NOK หนีตายไม่วายเพิ่มทุน

หลังจาก บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ตกอยู่ในอาการพะงาบ ๆ จากผลประกอบการขาดทุนมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน ดังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในการยื้อชีวิตให้อยู่รอดไปวัน ๆ…. เหมือนรอวันตาย!!!!


สำนักข่าวรัชดา

หลังจาก บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ตกอยู่ในอาการพะงาบ ๆ จากผลประกอบการขาดทุนมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน ดังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในการยื้อชีวิตให้อยู่รอดไปวัน ๆ…. เหมือนรอวันตาย!!!!

กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในไตรมาส 3/2561 ติดลบ 647.57 ล้านบาท ลดลงต่ำกว่า 50% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว โดยลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 2/2561 ที่มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ 406.10 ล้านบาท ทำให้บริษัทถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย C ต่อเนื่อง

และทว่าหากถูกขึ้นเครื่องหมาย C ติดต่อกัน 3 ไตรมาส จะต้องแก้ไขส่วนของผู้ถือหุ้นให้ได้!!!!….และ NOK ก็อาจไม่มีทางเลือกอีกต่อไป….

สิ่งที่ NOK ทำได้มี 2 วิธี ได้แก่ 1. เลือกวิธีเพิ่มทุน 2. ต้องขายหุ้นหรือขายกิจการ

ในที่สุด NOK เลือกวิธีของการ “เพิ่มทุน” เพื่อหนีตาย…เพื่อช่วยประคองชีวิตให้อยู่รอดต่อไป!!! ตามที่บริษัทเลือกปฏิบัติมาก่อนหน้า!!!

ล่าสุด NOK แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ได้อนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ อีกจำนวน 908.80 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 2,499.25 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2,499.25 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เป็นจำนวน 3,408.05 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3,408.05 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 908.80 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) ในราคาหุ้นละ 2.75 บาท โดยกำหนดอัตราส่วนในการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ 2.5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน กำหนดวันจองซื้อและชำระค่าหุ้นในวันที่ 31 ม.ค. 2562 ถึงวันที่ 6 ก.พ. 2562 และกำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการจองซื้อและได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Record Date) ในวันที่ 4 มกราคม 2562 ส่วนวันที่ไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (XR) วันที่ 3 ม.ค. 2562

นอกจากนี้ บอร์ด NOK ลงมติอนุมัติเพิ่มวงเงินกู้ยืมจากเดิมจำนวน 500 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท จาก “นายหทัยรัตน์ จุฬางกูร” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ NOK ในจำนวน 277.89 ล้านหุ้น (ถือหุ้นสัดส่วน 12.23%)

สำหรับวงเงินกู้ยืม NOK สามารถทยอยเบิกถอนตามความจำเป็นโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีอายุคราวละไม่เกิน 180 วัน อัตราดอกเบี้ย 6.00% ต่อปี ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 12 เดือน ชำระคืนเมื่อครบกำหนดของตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับ บริษัทฯ ไม่ได้วางหลักประกันให้กับผู้ให้กู้ โดยวัตถุประสงค์การทำรายการเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานทั่วไปของบริษัทเป็นหลัก

การเพิ่มทุนของ NOK ถือเป็นกลยุทธ์หนีตายแบบสูตรสำเร็จไปเสียแล้ว…เพราะรอบนี้ถือเป็นรอบที่ 3 หลังจากเพิ่มทุนก่อนหน้านี้ 2 รอบในปี 2560 ในยามที่บริษัทฯ มีผลประกอบการย่ำแย่อย่างหนัก

หลังจากในช่วงปีที่ผ่านมา “NOK” ประกาศเพิ่มทุน 2 รอบด้วยกัน โดยครั้งแรกเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 625 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.40 บาท ซึ่งขายได้จำนวน 511 ล้านหุ้น และมีจำนวนหุ้นคงเหลือ 114 ล้านหุ้น เนื่องจาก บมจ.การบินไทย (THAI) ผู้ถือหุ้นใหญ่ 39.2% ไม่ใช้สิทธิเพิ่มทุนในรอบดังกล่าว ทำให้ THAI มีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงทันที

รอบที่สอง เพิ่มทุนจำนวน 1,207 ล้านหุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (RO) ในอัตรา 1 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาเสนอขายหุ้นละ 1.50 บาท และจัดสรรรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 1 (NOK-W1) ซึ่งจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้มากกว่าสิทธิ ในรอบนี้ THAI สนใจเพิ่มทุนด้วย ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนจากเดิม 1,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวคือ 2,499 ล้านบาท

ปัจจุบัน NOK-W1 สิ้นสุดอายุใช้สิทธิครั้งสุดท้ายวันที่ 29 พ.ค. 2563 มีราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ (Exercise price) อยู่ที่ 3.185 บาท ทั้งนี้ หากผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิแปลงสภาพวอร์แรนต์เป็นหุ้นสามัญ ต้นทุนการถือครองหุ้นจะถัวเฉลี่ยลดลงกว่าเดิมอีกด้วย

ทั้งนี้จากการเพิ่มทุนก่อนหน้าประกอบกับราคาหุ้น NOK ที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง เข้าตากลุ่มนักลงทุนอย่างกลุ่มตระกูล “จุฬางกูร” ทยอยเข้ามาเก็บหุ้นตั้งแต่ปี 2558 ทำให้ ณ ปัจจุบัน ตระกูล “จุฬางกูร” ถือหุ้น NOK เพิ่มขึ้นราว 54.95% โดยมี นายณัฐพล จุฬางกูร ถือหุ้นอยู่ที่ 23.77%, นายทวีฉัตร จุฬางกูร ถือหุ้นอยู่ที่ 18.49% และ นายหทัยรัตน์ จุฬางกูร ถือหุ้นอยู่ที่ 12.23% ขณะที่ “บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI” ถือหุ้นอยู่ราว 21.8%

ดังนั้น ผลลัพธ์ของการเพิ่มทุนรอบที่สามจะทำให้ตระกูล “จุฬางกูร” เข้ารวบ NOK ได้อย่างเต็มตัวหรือไม่ ??? หลังจากเข้าถือหุ้นกว่า 50% แล้ว

ถ้าหากกรณี THAI ในนามผู้ถือหุ้นเดิมไม่ใช้สิทธิ์ในการเพิ่มทุนดังครั้งแรกเมื่อช่วงปี 2560! จะทำให้ THAI มีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงทันที แล้วจะทำให้ตระกูลจุฬางกูร เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ดูสิว่า THAI จะยอมใช้สิทธิ์เพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใน NOK ไปกับตระกูลจุฬางกูร เพื่อจะช่วยให้ NOK รอดจากวิบากกรรม หรือว่าจะไม่ยอมใช้สิทธิเพิ่มทุนเหมือนรอบแรก…เปรียบเสมือนยอมปล่อยลูกแท้ ๆ ของตัวเองที่คลอดออกมาให้เป็นของคนอื่น!!!

อีกทั้งหลังจาก NOK เพิ่มทุนรอบสามเสร็จสิ้น….จะช่วยให้หนีตายได้จริงหรือไม่ ????

อิ อิ อิ

Back to top button