แผน”พิโก-นาโนฯ”คืบ! KTC รับรายได้เพิ่ม75% ฟาก KTB กินส่วนแบ่ง 2 ทางหนุนกำไรเฉียด3หมื่นลบ.

KTB-KTC วินวินคู่จับมือโกย! KTB กำไร 2 ขาจากบริษัทลูกเดิมเคทีซี-ลูกใหม่ เคทีซีนาโน-พิโก คาดกำไรปี 62 ของ KTB เฉลี่ย 2.9 หมื่นลบ.โต 3% ฟาก KTC กำไร 6 พันลบ.


สืบเนื่องจากกรณีที่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ 2 บริษัท คือ บริษัท เคทีซี นาโน จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ(Nano Finance) โดยเป็นการให้สินเชื่อกับบุคคลธรรมดาเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพวงเงินไม่เกินราละ 100,000 บาท โดยจดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 24 พ.ค.2562

อีกทั้ง จัดตั้งบริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพฯ) จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (Pico Plus) โดยเป็นการให้สินเชื่อแก่บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ วงเงินไม่เกินรายละ 100,000 บาท วันที่จดทะเบียน 24 พ.ค.62 ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ชำระแล้วเต็มจำนวน

ล่าสุด นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB และ KTC ร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทใหม่ 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เคทีซี นาโน และ บริษัท เคทีซี พิโก นั้น คาดจะส่งผลดีต่อทั้ง 2 บริษัทในระยะยาว ซึ่งถือเป็นช่องทางใหม่ในการเติบโตของกำไรในอนาคต

โดยในส่วนของ KTC ได้รับผลดีหลายอย่าง ได้แก่ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทลูกที่เปิดใหม่ ในฐานะถือหุ้นใหญ่ 75% และยังรับการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ผ่านสาขาแบงก์กรุงไทยทั่วประเทศ ซึ่งจะได้เปรียบคู่แข่งเรื่องของต้นทุนที่ถูกกว่า และสามารถขยายได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งอาจได้รับการสนับสนุนด้านการเงินต้นทุนต่ำจาก KTB ด้วย

ขณะที่แบงก์กรุงไทยก็จะได้ประโยชน์จาก 2 ช่องทาง ทางแรกจะได้รับจาก KTC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ (ส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่นาโนและพิโกไฟแนนซ์) ช่องทางที่สอง ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการเข้าไปถือหุ้น 25% ในบริษัทลูกที่เปิดใหม่ร่วมกับเคทีซี

 

ด้าน บล.โกลเบล็ก ระบุหลัง KTB และ KTC ร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทใหม่ 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เคทีซี นาโน จำกัด ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท โดย KTB ถือหุ้น 24.95% และ KTC ถือหุ้น 75.05% ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) ให้สินเชื่อกับบุคคลธรรมดาเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกินรายละ 100,000 บาท และบริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพ) จำกัด ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดย KTB ถือหุ้น 24.95% และ KTC ถือหุ้น 75.05% ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับ (Pico Plus) โดยเป็นการให้สินเชื่อแก่บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ วงเงินไม่เกินรายละ 100,000 บาท จะส่งผลดีต่อการปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลัง คาดจะเป็นอัพไซด์จากประมาณการกำไรปี 2562

ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยของหลายโบรกเกอร์คาดกำไรปี 2562 ของ KTB เฉลี่ยอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน และคาดกำไรปี 2562 ของ KTC เฉลี่ยที่ 6 พันล้านบาท KTB (ราคาเหมาะสม เฉลี่ย 20.96 บาท)

 

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ แนะนำ “ซื้อ” KTC ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 45 บาท จาก 39 บาท คำนวณจาก Prospective P/BV ที่ 5.6 เท่า ชอบ KTC เป็นหนึ่งในหุ้น Top Pick ในกลุ่มการเงิน นอกเหนือจาก MTC จากแนวโน้มที่ดูสดใสทั้งพอร์ตเดิมและธุรกิจใหม่ และระดับสำรองที่สูงมาก

อนึ่งก่อนหน้านี้ นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 จะเริ่มสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ผ่านสินเชื่อประเภทนาโนและพิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะส่งให้ธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายหลักในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยบริษัทตั้งเป้าการเติบโตของกำไรเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 10% และมั่นใจว่าในปี 2569 กำไรจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจัยหนุนที่จะมาเสริมและช่วยผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัทตั้งแต่ปีนี้มาจาก 4 ธุรกิจใหม่ ที่จะเริ่มเปิดการดำเนินงาน โดยเริ่มจาก 3 ธุรกิจใหม่แรกที่เปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 2/2562 ได้แก่ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อทะเบียนรถ (Car for cash)

ทั้งนี้ ปัจจุบันพอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซีเท่ากับ 967,059 บัญชี ขยายตัว 12.8% ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล 26,483 ล้านบาท สัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเคทีซี เทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 5.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สามารถเทียบเคียงกับในอดีตได้ เพราะมีการรวมลูกหนี้สินเชื่อทะเบียนรถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขอุตสาหกรรมสินเชื่อบุคคล และ NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.78% ลดลงจาก 0.82% ขณะที่อุตสาหกรรมอยู่ที่ 3.49% โดยสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL หรือ Cover ratio ยังคงมูลค่าสูง 605% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 591% สำหรับปริมาณการซื้อขายผ่านร้านค้ามีมูลค่า 22,282 ล้านบาท เติบโต 6% และจำนวนร้านค้าสมาชิกเท่ากับ 37,787 แห่ง เพิ่มขึ้น 13% จากโครงการขยายร้านค้าออนไลน์และโครงการขยายร้านค้าอาลีเพย์

 

ด้านบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ขณะนี้อยู่ระหว่างเดินสายโรดโชว์แผนธุรกิจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และจะกลับมาให้ข้อมูลกับนักลงทุนทั่วไปรวมถึงนักวิเคราะห์ในงาน “บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day)” ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 4 มิ.ย. 2562 นี้ โดยประเด็นหลักในการเดินสายพบนักลงทุนทั้งต่างประเทศและในประเทศครั้งนี้ นอกจากมีการชี้แจงถึงแผนธุรกิจด้านต่าง ๆ ของปีนี้แล้ว ก็จะมีการอัปเดตสองธุกิจใหม่ คือ ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ ที่ล่าสุด KTC ได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ KTC สามารถจัดตั้งทั้งสองธุรกิจดังกล่าวได้อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน

ทั้งนี้ ทาง KTC ระบุอีกว่า ภายหลังจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จ บริษัททั้งสองแห่งข้างต้น จะยื่นขอรับใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจต่อไป ทั้งนี้ รายการดังกล่าวจะเป็นการถือหุ้นเกินกว่า 10% แต่เป็นการทำรายการที่ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ระหว่าง KTC กับ KTB ในฐานะของผู้ถือหุ้นใหญ่ เนื่องจากเป็นความร่วมมือกันระหว่าง KTC และ KTB โดยการทำรายการเพื่อประโยชน์สูงสุดของ KTC และธนาคาร อีกทั้งการทำรายการดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยง และขนาดของรายการไม่เข้าข่ายรายงานการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน

Back to top button