BEM ร่วงยาว 5 วันราคารูด 8% นลท.วิตกวืดต่ออายุสัมปทาน 30 ปี

BEM ร่วงยาว 5 วันราคารูด 8% นลท.วิตกวืดต่ออายุสัมปทาน 30 ปี โดย ณ เวลา 10.07 น. อยู่ที่ระดับ 10.40 บาท ลบ 0.20 บาท หรือ 1.89% สูงสุดที่ระดับ 10.60 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 10.20 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 576.72 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ณ เวลา 10.07 น. อยู่ที่ระดับ 10.40 บาท ลบ 0.20 บาท หรือ 1.89% สูงสุดที่ระดับ 10.60 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 10.20 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 576.72 ล้านบาท

โดยราคาหุ้น BEM ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 11.30 บาท เมื่อวันที่ 8 ก.ค.62 คิดเป็นการปรับตัวลดลง 7.96%

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์รายวันข่าวหุ้นธุรกิจ รายงานเช้าวันนี้ (15 ก.ค.62) ว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา ราคาหุ้น BEM ได้ปรับตัวลงแรง ซึ่งคาดว่านักลงทุนเทขายอย่างหนัก เหตุเกิดจากความไม่แน่นอนในการขยายสัมปทาน 30 ปี เพื่อแลกกับการยุติทุกข้อพิพาท หลังจากที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตีกลับเรื่องดังกล่าวไปยังการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อรอให้รัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา ก็เหมือนกลับไปเริ่มต้นใหม่

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงกรณีการขยายสัมปทานทางด่วนให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาททั้งหมดระหว่างกัน หลังจากมีการตั้งกระทู้ถามเรื่องดังกล่าวในรัฐสภา และยังเป็นที่สงสัยของสังคมว่า ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ตีกลับเรื่องดังกล่าวไปยัง กทพ. เพื่อรอให้รัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา

ทั้งนี้อยากให้เข้าใจว่าองค์กร กทพ. จะมีปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือ 1.มีการเติบโตช้า แม้จะก่อตั้งองค์กรมาประมาณ 43 ปี แต่ก็มีทางด่วนรวมแค่ 200 กิโลเมตร (กม.) เท่านั้น และ 2.มีข้อพิพาทจำนวนมาก จากการที่รัฐเป็นผู้กระทำ ดังนั้นหลังจากที่ กทพ.แพ้คดีทางแข่งขัน

โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ที่ให้ กทพ. จ่ายเงินชดเชยแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (บริษัทลูกของ BEM) พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินประมาณ 4,200 ล้านบาท จากที่มีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต เป็นทางแข่งขันนั้น รัฐบาลจึงได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ให้ กทพ.เจรจากับ BEM เพื่อมิให้ชดใช้เป็นตัวเงิน

ดังนั้นคณะกรรมการ กทพ.จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเจรจา และได้ข้อยุติว่าจะต้องใช้การขยายสัมปทานเพื่อแลกกับการยุติทุกข้อพิพาทระหว่างกัน โดย กทพ.ต้องได้ส่วนแบ่งรายได้ในอัตรา 60% เช่นเดิม ซึ่งหลังการเจรจาแล้วเหลือมูลหนี้ข้อพิพาทที่กำลังเป็นคดีความในชั้นศาลและอนุญาโตตุลาการอยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท จากที่ประเมินไว้ที่ 137,515.6 ล้านบาท และมีการตีเป็นมูลค่าการขยายสัมปทาน 15 ปี

ขณะเดียวกันเนื่องจากทางด่วนปัจจุบันกำลังเกิดวิกฤติจราจร เพราะปริมาณรถเพิ่มขึ้น แต่ทางด่วนไม่เพิ่ม จึงมีการเจรจาให้ BEM ก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นทางด่วน 2 ชั้น (double deck) จากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กม. เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท และก่อสร้างทางขึ้น-ลงเชื่อมเข้าศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และสถานีกลางบางซื่อ ปรับลดค่าผ่านทาง เช่น ด่านอาจณรงค์ 1 (ทางลงด่วนขั้นที่ 1) เพื่อระบายการจราจร

โดยมีเงื่อนไขว่า หากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่ได้รับการอนุมัติภายใน 2 ปี จะต้องปรับลดการขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ลงเหลือแค่ 15 ปี

นายไพรินทร์  กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. คัดค้านเพราะเห็นว่า กทพ. เพิ่งแพ้เพียง 1 คดี คือ เรื่องการสร้างทางแข่งขัน แต่กลับพิจารณาขยายสัมปทานโดยรวมทุกคดีที่ยังไม่สิ้นสุดด้วย ตนจึงอยากชี้แจงว่า ในการพิจารณาคดีนั้น ศาลจะยึดที่สัญญาเป็นหลัก โดยกรณี กทพ. และ BEM เป็นสัญญาแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) และรัฐกระทำผิดสัญญาทั้งเรื่องการสร้างทางแข่งขันและการไม่ให้ขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญา BEM จึงต้องฟ้องร้องตามสิทธิ และจากตัวอย่างคดีความบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่ถูกประชาชนฟ้องร้องเรื่องมลภาวะทางเสียงสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว จะเห็นว่าเมื่อศาลตัดสินให้ประชาชนชนะในคดีแรก คดีต่อไปนับร้อยคดีก็จะเป็นเช่นเดียวกัน

“เมื่อศาลตัดสิน 1 คดีแล้ว คดีเหมือนกันที่เหลือ ศาลก็จะตัดสินเหมือนกันหมด ดูตัวอย่างจาก AOT ได้ และปกติแล้วศาลจะไม่กลับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และเวลาพิจารณาศาลจะยึดที่สัญญาเป็นหลัก สัญญานี้เป็น PPP ก็ต้องยึดว่ารัฐไปสัญญาอะไรกับเอกชนบ้าง ถ้าเราไม่ยึดสัญญา ประเทศจะมีบรรทัดฐานได้อย่างไร ต่อไปอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกก็จะมี PPP อีกเยอะมาก แล้วจะมีคนเชื่อถือประเทศเราหรือไม่ อย่างกรณี BEM การเจรจาคือทางออกที่ดีที่สุดที่รัฐบาลชุดนี้จะทำได้ เพราะถ้าไม่เจรจาก็ปล่อยให้คดีทุกคดียาวไปจนสิ้นสุด ก็จ่ายเงินกันไปแสนกว่าล้านบาท” นายไพรินทร์  กล่าว

นายไพรินทร์  กล่าวต่อว่า หลายคนอาจมองว่าการให้สัญญาสัมปทานกับเอกชนเป็นเรื่องไม่ดี แต่ในทางกลับกันแล้ว การที่เอกชนมารับสัมปทานเป็นการแบ่งเบาภาระภาครัฐมาก ทั้งลดการใช้งบประมาณ ลดการก่อหนี้สาธารณะและง่ายต่อการควบคุมมาตรฐานการทำงาน โดยบังคับผ่านสัญญา อย่างกรณีกรมทางหลวงที่เริ่มจะใช้การให้สัมปทานเอกชนในงานบริหารทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

อย่างไรก็ตามขณะนี้นายอาคมได้ส่งเรื่องกลับไปยัง กทพ.แล้ว เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาพิจารณา ก็ต้องแล้วแต่ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีความเห็นอย่างไร หากจะยกเลิกข้อสรุปการขยายสัมปทาน ก็ต้องยอมชำระหนี้ให้เอกชนตามคำสั่งศาลไป

Back to top button