กลเกมกลโกงหุ้น “วินด์ เอนเนอร์ยี่” (ภาค 2) “ผ่องหุ้นเข้ากงสีถูกเป็นขี้!”

ถือว่าชัดเจนกันไปแล้ววานนี้ สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ WEH รวมถึงที่มาของการที่ “กลุ่มเคพีเอ็น” โดย “ณพ ณรงค์เดช” ได้หุ้น “REC เดิม (ปัจจุบัน คือ KPNET)” จาก “เก่ง” หรือ “นิค” หรือชื่อสกุลจริงคือ “นพพร ศุภพิพัฒน์” มาครอบครอง จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทพลังงานลมที่เขาว่ากันว่า “เจ้าที่” เฮี้ยนหนักมากแห่งนี้


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ถือว่าชัดเจนกันไปแล้ววานนี้ สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ WEH รวมถึงที่มาของการที่ “กลุ่มเคพีเอ็น” โดย “ณพ ณรงค์เดช” ได้หุ้น “REC เดิม (ปัจจุบัน คือ KPNET)” จาก “เก่ง” หรือ “นิค” หรือชื่อสกุลจริงคือ “นพพร ศุภพิพัฒน์” มาครอบครอง จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทพลังงานลมที่เขาว่ากันว่า “เจ้าที่” เฮี้ยนหนักมากแห่งนี้

แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องอีกสักครั้ง…

รายละเอียดมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 (แก้ไขเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมปีเดียวกัน) บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ทเนอร์ส ลิมิเต็ด หรือ SPL ได้ทำการขายหุ้น KPNET ให้กับบริษัท ฟูลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ ลิมิเต็ด หรือ Fullerton ในสัดส่วน 49%

ขณะที่ในวันเดียวกันนั้น บริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนต์ ลิมิเต็ด หรือ NGI และบริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส ลิมิเต็ด หรือ DLV ก็ได้ทำการขายหุ้น KPNET ให้กับบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ KPNEH เช่นเดียวกัน แต่ในสัดส่วน 49.94% โดยฝั่งผู้ขายของทั้ง 2 รายการข้างต้นคือ “นพพร” ส่วนผู้ซื้อในรายการที่เกิดขึ้นทั้งคู่ก็ใช่ใครอื่นไม่ คือ “ณพ” นั่นเอง

ซึ่งปฐมเหตุแห่งความวุ่นวาย (จนอาจถึงขั้นบรรลัย) ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ หากอ้างอิงตามกระแสที่เกิดขึ้น ก็คือการที่ KPNEH และ Fullerton ไม่ได้ดำเนินการชำระค่าหุ้นงวดแรกให้ครบตามสัญญาที่ทำร่วมกันไว้จำนวน 175 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ได้ชำระไปเพียง 90 ล้านเหรียญสหรัฐ นี่จึงเป็นปูมเหตุให้ SPL NGI และ DLV ตัดสินใจดำเนินกระบวนการทางกฎหมายต่ออนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้านานาชาติ หรือ ICC เพื่อให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้มีคำชี้ขาดไม่ว่าจะเป็น การยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้น หรือ การบังคับให้มีการชำระเงินค่าหุ้นเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย

เรื่องราวของการฟ้องร้องในครั้งนี้ก็ดำเนินไปตามขั้นตอนกระบวนการ แต่ท้ายสุดถือเป็นคราวเคราะห์ของเสี่ยหนุ่มหนีคดี เจ้าของผลงาน “อุ้มลดหนี้” ที่ชื่อนพพร เหตุเพราะตอนลงนามในสัญญาขายหุ้นดันรีบจนเสียสติ ลืมไปว่า ไอ้ที่เซ็นไปน่ะเป็นข้อผูกมัดว่า ซื้อ-ขายขาดแล้วขาดเลย ไม่มีอุทธรณ์! ดังนั้นอนุญาโตฯ จึงมีคำสั่ง เมื่อเดือนกันยายน 2560 ให้ผู้ซื้อคือฝั่งณพ ดำเนินการชำระค่าหุ้นให้ครบในฐานะลูกหนี้ พร้อมกับห้ามจำหน่ายจ่ายโอนหุ้น WEH ทั้งหมด แต่ไม่ได้สั่งให้ยกเลิกการซื้อขาย ซึ่งนั่นแปลว่าแม้ผู้ซื้อไม่อยากจ่ายตังค์ก็ไม่จำเป็นต้องนำหุ้นมาคืนแม้แต่หุ้นเดียว

แล้วลองนึกดูกันเอาเองว่าแบบนี้ “กลุ่มเคพีเอ็น” จะยอมจ่ายค่าหุ้นที่เหลือหรือไม่…คงไม่มีใครรู้คำตอบดีไปกว่า “ณพ ณรงค์เดช” หรือไม่แน่ว่า “นพพร” ก็อาจจะพอรู้คำตอบอยู่เป็นเลา ๆ

เป็นที่น่าสนใจว่า หลังจากนั้น KPNEH และ Fullerton ถูกสั่งให้เปิดเผยข้อมูลอยู่หลายครั้งว่ายังเป็นผู้ถือครองหุ้น WEH อยู่หรือไม่ จนเวลาล่วงเลยไปถึงเดือนตุลาคม 2560 ความจริงอันแสนโหดร้ายสำหรับนพพรก็ปรากฏ เมื่อทั้ง 2 บริษัทแจ้งว่าได้มีการโอนหุ้นเจ้าปัญหานี้ไปไว้ยังบุคคลที่สามตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2559 แล้ว! ฉะนั้นจึงแปลว่านพพรไม่สามารถใช้คำสั่งอนุญาโตฯ เพื่อสกัดกั้นการผ่องถ่ายหุ้น WEH ได้อย่างทันท่วงที

และนั่นอาจต้องยกเครดิตให้กับสุดยอดวิชาตัวเบาของ “กลุ่มเคพีเอ็น” ที่คาดเดาอนาคตได้แม่นยำปานชี้นิ้ว ถึงมีการโอนหุ้นไปอยู่ในมือของผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลของคดีได้ทันการจนน่าเหลือเชื่อ

แน่นอนว่า ไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้รับโอนเกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่ปริศนาดำมืดคงถูกเฉลยในวันนี้ เพราะจากการตรวจสอบเชิงลึกพบว่า ผู้ถือหุ้นที่หายไปจากโครงสร้างของ WEH คือ KPNET (ผู้ถือหุ้นใหญ่) จริง! โดยปรากฏพบชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ ตามรายชื่อดังต่อไปนี้

1) บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด (ฮ่องกง) จำนวน 41.2 ล้านหุ้น-ปรากฏชื่อ เกษม ณรงค์เดช ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว

2) นางจรรยาลักษณ์ สวัสดิ์อารี จำนวน 3.9 ล้านหุ้น

3) Citibank N.A. (Custodian) จำนวน 1.5 ล้านหุ้น

4) Column Investment (หมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น) จำนวน 1.3 ล้านหุ้น

5) Keleston Holding (หมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น) จำนวน 1.3 ล้านหุ้น

6) ALKBS (สหรัฐอเมริกา) จำนวน 1.3 ล้านหุ้น

ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน ณ ขณะนี้ว่า ผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่ว่านี้ได้รับการโอนหุ้นจาก KPNEH และ Fullerton ทั้งหมดหรือไม่ หรือยังมีการนำหุ้นไปซุกซ่อนอยู่แห่งหนใดบ้าง แต่เป็นที่น่าสนใจอีกเช่นกัน เพราะว่ากันว่าผู้ถือหุ้นใหม่เหล่านี้มีต้นทุนหุ้น WEH มูลค่ารวมกันเพียง 2 พันกว่าล้านบาท ทั้งที่ด้วยมูลค่าของหุ้นจำนวนดังกล่าวรวมกันเคยอยู่สูงถึงระดับ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ก่อนหน้าที่ “กลุ่มเคพีเอ็น” จะมีการเปิดเผยว่าได้โอนหุ้นไปยังบุคคลอื่นแล้ว…

แบบนี้มันน่าคิดใช่หรือไม่ว่าการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นด้วยมูลค่าที่ลดลงถึง 10 เท่าจะเกิดขึ้นได้ในกรณีใด หรืออย่างไรบ้าง

ปล.โปรดติดตามภาคต่อไป เพราะอาจมีความชัดเจนมากกว่านี้อีกก็เป็นได้…

อิ อิ อิ

 

Back to top button