ย้อนรอยหุ้นติด Cash Balance ไตรมาสแรก

หุ้นที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย คือ หุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศกำหนดให้ดำเนินมาตรการด้านการซื้อขาย สาเหตุจากการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาดฯ


เส้นทางนักลงทุน

หลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย คือ รายชื่อหลักทรัพย์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศกำหนดให้ดำเนินมาตรการด้านการซื้อขาย สาเหตุจากการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาดฯ เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันอาจจะเกิดต่อนักลงทุน และระบบโดยรวมของตลาดฯ ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประกาศข่าวรายวันภายใต้หัวข้อข่าว Trading Alert List และหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย (Cash Balance) 

ทางด้านหุ้นสามัญ อย่างหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET ต้องมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในรอบสัปดาห์มากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านบาทต่อวัน (รวม 500 ล้านบาทต่อสัปดาห์ในสัปดาห์ที่มี 5 วัน) หรือ (400 ล้านบาทต่อสัปดาห์ในสัปดาห์ที่มี 4 วัน) ส่วนหลักทรัพย์ในกลุ่ม mai ใช้เกณฑ์มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยที่ 80 ล้านบาทต่อวัน

ขณะเดียวกันมีค่า P/E มากกว่าหรือเท่ากับ 40 เท่า หรือ ขาดทุน (ตลท.จะใช้ EPS ย้อนหลัง 4 ไตรมาสในการคำนวณ) รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ จะใช้เกณฑ์ค่า Turn Over Ratio มากกว่าหรือเท่ากับ 40%

ส่วนวอร์แรนต์ที่อยู่ใน SET ต้องมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในรอบสัปดาห์มากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่วอร์แรนต์ใน mai ยังใช้เงื่อนไขเดียวกับวอร์แรนต์ใน SET

ประกอบกับค่า % Premium ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 20% ของหุ้นแม่ รวมถึงต้องมี Turn Over Ratio มากกว่าหรือเท่ากับ 100% และเพิ่มเติมเกณฑ์ให้ Warrant ของหุ้นที่ติด Cash Balance ต้องติดตามหุ้นหลักด้วย ตามระยะเวลาที่หุ้นหลักติด ถึงแม้ว่า Warrant จะเข้ามาเทรดใหม่ก็ตาม

โดยข้อมูลการซื้อขายจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่  1 ม.ค. 2562-29 มี.ค. 2562 (ไตรมาส 1/2562) พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) 9 บริษัทเข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับที่ 1 (Cash Balance) หรือต้องวางเงินสดเต็มจำนวนก่อนซื้อขายหลักทรัพย์

แยกเป็นกลุ่ม SET จำนวน 3 บริษัท และกลุ่ม mai จำนวน 6 บริษัท แต่ทั้งสองกลุ่มเข้าติดระดับที่ 1 (Cash Balance) น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวรวม 19 บริษัท

ขณะที่หากนับรวม Warrant จะพบว่ามีหลักทรัพย์ที่ติดระดับที่ 1 (Cash Balance) ทั้งสิ้น 4 รายการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ติดไป 2 รายการ

ในส่วนของช่วงไตรมาสแรกปี 2562 ยังไม่มีหุ้นที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับที่ 2 (ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย) และระดับที่ 3 (ห้าม Net settlement) เช่นเดียวกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับหุ้นที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับที่ 1 (Cash Balance) อาทิ DCORP, DDD, ECF, MALEE, OCEAN, PHOL, SISB, SMM และ UREKA เป็นต้น

เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดหลักทรัพย์วนเวียนเข้าติดระดับ 1 : Cash Balance มากสุด!!! “แชมป์ประจำไตรมาส 1/2562” กลายเป็น DDD, MALEE และ SISB ติดไป 2 ครั้ง ตามมาด้วย DCORP, ECF, OCEAN, PHOL, SMM และ UREKA ติดไป 1 ครั้ง

เหมือนกับวอร์แรนต์เข้าติดระดับ 1 : Cash Balance  มีดังนี้ ECF-W2, ECF-W3, OCEAN-W3 และ ORI-W1 ต่างติดไป 1 ครั้ง

ถึงอย่างไรหลักทรัพย์และวอร์แรนต์ดังกล่าว ส่วนใหญ่ที่ติดในช่วงไตรมาส 1/2562 ล้วนหลุดจากการติด ระดับ 1 : Cash Balance ไปแล้ว เหลือตัวสุดท้าย คือ OCEAN และ OCEAN-W3 โดยวันที่สิ้นสุด 19 เม.ย. 2562 นี้ ก็เป็นอิสรภาพเช่นกัน

แต่ทว่าหากหุ้นดังกล่าวที่หลุดไปแล้วก็ยังจะมีโอกาสเข้ามาติด Cash Balance ต่ออีกหากเข้าหลักเกณฑ์ หรือเข้าเงื่อนไขหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย

เช่นหุ้นที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย (Cash Balance)  ยังคงทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ล่าสุดอย่าง PIMO ได้เริ่มติดเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 ซึ่งจะหลุดจาก Cash Balance โดยวันที่สิ้นสุด 24 พ.ค. 2562

นั่นก็พิสูจน์ได้ว่ามาตรการสกัดหุ้นร้อนยังมีมนต์ขลัง พร้อมช่วยลดการเก็งกำไรได้ค่อนข้างมา!!! โดยที่ผ่านมามี บจ.ติดเพียงระดับที่ 1 เท่านั้น ยังไม่เคยมีหุ้นตัวไหนที่ต้องใช้ระดับที่ 2 และ 3 เลย

Back to top button