ปานกลาง” มาเป็นฐานที่มั่นที่ให้ความปลอดภัยแก่ทุนสัมภเวสีที่เร่ร่อนไร้ที่ลงชั่วคราวได้ดีระดับหนึ่ง

ความมั่นใจดังกล่าว ทำให้แม้จะยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่นิ่งดีให้ต้องสะสางอีกมาก ก็ทำให้ธนาคารกลางของจีนเมื่อวานนี้ ออกประกาศว่าได้ดูดซับเม็ดเงินจำนวน 1.8 แสนล้านหยวน (2.7 หมื่นล้านดอลลาร์) ออกจากตลาด หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทำการอัดฉีดเงิน 9 หมื่นล้านหยวนเข้าสู่ระบบธนาคารผ่านทางข้อตกลงซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (Reverse repo) อายุ 7 วัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยืดหยุ่นเพื่อให้ระบบธนาคารมีความคล่องตัวทางการเงิน

ความมั่นใจที่ดูเหมือนเกินเหตุนี้ ไม่ได้ปิดกั้นข้อเท็จจริงที่ว่า ค่าเงินหยวนของจีนเองก็อยู่ในสภาพที่มีแรงกดดันให้ถดถอยลง จากการที่ตลาดพากันคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะปล่อยให้หยวนอ่อนค่าลงต่ำสุด ถึง 6.8 ต่อดอลลาร์ในปีนี้  ซึ่งจะเท่ากับการลดค่าเงินหยวนลง 4.5% ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า จีนต้องการพยุงให้ภาคการผลิตภายในที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ จากการที่ยอดสั่งซื้อเพื่อส่งออกและสต๊อกสินค้าคงคลังร่วงลง และภาคโรงงานปลดคนงานออกมากยิ่งขึ้น กดดันให้เงินไหลออกจากประเทศผ่านช่องทางที่ซ่อนเร้นมากมาย

สำหรับตลาดหุ้นไทย ฟันด์โฟลว์ที่เข้ามาขับเคลื่อนตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ มีความชัดเจนที่ไม่อาจปิดบังได้ การเข้าซื้อหุ้นโดยไม่หวั่นกับแรงขายของรายย่อย และพอร์ตโบรกเกอร์ ทำให้กองทุนในประเทศที่เคยกับการขายทิ้งต้องเปลี่ยนใจมาซื้อหุ้นกลับคืนจริงจัง ดันดัชนีทะลุปิดเหนือแนวต้านจิตวิทยาสำคัญที่ไม่เคยผ่านมาได้หลายครั้ง  1,450 จุด ได้อย่างสวยงาม

นักวิเคราะห์ (ไทย) ของสำนัก Credit Suisse ที่เคยทุบหุ้นกันมานานจนคุ้น ปรับมุมมองใหม่กะทันหันเมื่อวานนี้ หันมาปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุน จาก “underweight” เพิ่มเป็น “overweight” โดยปรับเป้าหมาย SET INDEX ขึ้นจาก 1,390 จุดเป็น 1,520 จุด โดยเลือกหุ้น Top pick เลือกเอาหุ้นรายตัวในกลุ่มธนาคาร แล้วกระจายไปกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ SPALI, AP, LH, CPALL, BTS, STEC และ SAT

คำอธิบายหลักในการปรับประมาณการขึ้นมาจากการเปลี่ยนมุมมองเชิงบวกหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในแง่คุณภาพของสินทรัพย์ และดัชนีผู้บริโภคที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้น โดย CS เชื่อว่า ที่ผ่านมาตลาดมีความกังวลต่อ NPLs และการบริโภคจนเกินไป และที่สำคัญ หุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่าทางบัญชีที่ค่อนข้างต่ำ

มุมมองดังกล่าวไม่สามารถบอกได้ว่าผิดหรือถูก แต่มันคือเครื่องมือในการขับเคลื่อนราคาหุ้นและดัชนีตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างของเมื่อวานนี้ในภาคซื้อขายตอนบ่าย แรงซื้อนำหุ้นในกลุ่มแบงก์เข้ามาต่อเนื่องอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะหุ้น KBANK, SCB และ BBL

แรงซื้อกลุ่มแบงก์ซึ่งขึ้นมาค่อนข้างแรง ถือว่ากลับทิศกับการประเมินของนักวิเคราะห์หุ้นไทยสำนักต่างๆ ที่มองว่า เรื่องพร้อมเพย์จะเป็นความเสี่ยงต่อการทำกำไร แสดงว่าหากต่างชาติคิดจะเข้าซื้อ ปัจจัยลบที่เคยอธิบายกันมา ก็ไม่มีความหมายอะไรมากนัก เพราะ “อารมณ์ตลาด” มีบทบาทครอบงำสูงกว่าในการดันราคาหุ้น ที่ไม่ใส่ใจกับพื้นฐานชั่วคราว

การวิ่งขึ้นของราคาหุ้นในไทย และเอเชีย อาจจะไม่ยั่งยืน และยังต้องเปรียบกับกับตลาดเก็งกำไรอื่นเช่น ตลาดน้ำมัน หรือ ตลาดทองคำ (ซึ่งก็เป็นยามขาขึ้นเช่นกัน) ที่สามารถเทียบกันได้ว่า อย่างไหนจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่ามากกว่ากัน

หลังอิงชั่วคราวนี้ เป็นโอกาสชั่วคราวของนักลงทุนในเอเชียรวมทั้งไทยด้วย อย่างเลี่ยงไม่พ้น ใครจะหยิบฉวยได้มากน้อย ขึ้นกับความสามารถที่ห้ามลอกเลียนแบบ

Back to top button