DTAC ค้านเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800MHz แนะกสทช.หั่นราคาขั้นต่ำ-ทบทวนระยะเวลาจ่ายเงิน

DTAC ค้านเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800MHz แนะกสทช.หั่นราคาขั้นต่ำ-ทบทวนระยะเวลาจ่ายเงิน


นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เปิดเผยว่า บริษัท ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ในเครือของดีแทค ได้ยื่นจดหมายต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเสนอความเห็นต่อการประมูลคลื่น 1800 MHz โดยเรียกร้องให้พิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์การประมูลเดิม เพื่อประโยชน์สูงสุดของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้บริโภค และร่วมผลักดันนโยบาย ประเทศไทย 4.0

ทั้งนี้บริษัทฯ ขอยืนยันความเห็นเดิมว่า ไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (ราคาขั้นต่ำ) โดยอิงกับราคาชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เมื่อปี 2558 เนื่องจากเป็นราคาคลื่นที่ผู้เข้าร่วมการประมูลรายหนึ่งที่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz ครั้งที่ผ่านมา ไล่ราคาจนสูงผิดปกติแล้วในที่สุดชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz แต่ไม่สามารถที่จะชำระเงินค่าประมูลคลื่นได้

รวมทั้งการกำหนดราคาขั้นต่ำที่สูงเกินไป จะมีความเป็นไปได้สูงมากที่ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ในคราวนี้จะประสบปัญหาด้านการเงินดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ในคราวก่อน

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความเห็นว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับดูแลไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำไว้สูงมากในระดับที่จะทำให้ไม่สามารถประมูลคลื่นได้ทั้งหมด ส่งผลให้คลื่นไม่ถูกนำมาใช้งานอย่างเต็มที่ ราคาคลื่นในปัจจุบันจึงควรกำหนดให้ต่ำลงเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำคลื่นไปใช้ได้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม มีตัวอย่างของประเทศที่นำราคาชนะการประมูลครั้งก่อนมากำหนดเป็นราคาขั้นต่ำในครั้งต่อไป คือ ประเทศอินเดีย และประเทศบังคลาเทศ ทำให้การประมูลล้มเหลวไม่สามารถประมูลคลื่นความถี่ได้ ซึ่งสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นเดียวกันนี้ในประเทศไทย

อีกทั้ง บริษัทฯ มีความเห็นว่าการกำหนดขนาดคลื่นความถี่จำนวน 3 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2×15 MHz ไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติเนื่องจากความต้องการใช้คลื่นความถี่ของผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายมีไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น  ปริมาณคลื่นความถี่และย่านความถี่ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน  ความพร้อมทางการเงิน  และแผนการให้บริการ การกำหนดใบอนุญาตขนาด 2×15 MHz จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะมีคลื่นความถี่เหลือจากการประมูลเป็นจำนวนมาก

ในขณะที่การกำหนดใบอนุญาตเป็น 9 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2×5 MHz นั้น จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายสามารถเลือกประมูลคลื่นความถี่ตามความต้องการของตนได้

นอกจากนี้ ยังเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ (หากมี) พิจารณาการเข้าลงทุนแข่งขันในการให้บริการเนื่องจากไม่ถูกบังคับให้ประมูลคลื่นความถี่ในขนาด 2×15 MHz ที่อาจสูงเกินความจำเป็นในระยะแรก และเนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีไร้สายในปัจจุบันออกแบบมาใช้กับคลื่นความถี่ขนาด 2×5 MHz เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ประเทศต่างๆ จึงกำหนดขนาดคลื่นความถี่ชุดละ 2×5 MHz ในการประมูลครั้งล่าสุด เช่น มาเลเซีย เมียนมาร์ บังคลาเทศ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐเยอรมนี และ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเงื่อนไขการนำคลื่นออกประมูลโดยกำหนดให้จำนวนชุดคลื่นความถี่น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล หรือที่เรียกว่า เงื่อนไข N-1 เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากเพื่อให้มีคลื่นความถี่ใช้งานได้ทัดเทียมประเทศกำลังพัฒนาต่างๆทั่วโลก แต่เงื่อนไข N-1 จะยิ่งทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มาใช้อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0

ทั้งนี้เป็นเพราะจะออกใบอนุญาตคลื่นความถี่น้อยกว่าผู้เข้าร่วมการประมูลที่พร้อมจะนำคลื่นความถี่ไปใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากผลกระทบด้านลบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศแล้ว เงื่อนไข N-1 เป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ใดๆมาก่อนหน้านี้ จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ที่จะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในครั้งนี้

นอกจากนี้ จากการที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ได้ยื่นเรื่องขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เมื่อเวลาผ่านมากว่า 2 ปี หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่ปี 2558 นั้น เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับแรงกดดันจากภาระด้านการเงินที่สูงมาก

ดังนั้นบริษัทฯ จึงขอความอนุเคราะห์ กสทช. โปรดพิจารณาทบทวนเงื่อนไขการกำหนดงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ในอนาคตเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการเงินเกินกว่าที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะแบกรับไหวตามที่เห็นสมควรด้วย

“บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กสทช. จะพิจารณาทบทวนร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz อย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้บริโภคชาวไทย และสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลต่อไป”นายราจีฟ กล่าว

 

Back to top button