BAY เผยเงินบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาค เสี่ยงหลุด 30 บ./ดอลลาร์ หากเฟดปรับลดดบ.

BAY เผยเงินบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาค เสี่ยงหลุด 30 บ./ดอลลาร์ หากเฟดปรับลดดบ.


นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงปลายเดือนนี้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯลงตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากเฟดส่งสัญญาณว่ามีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯลงได้ หลังภาวะเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ส่งผลให้จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียนเป็นแหล่งพักเงินที่มีความปลอดภัย โดยเฉพาะในประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลลิปปินส์ ซึ่งจะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้นและตลาดพันบัตร ทำให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทในระยะต่อไปยังมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะยังมีความไม่แน่นอนของสงครามการค้า แม้ว่าจะมีการเจรจาตกลงกันในการหยุดกีดกันทางการค้าชั่วคราวระหว่างสหรัฐฯและจีน ในการประชุม G20 ที่ผ่านมา อีกทั้งการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯที่คาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในช่วงการประชุมเดือนก.ค. เดือนก.ย. และต้นปี 63 ซึ่งส่งผลต่อกระแสเงินทุนที่ยังไหลเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อได้

อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่วนหนึ่งที่มาจากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาต่อเนื่องในช่วงนี้ เป็นผลมาจากความมั่นใจของนักลงทุนในการนำเงินมาพักในประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนมองว่ามีเสถียรภาพ จากการที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงและมีความแข็งแกร่ง ประกอบกับมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดมาเกินดุลเฉลี่ย 6-7% ต่อปี มาเป็นระยะเวลาที่นาน เพราะมีการลงทุนโครงการต่างๆน้อยมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยปัจจุบันค่าเงินบาทถือว่าแข็งค่าขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค โดยแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 6.23% ตั้งแต่ต้นปี มาอยู่ใกล้ประมาณการค่าเงินบาทของธนาคารใหม่ที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี แต่ยังไม่เคยแข็งค่าที่สุดที่ 28.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดือนเม.ย.56 ซึ่งทำให้ธนาคารมีการปรับประมาณการค่าเงินบาทในสิ้นปีนี้ที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นมาเป็น 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และให้กรอบไว้ที่ 31-29.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ มองว่าการที่จะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาและกลับสู่จุดสมดุลได้นั้น ควรที่จะใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วยในช่วงนี้ จากการลงทุนโครงการต่างๆของภาครัฐให้เพิ่มขึ้น ทำให้มีการเบิกจ่ายงาประมาณออกมา และมีการนำเข้าอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดลดการเกินดุลมากเกินไป หรืออาจจะมีการขาดดุลได้ เพื่อช่วยให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าการใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแลค่าเงินบาท เพราะปัจจุบันการที่ธนาคารแก่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่สามารถประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ทันที เพราะอัตราเอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงที่สามารถตัดสินใจลดได้ในทันที และคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ไว้ที่ 1.75% ต่อปีไว้

นอกจากนี้การที่จะเข้าแทรกแซงค่าเงินจากการซี้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯในบางจังหวะ ยังสามารถทำได้อยู่ แต่ต้องมีความระมัดระวัง เพราะปัจจุบันสหรัฐญเริ่มจับตาประเทศที่มีการสะสมเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นทุนสำรองที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้การแทรงแซงค่าเงินในรูปแบบดังกล่าวต้องทำอย่างระมัดระวัง ทำให้ในภาวะปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะนำเครื่องมือที่เป็นนโยบายการเงินเข้ามาใช้ในการดูแลค่าเงินบาท และวิธีที่ดีสุดที่สุดตอนนี้ที่ธนาคารมองว่าควรนำมาใช้ คือ เครื่องมือที่เป็นนโยบายการคลัง

อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการสามารถสั่งซื้อเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าลูกค้าจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกบ้าง แต่เป็นโอกาสที่ดีที่จะนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ ควบคู่ไปกับการติดตามสถานการณ์ค่าเงิน ที่ยังมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเข้ามามีผลอย่างมาก

Back to top button